เด็กทุกคนไม่ต่างจากดวงดาวที่ส่องประกายระยิบระยับบนท้องฟ้า แต่ช่วงเวลาเพียงกระพริบตาอาจพบว่า ดาวบางดวงกลับร่วงหล่นและหายลับไปกับความมืด คงเป็นโชคดีที่จังหวะเวลานั้น ‘ดาว’ (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ป.6 /2 มีครูขนิษฐา อินทะเส เป็นครูประจำชั้น ดาวดวงนี้จึงไม่หล่นหายไปเสียก่อน
เรื่องราวจาก โรงเรียนสินแร่สยาม อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี คือ ‘สวนผึ้งโมเดล เสมือนแสงระยิบระยับทอประกายความหวังและโอกาสของความพยายามในการออกแบบการศึกษาวิถีใหม่ เพื่อสร้างความสุขให้เกิดในห้องเรียน ทั้งยังใส่ใจติดตามรับฟังเพื่อเข้าไปมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาของนักเรียนที่มีมากกว่าเรื่องการเรียน ลดโอกาสที่ทำให้เด็กๆต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา หรือดึงกลับเข้ามาก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายออกไปจนสายเกินการณ์
การหายไปของดวงดาว
น้องดาว (นามสมสมติ) เป็นหนึ่งในนักเรียนห้อง ป.6/2 ห้องที่คัดเด็กที่เรียนรู้ได้น้อยกว่า ห้อง 6/1 ซึ่งเป็นห้องของครูขนิษฐา ในห้องนี้ยังมีนักเรียนชาติพันธุ์ 7 คน และกลุ่มเด็กที่ยากจน กลุ่มเด็กที่เรียนรู้ได้ช้า อ่านไม่ค่อยออกและเขียนไม่ค่อยได้ ครูขนิษฐา บอกว่า เธอรับรู้ข้อจำกัดเหล่านี้ดีว่า หากเด็กไม่สนุกกับการเรียนก็จะทำให้เด็กไม่อยากมาโรงเรียน จึงได้พยายามออกแบบการสอนพิเศษให้เด็กกลุ่มนี้ เพื่อเพิ่มทักษะและให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข
“น้องดาวคูณเล่นง่ายๆก็ไม่ได้ หรืออย่างวิชาภาษาไทยให้เขียนเรียงความก็ไม่ค่อยได้ ก็จะมีปัญหาเรื่องการเรียน ซึ่งครูก็เตรียมความรู้แล้วว่าเด็กคนนี้มีปัญหาเรื่องการเรียนแน่นอน โดยเตรียมการสอนให้เขาปรับพื้นฐานให้ง่ายๆ ให้เขาเข้าใจให้เขาสามารถที่จะอ่านออกเขียนได้บ้าง”
แต่ดูเหมือนสองปีมานี้ สถานการณ์ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เมื่อวิกฤตโควิด-19 เดินทางมาถึง อำเภอชายแดนแห่งนี้ก็ไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นที่ต้องทำตามมาตรการควบคุมการระบาดของโรค การเรียนการสอนในห้องเรียนจึงต้องหยุดไปด้วย เมื่อกลับมาเปิดเรียนแบบ on site อีกครั้ง ทำให้ครูต้องสอนเต็มที่และเข้มข้นขึ้นเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่หายไป ปัญหาที่ตามมาก็คือ กลายเป็นว่า มีเพียงบางส่วนที่พร้อมรับเนื้อหาได้ ขณะที่ยังมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่ตามเพื่อนไม่ทัน มึนงง และดูเหมือนไม่มีความสุข
“หนูเรียนไม่รู้เรื่อง” ดาว บอกเหตุผล การมาโรงเรียนเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกอึดอัดจึงเลือกมาเรียนบ้างไม่มาเรียนบ้าง แต่พออยู่บ้านก็ไม่มีความสุขเหมือนกัน จึงตัดสินใจหายไปจากบ้าน
“หลังปีใหม่น้องดาวหายออกจากบ้าน ครูติดต่อน้องไม่ได้ ถามเพื่อนๆแล้วไม่มีใครรู้เลยว่าเขาไปอยู่ที่ไหน นอกจากไม่เข้าเรียนแล้ว น้องไม่กลับบ้านเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์” ครูขนิษฐา เล่าถึงเหตุการณ์และความพยายามติดตามหาจนพบตัวและพากลับบ้าน
