สำรวจผลกระทบ COVID-19 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการศึกษาโลก

สำรวจผลกระทบ COVID-19 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการศึกษาโลก

รอบปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบวงกว้างในหลายมิติทั่วโลก รวมทั้งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาในหลายแง่มุม ตั้งแต่การปิดเรียน ปรับมาใช้การสอนผ่านกลไกต่างๆ ​ตลอดจนปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตามมาที่ทำให้เด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียน ​ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างเพิ่มมากขึ้น

แต่อีกด้าน ​COVID-19 กลายเป็นแรงผลักดันบังคับให้เกิดการปรับตัวและนำมาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบการศึกษาใหม่ๆ ที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองด้วยรูปแบบ​ที่แตกต่างกลายเป็นโมเดลใหม่ๆ ที่สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ทั่วโลก

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประเมินสถานการณ์การศึกษาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงการศึกษาในแง่มุมต่างๆ

 

การเรียนรู้ที่ลดลง
ผลเสียต่ออนาคตของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ห้องเรียนส่วนใหญ่ต้องถูกปิด แม้จะเปลี่ยนมาทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการเรียนในห้องเรียนได้ ทำให้เด็กมีปัญหาทั้งการเรียนที่ต้องหยุดชะงัก ไปจนถึงความไม่พร้อมของผู้ปกครอง การขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน สุดท้ายทำให้เกิดความเครียดทั้งเด็กและครู

“สุดท้ายคือการที่เด็กมีการเรียนรู้ที่ลดลง (Learning Loss) ในสถานการณ์ COVID-19 ช่วงที่เขาต้องอยู่บ้าน หรือขาดการทบทวนบทเรียนเป็นเวลานาน ความรู้ก็อาจจะหายไป นอกจากความรู้ที่หายไปแล้ว​ ยังอาจส่งผลต่อพื้นฐานความรู้ในด้านสำคัญๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทุนมนุษย์ในสังคม หลายประเทศก็พยายามแก้ปัญหา โดยการเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มอินเตอร์เน็ต เทรนครูให้รับมือกับการเรียนการสอนแบบระยะไกล”

 

การศึกษาไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน
ผนึกกำลังท้องถิ่นแก้ปัญหาการศึกษาตามบริบทพื้นที่

ดร.ภูมิศรัณย์ มองว่า ข้อดีในช่วงที่ผ่านมาคือการทำให้เกิดนวัตกรรมการเรียนการสอนทางไกลเป็นจำนวนมาก หลายอย่างเราเห็นว่ามีการทำได้ดี หรือมีครูที่สามารถทำได้ เขาได้คิดค้นวิธีการที่ดีๆ หลายอย่าง ทำให้เรารู้ว่าการศึกษาไม่ใช่เกิดขึ้นได้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์จำเป็นก็สามารถเกิดได้ทุกที่ ทั้งทางออนไลน์ หรือทางออฟไลน์ เช่น การส่งหนังสือ อุปกรณ์การเรียน พร้อมคำแนะนำไปให้เด็กในพื้นที่ อย่างครูโรงเรียนบนดอยที่สมัยก่อนต้องขี่ม้าไปสอน ปัจจุบันอาจจะใช้รถโฟร์วีลหรือมอเตอร์ไซต์ หรือครูในเมืองก็มีการใช้รถพุ่มพวงการศึกษาที่มีหนังสืออุปกรณ์ออกไปสอนเด็กๆ หรือโครงการต่างๆ เช่น ของบ้านปลาดาวที่มีนวัตกรรมพวกกล่องการเรียนส่งไปให้นักเรียนในช่วง COVID-19 ซึ่งเป็นวิธีการต่างๆ ในการช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในช่วงเวลาวิกฤติได้

