‘ขึ้น ม.1 ไปด้วยกัน แบบไม่เหลือใครไว้ข้างหลัง’ ‘ไม่เด่นวิชาการ แต่อยากเรียนต้องได้ไปต่อ’ ภารกิจส่งน้องให้ถึงปลายทางที่สวนผึ้ง

‘ขึ้น ม.1 ไปด้วยกัน แบบไม่เหลือใครไว้ข้างหลัง’ ‘ไม่เด่นวิชาการ แต่อยากเรียนต้องได้ไปต่อ’ ภารกิจส่งน้องให้ถึงปลายทางที่สวนผึ้ง

“ผมอยากเห็นโรงเรียนใหม่จะแย่แล้ว” น้องทอง ชั้น ป.6 นักเรียนโรงเรียนสินแร่สยาม เอ่ยความในใจก่อนก้าวขึ้นรถพร้อมเพื่อน ๆ อีก 5 คน ระหว่างเตรียมตัวเดินทางไปสมัครเรียน ม.1 ที่โรงเรียนรุจิรพัฒน์ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โดยในวัย 12 ปีของทอง เขาเผยว่าเป็นครั้งแรกที่จะได้ออกนอกตำบลสวนผึ้ง”

การเดินทางครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภารกิจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) และ บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ในโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ รวมพลังคนทั้งประเทศเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย โดยปักหมุดแรกที่อำเภอสวนผึ้ง ด้วยเป้าหมายลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ กับ ‘สวนผึ้งโมเดล’ ที่ใช้แนวทาง Area-based Education ประสานกลไกท้องถิ่น ระดมความร่วมมือค้นหาและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส นำคนที่หลุดจากระบบการศึกษากลับมาเรียน ประคองกลุ่มเด็กเสี่ยงหลุดให้คงอยู่ในระบบได้ต่อไป พร้อมแก้ปัญหารายคน สร้างหลักสูตรฟื้นความรู้และส่งเสริมอาชีพ จนถึงการประสานเครือข่ายระหว่างโรงเรียนเพื่อส่งเด็กข้ามช่วงชั้น ดึงสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่มารับช่วงน้อง ๆ ให้ไปถึงปลายทางคือจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว อันเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวตามแนวทางปฏิรูปการศึกษา …ซึ่งจะต้องไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เปิดพื้นที่การศึกษาให้เพียงพอสำหรับเด็กทุกคน

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ.

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบชั้น ป.6 เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสห่างไกล หรือกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ โดยปัญหาใหญ่มักมาจากความยากจน ทำให้เด็กจบแล้วต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน บางบ้านผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญ หรือถึงรู้ว่าเรียนไปแล้วจะทำให้ชีวิตมีทางไปมากขึ้น แต่ปัจจัยต่าง ๆ ที่เผชิญ ทั้งเรื่องรายได้ หรือการขาดข้อมูลคำชี้แนะที่เหมาะสม ประตูสู่การศึกษาต่อของด็กกลุ่มนี้จึงยิ่งตีบแคบ และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาทางไปต่อได้ด้วยตัวเอง

“สวนผึ้งโมเดลทำให้เรามองเห็นรูปแบบความซับซ้อนมากมายของปัญหา ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นความเป็นไปได้ของหนทางแก้ไข โดยเฉพาะการรวมพลังจากหลายทิศทาง ทั้งรัฐ ธุรกิจเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันการศึกษาทุกระดับในพื้นที่ ที่เริ่มต้นค้นหาพาเด็กที่หลุดไปแล้วกลับมา ก่อนจะต่อยอดด้วยการฟื้นฟูความรู้และส่งเสริมทักษะอาชีพ เท่านั้นไม่พอยังคิดไปถึงการส่งต่อข้ามช่วงชั้นเป็นลำดับ ให้แน่ใจว่าการศึกษาจะโอบอุ้มเขาไว้ได้จนถึงปลายทาง”