“ครูบอกกับเพื่อนๆของน้องดาวว่า ถ้าครูติดต่อน้องไม่ได้ในวันนี้ ครูจะแจ้งความ เพราะดาวยังเด็กอยู่และยังเรียนไม่จบ ดังนั้น ถ้าตำรวจไปเจอดาวไปอยู่บ้านใครก็กลัวจะเดือดร้อนไปด้วย พอครูบอกเพื่อนน้องดาวแบบนี้ เพื่อนในกลุ่มที่น่าจะติดต่อได้พยายามติดต่อ แต่ก็ไม่พบ แม่น้องเลยไปแจ้งความผู้ใหญ่บ้าน จึงมีการค้นหาจนพบว่า น้องไปอยู่บ้านเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง พอเจอตัวแม่ก็พาลูกมาหาครู ให้ครูสอบถามว่า หายไปไหน ทำไมถึงไม่อยากมาโรงเรียนและไม่ยอมกลับบ้าน”
“น้องบอกว่าพ่อเมาแล้วมาทำร้ายร่างกาย ซึ่งเพื่อนดาวที่มีบ้านอยู่ใกล้กันก็เล่าว่า เคยเห็นพ่อทำร้ายร่างกายดาวเหมือนกัน น้องดาวเลยย้ายมาอยู่กับยาย ยายก็พาหลานย้ายไปอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ในละแวกโรงเรียน ครูถามว่ามีเหตุผลอื่นอีกไหม เช่น ดาวมีแฟนไหม น้องก็บอกว่าไปอยู่บ้านเพื่อนผู้หญิงจริงๆ”
ใส่ใจ พูดคุย และเปิดใจ
ครูขนิษฐา บอกว่า ปกติจะคอยสังเกตว่านักเรียนว่า มีปัญหาครอบครัวหรือไม่ เรียนได้หรือเปล่า แต่โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถทำตรงนี้ได้เต็มที่ ซึ่งดาวกำลังเป็นวัยรุ่น อายุย่างเข้า 14 ปี อาศัยอยู่ยาย ส่วนแม่ทำงานที่อีกอำเภอ ถึงแม้บ้านของน้องจะมีฐานะไม่ค่อยดี แต่แม่ก็พอทำงานส่งให้น้องดาวเรียนหนังสือได้ ส่วนพ่อของน้องอยู่อีกหมู่บ้านไม่ไกลกันมาก ที่สำคัญคือมักจะดื่มเหล้าและเมา
“ช่วงปิดเรียนยาวเนื่องจากสถานการณ์โควิด ก็คอยสังเกตว่า น้องเริ่มไม่ค่อยสนใจการเรียนออนไลน์ ต่างจากการเรียนแบบปกติที่พอเรียนได้ พอเปิดเรียนมาแบบ on site คราวนี้น้องเริ่มตามไม่ทัน จึงมาเรียนบ้างไม่มาบ้าง ผสมเข้ากับปัญหาความรุนแรงจากครอบครัว ทำให้น้องดาวไม่อยากกลับบ้าน ตอนนี้เมื่อพบน้องแล้ว โจทย์ต่อไปคือต้องคิดว่าจะทำให้น้องมีความสุขมากขึ้น เรียนเข้าใจและอยากกลับมาเรียนไม่หลุดออกไปจากระบบได้อย่างไร”
“ครูจะพูดเล่นกับน้อง ไม่เคยดุที่น้องหายไป จะคุยภาษาวัยรุ่นเหมือนเพื่อนให้รู้สึกว่าอยู่กับเราแล้วดาวสามารถเป็นตัวของตัวเองได้นะ ก็ได้เปิดใจ รับรู้ปัญหาและเข้าใจมุมของน้องมากขึ้น จากนั้นก็อธิบายกับครอบครัว ครูบอกน้องว่าต้องเรียนให้จบ ป.6 เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับ ถ้าไม่จบพ่อและแม่ก็จะถูกตำรวจตรวจสอบ แม่น้องก็ตกใจและดุว่าทำไมทำให้แม่เดือดร้อน เราพูดคุยปรับให้คุณแม่เข้าใจเหตุผลของดาวด้วย และให้แม่ช่วยตะล่อมน้องให้กลับมาเรียน”
ครูขนิษฐา บอกว่า ตอนแรกน้องดาวจะไปอยู่บ้านคุณแม่ในตัวอำเภอ ครูจึงทำเรื่องย้ายโรงเรียนให้ พร้อมให้กำลังใจว่า ที่ผ่านมาดาวสามารถเรียนหนังสือได้ อย่าทิ้งการเรียนเลย น้องดาวเชื่อฟังและย้ายไปอยู่กับแม่ ผ่านไปสัก 2 วัน ลองโทรถามไถ่ว่าย้ายไปโรงเรียนอะไร จะได้ลงช่วยข้อมูลไปในระบบให้ แม่บอกว่าน้องจะไม่ไปเรียน ครูเลยเสนอให้กลับมาเรียนที่โรงเรียนสินแร่สยามตามเดิม แม่เลยพาน้องดาวกลับมาเรียน
เริ่มต้นอีกครั้ง กลับคืนสู่ ‘โรงเรียน’
ช่วงนี้ยังคงอยู่ในช่วงโควิดระลอกใหม่ ครูต้องกลับมาสอนแบบออนไลน์อีกครั้ง น้องดาวบอกว่า เจอปัญหาเข้า Google Meet ไม่ได้ จึงปรับเป็นการให้น้องรับใบงานพิเศษไปทำและจัดกลุ่มให้น้องดาวอยู่ในกลุ่มเด็กที่เรียนช้า โดยจะทำใบงานแบบพื้นฐานวิชาภาษาไทยให้ง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยๆปรับความพร้อมเพื่อให้น้องเข้าเรียนออนไลน์เหมือนเพื่อนๆ ได้