“ที่สำคัญคือการทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้เห็นว่าผู้ปกครองหรือคนที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นก็มีความใส่ใจต่อประเด็นการศึกษาของลูกหลานและเขาก็หาทางสามารถแก้ปัญหาท้องถิ่นในบริบทของเขาได้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าสิ่งที่เราสั่งการจากส่วนกลาง เช่น นโยบายการศึกษา แนวปฏิบัติ อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับบริบทเสมอไป การปล่อยให้คนในท้องถิ่นได้คิดเองอาจได้ผลลัพธ์ หรือแนวทางการปัญหาที่คนในเมือง หรือนักการศึกษาจากส่วนกลาง​คิดไม่ถึง”​

 

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
แนวโน้มเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

นอกจากผลกระทบด้านการเรียนรู้ COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดย กสศ. พบว่า ยิ่งเด็กยากจนยิ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งครอบครัวที่ผู้ปกครองตกงาน ผู้ที่มีรายได้ลดน้อยลง หรือมีภาระพึ่งพิงมากขึ้น ล้วนกระทบต่อการศึกษาของลูกหลาน และทำให้แนวโน้มของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมีมากขึ้น เพราะอาจจะทำให้เด็กต้องขาดเรียนมากขึ้นหรือครอบครัวมีรายจ่ายเพื่ออุดหนุนการศึกษาน้อยลง  

 

​COVID-19 กระทบต่อการศึกษาทุกระดับ
ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา

COVID-19 ส่งผลกระทบกับการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มเด็กปฐมวัย ก่อนประถมศึกษา ศูนย์เด็กเล็ก เนอร์สเซอรี่ เพราะเด็กวัยนี้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ต้องอยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้ออกไปเล่นตามวัย พบว่าในช่วง COVID-19 เด็กเล็กมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อที่ลดลง นอกจากนั้นกลุ่มเด็กพิการ หรือเด็กกลุ่มพิเศษที่ต้องการการเรียนการสอนแบบเฉพาะเจาะจง ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของการหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ก็ได้รับผลกระทบจากการออกจากห้องเรียนเช่นกัน สำหรับเด็กโต การเรียนการสอนในวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติการต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าวิชาที่สามารถเรียนได้ในระยะไกล เช่นวิชาคอมพิวเตอร์

สำหรับในส่วนของมหาวิทยาลัยเองก็มีรายได้ลดลง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนที่ขาดรายได้จากนักศึกษาต่างชาติ หรือจากสภาวะเศรษฐกิจที่ผู้ปกครองมีรายได้ลดลง ในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย ซึ่งอาศัยรายได้จำนวนมากจากนักศึกษาต่างชาติหรือนักศึกษาต่างรัฐ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดต้องเรียนทางไกล ทำให้นักศึกษาหลายคนตัดสินใจพักการเรียนไว้ก่อน มหาวิทยาลัยหลายแห่งประสบปัญหารายได้ลดลง ทำให้ต้องปิดตัวหรือชะลอการเปิดหลักสูตรเอาไว้ก่อน หรือยกเลิกการรับนักศึกษาในระดับบัณฑิตในบางสาขา นับเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ผลักดันโมเดลใหม่การศึกษา ช่วง COVID-19

