“เพราะโควิด-19 ทิ้งร่องรอยสารพัดปัญหาให้เด็กไทย กสศ. ร่วมถกปัญหา เพื่อหาทางออก ช่วยเด็กไทยให้ผ่านพ้นวิกฤต”
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงานจัดเสวนา “Children from Covid – 19 เด็กหลุดขอบ” ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยในช่วงเสวนาหัวข้อ “เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จากผลกระทบโควิด-19” มีการนำเสนอข้อมูลพร้อมข้อเสนอแนะและทางออก จาก ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.
“สถานการณ์ของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในประเทศไทยมีมานานพอสมควรแล้ว และเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเยอะ เพียงแต่ว่าหลังจากโควิด-19 ตัวเลขของเด็กหลุดจากระบบก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและเป็นปัญหาร่วมในหลายภาคส่วนทั้งเด็กในชุมชนเมือง เด็กในชนบท เมืองใหญ่ เมืองเล็ก ก็มีปัญหาเหมือนกันหมด โดยปัญหานี้เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย” ดร.ภูมิศรัณย์ ระบุ
“โดยภาพรวมปัญหาของเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างรุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์โรคระบาดค่อย ๆ ดีขึ้น เรามีการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่ทำงานด้านการศึกษาในการพยายามที่จะให้เด็กได้กลับเข้าสู่โรงเรียน ถ้าเป็นคนที่ไม่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่โรงเรียน เช่น เด็กที่โตหน่อย ก็จะเป็นเรื่องของการส่งเสริมทักษะวิชาชีพ เรื่องของการฝึกอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น”
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อว่า แต่ในภาพรวมตัวเลขของเด็กหลุดจากระบบการศึกษายังคงค่อนข้างมีความรุนแรงอยู่พอสมควร ตัวเลขจากการสำรวจจะเห็นว่ารายได้ของครัวเรือนเด็กยากจนและยากจนพิเศษในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด ลดลงจาก 1,289 บาทต่อเดือน เมื่อภาคเรียนที่ 2/2561 เหลือเพียง 1,077 บาทต่อเดือน ในภาคเรียนที่ 1/2563 และ 1,094 บาทต่อเดือน ในภาคเรียนที่ 1/2564 โดยจำนวนเด็กยากจนถึงยากจนพิเศษ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 300,000 คน
“ตัวเลขของกระทรวงศึกษาธิการที่ทำโครงการพาน้องกลับมาเรียน มีการสำรวจเด็กหลุดออกนอกระบบในช่วงปี 2564 ก่อนที่จะเปิดเทอม 1 พบตัวเลขค่อนข้างเยอะ แต่เราก็ดีใจที่หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานภาคราชการยอมรับว่าตัวเลขนี้มีความรุนแรง คือตอนแรกเราอาจจะกลัวว่า ถ้าตัวเลขมันเยอะอาจจะดูไม่ดีแต่ว่าจริง ๆ แล้ว ทางภาครัฐเขายอมรับตรงนี้ แล้วพยายามใช้ความร่วมมือในการให้ครูหรือชุมชนเข้าไปช่วยตามเด็กที่อาจจะอยู่นอกระบบให้กลับสู่โรงเรียน กลับสู่ห้องเรียน ตัวเลขจึงค่อนข้างจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ณ วันนี้ เหลือตัวเลขหลุดจากระบบประมาณหมื่นกว่าคน”
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า ในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด กสศ. ได้สำรวจว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้ปกครองเป็นกังวลต่อสถานการณ์ พบว่าประเด็นที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อผลกระทบในครัวเรือน คือเรื่องเศรษฐกิจ การที่พ่อแม่ต้องหยุดงานเพื่อดูแลลูก หรือการที่รายได้ลดลง ต้องแบกรับภาระภายในครอบครัว โดยเรื่องเงินหรือรายได้ที่ลดลง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในช่วงโควิดมีกรณีที่พ่อแม่ต้องให้ลูกออกจากโรงเรียนเกิดขึ้นเยอะมาก เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนเอกชน และมีประชากรที่เรียกว่ากลุ่มยากจนเฉียบพลันค่อนข้างเยอะ
“เดิมทีเขาสามารถส่งลูกเรียนในสถานศึกษาของเอกชนได้ แต่ว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในครัวเรือน เขาจึงไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม แล้วบางทีโรงเรียนไม่ออกวุฒิบัตรให้ ทำให้เด็กมีภาวะที่ค้างคา เราเจอกรณีแบบนี้ค่อนข้างบ่อย จึงไปหารือกับ สพฐ. ทาง สพฐ. เลยมีนโยบายว่า หากมาจากโรงเรียนเอกชนแล้วไม่มีใบประกาศ ใบรับประกันว่าจบการศึกษา สามารถให้เข้าเรียนไปก่อนได้ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ถือเป็นการบรรเทาชั่วคราว แต่ว่าในภาพรวมทำให้เห็นว่าสถานการณ์ที่พ่อแม่ขาดรายได้กะทันหัน ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนหรือจ่ายค่าเทอม คือปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดและเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา”
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า สำหรับบทบาทการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็กหลุดและเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ที่ผ่านมามีหลาย ๆ ด้าน เช่น การตั้งศูนย์ฉุกเฉินช่วยเด็กในสภาวะวิกฤตทางการศึกษา เช่น กรณีเด็กที่ครอบครัวขาดรายได้และต้องออกจากโรงเรียนเอกชนโดยกะทันหัน กสศ. ได้ทำหน้าที่ประสานกับทาง สพฐ. และโรงเรียนปลายทางให้กับเด็ก
“หรือกรณีในช่วงที่เกิดโรคระบาด เรามีการประสานในเรื่องของการรักษาพยาบาลต่าง ๆ หรือบางพื้นที่เราก็ไปดูว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบ เราจะสามารถให้การช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง คือนอกจากระบบที่ให้ครูตามไปดูเด็กแล้ว หากเป็นเด็กวัยรุ่นขึ้นไป บางครั้งเราก็ลงไปทำงานกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมด้านทักษะอาชีพให้กับเด็กเหล่านี้ได้”
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า ยังมีปัจจัยอีกมากที่เรายังไม่ค่อยได้พูดถึงกันคือเรื่องโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน หากพ่อแม่มองเห็นเรื่องความสำคัญของการศึกษาจะมีการสื่อสารตรงนี้ไปยังลูกหลานให้เห็นความสำคัญของการศึกษาได้
“เราเคยมีงานวิจัยที่เราไปดูเด็กที่ยากจนมาก ๆ แต่เรียนได้ดี เราพบว่าปัจจัยที่มีร่วมกันคือการสนับสนุนจากผู้ปกครอง แม้ว่าเขาจะมาจากครอบครัวยากจนการศึกษาน้อย แต่เมื่อเขาได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว และครอบครัวมีทัศนคติทางการศึกษาที่ถูกต้อง รวมไปถึงโรงเรียนที่มีบรรยากาศให้เด็กอยากเรียน ก็มีส่วนช่วยเด็กทั้งสิ้น ก็ขอฝากเป็นโจทย์ไปยังผู้จัดการศึกษา ทั้งครู โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ว่านอกเหนือจากทางเศรษฐกิจแล้ว ตรงนี้น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเด็กไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาได้”