การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือโรงเรียนในเขตเมืองและเขตชนบท ยังคงมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาที่คิดตามรายหัวนักเรียน ซึ่งส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรที่ทั่วถึง รวมถึงคุณภาพและมาตรฐานการเรียนการสอนที่แตกต่างกันของแต่ละสถานศึกษา เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
ปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารพยายามปรับตัวและยืดหยุ่น เพื่อรับมือกับสภาพปัญหาให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวคิด ‘Zero Dropout’ ในการสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนต้องได้เรียน ป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ เกิดกลไกที่สร้างความยั่งยืน สร้างระบบนิเวศที่ดึงครัวเรือน ชุมชน และโรงเรียนมาทำงานร่วมกัน
โรงเรียนบ้านหนองขาม โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่บ้านหนองขาม ตำบลป่าหวาย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาล ในพื้นที่ที่มีประชากรเพียง 664 คน จาก 210 ครัวเรือน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 114 คน
ครูวันเพ็ญ สายบัว รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองขาม เล่าว่า นอกจากการดูแลนักเรียนในพื้นที่แล้ว ทางโรงเรียนยังดูแลเด็กเมียนมาจากหลากชาติพันธุ์ที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาในประเทศไทย โดยพยายามอำนวยความสะดวกในเรื่องการเรียนการสอนให้กับนักเรียนทุกคนในชุมชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งเรื่องการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนบ้านหนองขามมีครูครบทุกระดับชั้น หากครูคนใดติดภารกิจนอกโรงเรียนหรือลา ก็ยังสามารถจัดการเรียนการสอนให้ต่อเนื่องได้
“เรารู้ว่าเด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน จึงยืดหยุ่นกับพวกเขาในหลาย ๆ เรื่อง เด็กที่นี่ไม่จำเป็นต้องแต่งชุดนักเรียนหรือชุดลูกเสือมาเรียน แต่เราก็พร้อมที่จะช่วยเหลือจัดหาชุดนักเรียนหรือชุดลูกเสือให้พวกเขาในกรณีที่เขาต้องการ”
ครูวันเพ็ญ เล่าอีกว่า โรงเรียนพยายามใช้สรรพกำลังที่มี พัฒนาทุกด้านให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทั้งพัฒนาหลักสูตร บูรณาการเนื้อหารายวิชา มีการจัดการเรียนการสอนทางไกลจากโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับชุมชน เพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนในเรื่องการขาดแคลนสิ่งต่าง ๆ หรือกรณีงบประมาณไม่เพียงพอ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา องค์กรท้องถิ่น เครือข่ายสถานศึกษา ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับการพัฒนาต่อยอด ทั้งในด้านการบริหารจัดการ งบประมาณ ตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
“โรงเรียนของเรามีครูเป็นผู้หญิงทั้งหมด และเนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถจ้างนักการภารโรงได้ ครูทุกคนจึงจำเป็นต้องแบ่งงานกันทำ โดยดูแลความสะอาดเรียบร้อยทุกอย่างตั้งแต่หน้าโรงเรียนไปจนถึงห้องเรียน แต่หากเป็นงานหนักเกินกำลัง เช่น ต้องปีนขึ้นไปตัดกิ่งไม้ ก็ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานท้องถิ่น โรงเรียนเราไม่มีรถประจำโรงเรียน ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปทัศนศึกษานอกโรงเรียนก็ขอความอนุเคราะห์จากมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้า บ้านธารหทัย ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียน
“ทุกหน่วยงานเต็มใจที่จะเข้ามาดูแลเรา เพื่อช่วยกันพัฒนาโรงเรียนให้ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ ในชุมชน เราทราบข้อจำกัดที่เรามีอยู่ แต่เราก็จะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของเด็ก” รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองขาม เล่าถึงแนวทางการดูแลเด็ก ๆ ในโรงเรียนด้วยความยืดหยุ่น
เช่นเดียวกับโรงเรียนสมนึกวิทิศวรการ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านวังน้ำเขียว ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ชุมชนนี้มีประชากร 241ครัวเรือน
ครูอัญชลี พุ่มสีนิล เล่าว่า โรงเรียนในชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่เคยมีนักเรียนทั้งโรงเรียนเกิน 100 คน แม้ปัจจุบันจะมีนักเรียนเพียง 64 คน แต่ด้วยสถานะที่อยู่คู่ชุมชนแห่งนี้มานานถึง 52 ปี คือก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2514 ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอน และบริหารจัดการจนกลายเป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก ๆ