“สารสำคัญที่เราได้รับทั้งจากผู้บริหารโรงเรียนสินแร่สยามซึ่งเป็นโรงเรียนต้นทาง และโรงเรียนปลายทางคือรุจิรพัฒน์ คือการทำงานในสวนผึ้งไม่เพียงมุ่งไปยังกลุ่มเด็กด้อยโอกาส แต่ยังเน้นย้ำว่าเราต้องมีพื้นที่สำหรับเด็กทุกคน ทุกประเภท ทุกความต้องการพิเศษ เพราะโอกาสไม่ควรจำกัดไว้แค่กับเด็กที่เก่งด้านวิชาการเท่านั้น อย่าลืมว่าในความหลากหลายของเด็กเยาวชน เรามีคนที่มีความถนัดในเรื่องอื่น ๆ มีเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ มีเด็กหลังห้อง เด็กนอกห้องที่ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีใครเอาใจใส่ ซึ่งในสวนผึ้งโมเดล พวกเขาทุกคนจะได้รับความสำคัญ ด้วยลู่ทางการศึกษาในระบบที่ออกแบบไว้ให้เด็กมีที่ทางไปต่อได้ แม้จะขัดสนทุนทรัพย์ บกพร่องในทางใดทางหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณค่าด้านอื่น ๆ ในตัวเขาจะขัดเกลาพัฒนาให้ประสบความสำเร็จไม่ได้ และนี่คือความงดงามและใส่ใจที่ประเมินค่าไม่ได้จากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะได้รับ”

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ในองค์ประกอบทั้งหมด ปัจจัยแรกที่ทำให้สวนผึ้งโมเดลเป็นรูปร่างขึ้นมาได้คือ ‘ครู’ ผู้ทำงานอย่างรู้ปัญหา เข้าถึงจิตใจและครอบครัวของเด็ก สามารถสื่อสารภาษาถิ่นคล่องแคล่ว และมีความพยายามในการสื่อสารเพื่อชี้ให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพียงครั้งเดียว แต่คือความพากเพียรเวียนทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนที่สุดผู้ปกครองยอมให้บุตรหลานได้เรียนต่อ เพราะเขาเชื่อมั่นแล้วว่าการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงอนาคตได้

“น้อง ๆ ทั้ง 6 คนที่ได้รับโอกาสในวันนี้ คือตัวเดินเรื่องสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ที่จะทำให้เห็นว่าถ้าเขาไปต่อได้ ย่อมหมายถึงเราสามารถไปถึงคำตอบหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อันจะเป็นแนวทางการไขโจทย์เรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทยในระยะยาว”

ไม่ถนัดวิชาการ ใช่ว่าประตูการศึกษาต้องปิดลง

ภานุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม

ภานุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม กล่าวว่า 3 เหตุผลหลักที่ทำให้เด็กจากโรงเรียนห่างไกลชายขอบหลุดจากระบบการศึกษา คือ 1.ทักษะภาษาและวิชาการ 2.ความไม่พร้อมของครอบครัว 3.สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสร้างแรงบันดาลใจทางการศึกษา ดังนั้นถ้าจะแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เด็กหลุด ก็ต้องย้อนไปจัดการที่ต้นทาง

โรงเรียนสินแร่สยามได้วิเคราะห์ปัญหา และหาแนวทางร่วมกับ มจธ. โดยสำหรับเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่ง ทำให้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรือเรียนไม่ทันเพื่อน ทางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนแบบขยายห้องเรียน จัดการสอนเสริมพิเศษ ลดเด็กลงเหลือห้องละไม่เกินยี่สิบคน และมีครูอาสาจาก มจธ. เข้ามาช่วย จนภายในเวลา 2-3 เดือนที่เปิดออนไซต์หลังสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้เด็กกลุ่มนี้กลับมาเรียนรู้ได้ดีขึ้น