“ครูออกแบบการสอนพิเศษให้น้องดาวจับคู่บัดดี้ให้เพื่อนช่วยเพื่อน หาการบ้านที่ง่ายๆ เพื่อช่วยปรับพื้นฐานให้เรียนทันเพื่อนๆในช่วงที่น้องหายไป นอกจากนี้ก็มีชุดกิจกรรมสำหรับเด็กที่ต้องเรียนรู้แบบพิเศษ เป็นเหมือนเกมเวลาเด็กเขาเล่นจะสนุกและยอมทำตาม เราอยากให้เขาจบอย่างน้อย ม.3 ก็มีทั้งขู่ทั้งตะล่อมบ้าง พยายามช่วยเหลือสนับสนุน บอกเขาว่า ถ้าเรียนตรงไหนไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจให้ถามครูได้เลย อย่ากลัว น้องก็รับฟัง”
“โรงเรียนสินแร่สยาม” เป็นหนึ่งใน 22โรงเรียนในอำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่เป็นพื้นที่นำร่องโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ตามแนวทางปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้กลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ มีหลายภาคส่วนในท้องถิ่น ออกแบบระบบการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิตเด็ก ให้เด็กทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข และป้องกันการหลุดจากระบบซ้ำ และนี่จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น
ภาณุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม ฉายภาพสภาพแวดล้อมที่ต้องเจอเด็กเสี่ยงออกจากนอกระบบ โดยเกิดจากเรื่องของครอบครัวหรือความรุนแรงในครอบครัว ทำให้โรงเรียนต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่คุณครูจะลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก 100% เข้าไปพูดคุยโดยตรงกับผู้ปกครอง ไปทำความเข้าใจ ไปคุยในรายละเอียดต่างๆเพื่อให้ทั้งครอบครัวเห็นความสำคัญของการศึกษา และเพื่อให้ผู้ปกครองอุ่นใจที่เมื่อเด็กมาโรงเรียนเจอคุณครูที่น่ารักเอ็นดูเด็ก ดูแลลูกเขาอย่างดี มาโรงเรียนแล้วปลอดภัย ทำให้ผู้ปกครองก็ยิ่งส่งเสริมให้ลูกมาโรงเรียน
“ในเมื่อเรามีข้อมูลตรงนี้เราก็จะมาออกแบบการเรียนรู้ห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน ในเรื่องของการเรียนรู้ที่นักเรียนเรียนรู้ไม่ทันและมีโอกาสที่จะเสี่ยงต่อการออกนอกระบบ เราก็ได้ทำการแก้ไขปัญหาโดยการพัฒนาคุณครู เช่น การหาเทคนิควิธีการในการจัดการศึกษาให้กับเด็กพื้นที่ชายขอบ ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข เพิ่มทักษะให้เด็กอ่านออกเขียนได้ การจัดกิจกรรมคุณครูจัดกิจกรรมแบบ Active Learning เพื่อให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง เด็กก็จะสามารถเข้าใจทักษะได้มากยิ่งขึ้น เด็กเรียนทันเพื่อน นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข ก็อยากจะมาโรงเรียน” ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม กล่าว
ครูขนิษฐายังทิ้งท้ายว่าเด็กวัยนี้ เพื่อนๆก็สำคัญมาก จึงไปสร้างความเข้าใจคุยให้เพื่อนๆปฏิบัติเหมือนปกติ อย่าให้น้องดาวรู้สึกแปลกแยก เพราะการที่น้องหายไปบ่อยและกลับมาใหม่บางทีสังคมเพื่อนก็สำคัญสำหรับเด็กคนหนึ่ง ครูก็คุยกับเพื่อนผู้หญิงอีกคนที่เรียนดีให้มาช่วยเป็นบัดดี้ ครูบอกว่าให้เพื่อนช่วยเพื่อนหน่อยเพราะใกล้จบแล้วก็อยากให้นักเรียนจบพร้อมกัน
“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงนะ จากนั้นมา น้องดาวสามารถส่งงานได้สม่ำเสมอ น้องพอจะเขียนเรียงความแบบง่ายๆได้แล้ว น้องเข้าเรียนมากขึ้นและส่งงานจนครบ เห็นแบบนี้เราก็สบายใจ อีกไม่นาน ดาวคงจะเรียนจบพร้อมเพื่อนๆได้อย่างที่ตั้งใจไว้” ครูขนิษฐา เล่าถึงผลตอบแทนที่ได้รับด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เพราะดาวยังเป็นดาวประดับฟ้าที่ส่องแสงระยิบระยับงดงามสำหรับครูคนนี้อยู่เสมอ