ครูอัญชลี เล่าว่า ครูและบุคลากรในโรงเรียนทุกคนต่างมีความตั้งใจที่จะพัฒนาโรงเรียน บริหารจัดการอย่างเต็มกำลังความสามารถ เช่นเดียวกันกับโรงเรียนขนาดเล็กอื่นๆ ที่พยายามสร้างพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นในการดูแลเด็กในพื้นที่รับผิดชอบ ผสมผสานการเรียนการสอนที่เน้นทักษะชีวิต ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชน และสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อรองรับเด็กในพื้นที่ให้มากที่สุด
“ตัวครูเองเคยเป็นเด็กที่เรียนในโรงเรียนนี้จนจบการศึกษา จากนั้นออกไปเรียนต่อข้างนอก แล้วก็กลับมาเป็นครู สอนอยู่ที่นี่มาแล้ว 12 ปี ทำให้ทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เรารู้ว่าเด็กคนไหนที่พ่อแม่ต้องไปทำงานแต่เช้า ไม่มีเวลามาส่งที่โรงเรียน ครูแต่ละคนก็จะแบ่งหน้าที่กันไปรับเด็กคนนั้นมาเรียน จัดหาอาหารการกินให้ ทั้งตอนเช้าและตอนกลางวัน” ครูอัญชลีเล่า
ในชั่วโมงเรียนที่ต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โรงเรียนสมนึกวิทิศวรการจะจัดการเรียนการสอนโดยให้เด็กโตจับคู่กับเด็กเล็ก แล้วผลัดกันใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ครูอัญชลี เล่าว่า ในคาบเรียนนี้ส่วนใหญ่จะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ฝึกใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้วิธีให้พี่สอนน้อง เข้าไปดูเว็บไซต์ต่าง ๆ เข้าไปดูสื่อการเรียนรู้ เพราะนักเรียนทั้งหมดมาจากครอบครัวยากจน ที่บ้านไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานแม้แต่เครื่องเดียว
“ที่นี่พยายามยืดหยุ่นกับเด็ก ๆ และผู้ปกครองให้ได้มากที่สุด เพราะพวกเขามีข้อจำกัดในชีวิตหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสถานะความเป็นอยู่ เด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน ผู้ปกครองไม่รู้หนังสือ ทำงานในไร่สับปะรด หากมีความจำเป็นเรื่องการจัดการเอกสาร ครูก็จะไปหาถึงบ้านและช่วยอำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องมีชุดนักเรียนหรือชุดลูกเสือก็สามารถมาเรียนได้ เด็กบางคนมาจากครอบครัวชาติพันธุ์ พ่อแม่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่มารับจ้างกรีดยางและทำงานในไร่ ไม่มีเวลาดูแลลูก ๆ ครูก็ต้องทำให้โรงเรียนเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของพวกเขา สอนให้พวกเขาตระหนักว่า การดูแลกันและกันเป็นเรื่องสำคัญของชุมชน” ครูอัญชลีกล่าว
ส่วนทางด้านโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำหิน ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นับว่าเป็นตัวอย่างของโรงเรียนขนาดเล็กอีกแห่งหนึ่งที่มีการปรับตัวให้เข้ากับบริบทชุมชน
ดาบตำรวจหญิงมาลินณา สังข์แก้ว ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำหิน เล่าว่า โรงเรียนนี้มีจุดเริ่มต้นจากความพยายามสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาความยากลำบากของนักเรียนในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งที่เคยต้องเดินทางไกลเพื่อไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านวังส้มป่อย ซึ่งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ 12 กิโลเมตร การเดินทางไปกลับนับเป็นความลำบากอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน มักมีน้ำท่วมตามลำห้วยจนไม่สามารถเดินทางข้ามได้
“ปัจจุบันนอกจากโรงเรียนจะดูแลเด็กในชุมชนบ้านถ้ำหินแล้ว โรงเรียนของเรายังดูแลเด็กชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มาจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบ ศูนย์อพยพผู้ลี้ภัย บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง อีกด้วย เราจึงยืดหยุ่นกับเด็กๆ ทุกคนที่เข้ามาเรียนกับเรา เด็กหลายคนหนีภัยสงครามมาโดยไม่มีหลักฐานอะไรติดตัวมาเลย ไม่มีกระทั่งพ่อแม่ เราก็ยืดหยุ่นให้กรอกเพียงข้อมูล เขียนใบสมัคร และเขียนชื่อบุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ หรืออาจจะเป็นผู้ปกครองในศูนย์อพยพก็ได้
“เด็กกลุ่มนี้ทั้งหมดตั้งใจเรียนมาก บางคนมีอายุเกินเกณฑ์ที่จะเข้าเรียน ป. 1 หลายปี ตัวโตกว่าเด็กคนอื่น แต่ก็เรียน ป. 1 ด้วยความมุ่งมั่น ซึ่งเราไม่ได้มองว่าอายุคืออุปสรรคในการเรียนรู้ หลายคนมาเรียนวันแรกโดยไม่เข้าใจภาษาไทยเลย แต่ด้วยความตั้งใจและความอยากเรียนรู้ก็พยายามเรียนอย่างเต็มที่ เด็กคนไหนที่มีความเข้าใจในภาษาไทยดีกว่า ก็จะทำหน้าที่เหมือนเป็นล่ามสื่อสารให้กับเพื่อน ๆ
“ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของเด็ก ๆ ทำให้เกิดกลุ่มก้อนและชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้และเข้าใจภาษาไทยได้ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการดูแลชุมชนต่อไปในอนาคต” ด.ต.หญิงมาลินณากล่าว
กล่าวได้ว่า การจัดการศึกษาให้กับเด็ก ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลด้วยความยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับบริบทแวดล้อม นับเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก ๆ เหล่านี้มีทางเดินที่ดีต่อไปในอนาคต