ในด้านเศรษฐกิจ ทางโรงเรียนได้จัดโครงการอาหารเช้า และจัดสรรอาหารกลางวันให้เด็กนำกลับไปกินกับครอบครัวที่บ้าน ซึ่งก็ช่วยให้เด็กมีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น รวมถึงการจัดตั้งธนาคารโรงเรียนด้วยทุนที่ได้รับจาก กสศ. ไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับเด็กรายคน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนกิจกรรมฝึกอาชีพต่าง ๆ เพื่อช่วยหารายได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนเรื่องสภาพแวดล้อม ครูโรงเรียนสินแร่สยามได้ติดตามเด็กถึงบ้านเพื่อรับรู้ปัญหา ขณะที่ในช่วงปิดโรงเรียนด้วยสถานการณ์โรคระบาด มีเด็กหลายคนที่ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน พอโรงเรียนเปิดครูก็ต้องไปตามกลับมาเรียน บางเคสเด็กทะเลาะกับผู้ปกครองหายออกจากบ้านไป ก็เป็นครูที่เข้าไปจัดการปัญหา ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก ๆ

“การติดตามใกล้ชิดทำให้เราส่งเด็กข้ามช่วงชั้นไปเรียนมัธยมได้ แม้ทางบ้านเขาจะส่งไม่ไหว อย่างทอง เขาจบ ป.6 แล้วกลัวว่าจะไม่ได้เรียน เพราะที่บ้านเขาไม่มีทุน วันหนึ่งเขาก็เดินมาบอกเราเองว่า ผอ.ครับ ผมอยากเรียนต่อ อยากให้ ผอ.ช่วย ซึ่งสำหรับเราแล้วขอแค่เด็กมีใจอยากเรียน เราก็จะหาทางจัดการให้จนได้”

“และเป็นที่มาของการทำงานส่งต่อเด็กร่วมกับโรงเรียนรุจิรพัฒน์ เนื่องจากเราจะพยายามหาโรงเรียนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่มมากที่สุด เพื่อให้เข้าไปแล้ว เขาจะเรียนต่อได้จนจบโดยไม่หลุดออกมากลางคัน อย่างเด็กกลุ่มนี้มาจากห้องเรียน ป.6/2 ที่เราจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่อาจไม่ถนัดด้านวิชาการ ทำให้หลายคนเรียนรู้ช้ากว่าเพื่อน ๆ หรือบางคนก็หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว 1 ปีเต็ม ดังนั้น เรามองว่าเขาต้องการโรงเรียนที่เปิดพื้นที่ให้ได้ค้นหาความสนใจและความถนัดในตนเอง มากกว่าคร่ำเคร่งกับวิชาการ ไม่ว่าจะทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ คุณธรรม วินัย หรือศักยภาพความดีงามในตัวต่าง ๆ ที่สำคัญคือที่โรงเรียนรุจิรพัฒน์ได้ทำ MOU กับสถาบันอาชีวะหลายแห่ง ซึ่งพร้อมรับเด็กเข้าเรียนต่อจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และช่วยปูทางให้ไปต่อได้ในการทำงานสายอาชีพ ที่เราคิดว่าตอบโจทย์กับเด็กกลุ่มนี้มากที่สุด”

โรงเรียนแห่ง(ทักษะ)ชีวิต ส่งต่อการศึกษาหลังภาคบังคับ 100% …ใคร ๆ ก็อยากได้เด็กรุจิรพัฒน์

ดร.พจนพร จิตเจริญทวีโชค ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์

ดร.พจนพร จิตเจริญทวีโชค ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์ กล่าวว่า “โรงเรียนเรายินดีต้อนรับเด็กทุกคน เพราะที่นี่คือพื้นที่ของโอกาส เด็กบางคนก่อนมาที่นี่เขาไม่มีอะไรเลย ไม่มีครอบครัว ต้องอาศัยอยู่กับเพื่อนบ้าน หรือบางคนแม้แต่ชื่อจริงตามทะเบียนเกิดยังไม่มีเลย เราถึงไม่อยากให้เขาต้องหลุดไป”

“ในพื้นที่ห่างไกลอย่างนี้ ถ้าเด็กไม่ได้เรียนก็แทบไม่มีทางให้ไปเลย จบแค่ ป.6 อนาคตที่รออยู่ก็มีแต่งานรับจ้างรายวัน หาของป่าขาย หรือไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ชีวิตจมอยู่ในพื้นที่ แล้วยังไม่ทันเป็นผู้ใหญ่เต็มที่เขาก็จะมีครอบครัว มีลูก เป็นวงจรเวียนซ้ำของความยากลำบากที่ส่งจากรุ่นสู่รุ่น”

ผอ.พจนพร เล่าถึงโรงเรียนรุจิรพัฒน์ ว่า เป็นโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับเด็ก(ความประพฤติ)ดี มากกว่าเด็กเก่ง(วิชาการ) โดยมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งค้นหาความสามารถและความดีงามภายใน ลดเวลาเรียนภาควิชาการ เพิ่มชั่วโมงสั่งสมทักษะชีวิต ทักษะสังคม การทำเกษตร งานฝีมือ หรืออะไรก็ตามที่เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข

“เราจะไม่ยอมให้ความอดอยากของครอบครัวมาดึงเขาออกไปจากโรงเรียนได้ สำหรับเด็กที่ทางบ้านไม่มีทุนทรัพย์ มาจากพื้นที่ตำบลอื่น เรามีหอพัก มีอาหารครบมื้อ มีชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ มีกิจกรรมมากมายที่ดูแลโดยครูตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง มีชมรมฝึกอาชีพหลากหลาย ในด้านการเรียนรู้เราจะเน้นเสริมเติมในส่วนที่ขาด หรือยามเจ็บป่วยเราก็พาไปหาหมอ ดูแลกันแบบครอบครัวจริง ๆ”

“พื้นที่สำหรับเด็กที่เก่งวิชาการนั้นมีอยู่แล้ว แต่เด็กกลุ่มนี้ที่เขาขาดโอกาส เราต้องการสร้างให้เขาเป็นคนที่เอาตัวรอดในสังคมได้ มีความประพฤติดี และเอาสิ่งที่มีในตัวมาพัฒนาจนเกิดเป็นอาชีพในอนาคต ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนจึงร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จังหวัดราชบุรี รวมถึงสถาบันการศึกษาสายอาชีพอีกมากกว่า 5 แห่ง ในการส่งต่อหลังเด็กจบ ม.3”

“หลังทำมาหลายปี พูดได้ว่าเด็กรุจิรพัฒน์ทุกคนสามารถไปต่อจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งทุกวันนี้นี้มีหลายสถาบันมาแย่งกันจองตัวเด็กของเราจนไม่พอส่งแล้ว”

“ที่เด็กกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จได้ เรามองว่าเนื่องจากเขาโดดเด่นเรื่องทักษะชีวิต มีวินัยเยี่ยม ซึ่งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่สายอาชีพต้องการ ยิ่งพอมีฝีมือร่วมด้วย สถาบันเขาก็ยิ่งอยากได้ตัว เพราะเอาไปดูแลพัฒนาต่อได้ง่าย หน้าที่ของโรงเรียนรุจิรพัฒนาก็จะเป็นการทำให้เด็กพร้อมที่สุดก่อนไปถึงจุดนั้น”

…วันนี้ น้อง ๆ ทั้ง 6 คนได้สมัครเข้าเรียนกับโรงเรียนรุจิรพัฒน์เป็นที่เรียบร้อย รอคอยเพียงวันเปิดเทอมที่จะมาถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม แล้วปีการศึกษาใหม่จึงเริ่มต้น

เชื่อว่าความร่วมมือที่นำมาสู่การเดินทางข้ามรอยต่อช่วงชั้นของน้อง ๆ ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย ที่ในอนาคตข้างหน้าจะสามารถขยายรูปแบบการทำงานจากพื้นที่อำเภอสวงนผึ้ง ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศได้สำเร็จ