ส่วนปัญหาที่เด็กต้องสูญเสียการเรียนไปนั้นหลายประเทศมีแนวทางการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน บางประเทศมีองค์กร NGO ที่จัดติวเตอร์อาสาสมัครไปสอนหนังสือให้กับเด็กในพื้นที่ เพื่อให้เรียนได้ทันในช่วงที่ต้องหยุดเรียน หรือมีการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อเติมเต็มช่องว่างของทรัพยากร รวมไปถึงการปรับรูปแบบการศึกษาออกนอกกรอบ เช่น การยกเลิกการสอบไล่ปลายปี การยกเลิกระบบการสอบเข้า ระบบการให้เกรด แบบชั่วคราว  ในช่วงสถานการณ์โควิดหลายประเทศเริ่มมีการผลักดันเชิงนโยบายในหลายๆ เรื่อง เช่น การยกเลิกการสอบแบบมาตรฐาน (standardized test) ต่างๆ ยกเลิกการนำเอาการสอบเหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ประเทศไทยก็มีการถือโอกาสยกเลิกการสอบ O-NET ไปเช่นกัน โดยฝ่ายที่ต่อต้านการสอบมาตรฐานก็จะถือโอกาสออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนว่าไม่จำเป็นต้องมีการสอบประจำปีเช่นนี้ ดังจะเห็นจากการยกเลิกชั่วคราวก็สามารถทำได้ ในอเมริกามีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างเศรษฐฐานะหรือผิวสี ซึ่งสะท้อนออกมาจากการสอบมาตรฐานเช่น SAT, ACT ซึ่งคนจนจะทำคะแนนได้ไม่ดีเพราะไม่มีโอกาสไปเรียนพิเศษ ในช่วงสถานการณ์นี้ก็ทำให้หลายมหาวิทยาลัยยกเลิกการนำผลสอบไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาและอาจจะพิจารณายกเลิกแบบถาวร หรือนโยบายในเรื่องการประเมินผลโรงเรียน การประเมินผลครู ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้วิธีการในแบบเดิมๆ ได้ ทำให้หลายประเทศต้องพยายามคิดหาแนวทางเชิงนโยบายแบบใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าในอดีตก็ได้ ภายใต้สถานการณ์ของ COVID-19 ทำให้เราได้เห็นโมเดลใหม่ๆ ทางการศึกษาเกิดขึ้นเยอะ 

สำหรับประเทศไทยในช่วงเฟสแรกถือว่าค่อนข้างโชคดีเพราะโควิดระบาดในช่วงปิดเทอมพอดี ซึ่งต่อมามีการเลื่อนเปิดเทอมออกไปสองเดือน ช่วงนั้น นอกจากเรื่องทางการเรียนรู้แล้วเราก็ได้พบว่าเด็กในชนบท เด็กยากจนมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ  กสศ. ได้มีโครงการจัดอาหารเลี้ยงน้อง แต่ในการระบาดรอบสองนี้ สมมติว่ามีการประกาศปิดโรงเรียนอีก ทางโรงเรียนก็น่าจะปรับตัวได้ง่ายกว่าครั้งที่แล้วเพราะมีต้นทุนเดิมที่ทำไว้แล้วบ้าง หรือพวกระบบบทเรียนทางไกลต่างๆ 

แต่สิ่งที่ยังน่าห่วงคือเด็กที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนในลักษณะทางไกลที่จะทำให้เขาต้องขาดหายทางวิชาการไป และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะทำให้มีเด็กหลุดนอกระบบการศึกษามากขึ้น ซึ่ง กสศ. ก็คงจะต้องมีแนวทางร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการช่วยเหลือเด็กๆ ครูและโรงเรียนในกลุ่มนี้ 

​ตลอดทั้งปี 2563 โดยรวมเราได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงไปของการศึกษาจากรูปแบบ Conventional Education System ไปสู่ทางเลือกและการปรับตัวใหม่ๆ  ทำให้ได้เห็นว่าจริง ๆ แล้ววงการศึกษาสามารถ​ปรับตัวพลิกแพลงได้ในการเดินทางไปสู่เป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนมากคือเด็กยากจนด้อยโอกาส ทั้งจากปัญหาทางการเข้าถึง ปัญหาทางเศรษฐกิจ เรายังได้เห็นสถานการณ์วิกฤติด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาการเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์โควิด ที่เกิดกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มีเทคโนโลยีที่สูง หากแต่ขาดนโยบายการสนับสนุนทางสังคม (Social Safety Net) ที่ดีพอ เป็นบทเรียนว่าระบบของการสนับสนุนทางสังคมด้านการศึกษา และความมุ่งมั่นของภาครัฐและความร่วมมือจากภาคประชาสังคมต่างๆ เป็นสิ่งที่เราควรจะคาดหวังที่จะไปให้ถึงถ้าหากสังคมไทยต้องการไปให้ถึงความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง