ความร่วมมือจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) และมหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเท ก่อให้เกิดผลผลิตอันล้ำค่าต่อเด็กนักเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอซึ่งอพยพมาจากพื้นที่ดอยสูง สามารถ อ่าน ออก เขียน “ภาษาไทย”ได้
“โครงการพัฒนาครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนท้องถิ่นทุรกันดาร” นับเป็นความร่วมมือสามฝ่าย กสศ. กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้ทำให้นักเรียนใน โรงเรียนตชด.บ้านห้วยสลุง อ.แม่ระมาด จ.ตาก มีพัฒนาการเรียนรู้อย่างก้าวกระโดด อันเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากความยากจนทุรกันดารในพื้นที่ห่างไกล
รศ.ดร.วชิระ วิชชุวรนันท์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร กล่าวถึงโครงการพัฒนาครูโรงเรียนตชด.ว่า โครงการหลักมุ่งพัฒนาศักยภาพครู 4 เรื่อง ความรู้ในศาสตร์เชิงเนื้อหา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ เพิ่มเติมทักษะการเรียนการสอน เทคนิควิธีการสอน การเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นครูที่ดี จิตวิญญาณความเป็นครู กิจกรรมเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน แต่เป้าหมายทั้งหลายทั้งปวงมุ่งพัฒนาคุณภาพนักเรียนนั่นเอง
สำหรับรูปแบบวิธีการ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานสองเรื่องหลัก หนึ่ง พิจารณาถึงความต้องการของโรงเรียน จุดอ่อนจุดแข็งโรงเรียนคืออะไร ครูกับครูใหญ่อยากเห็นภาพอะไรนำมาวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน สอง เมื่อได้ข้อมูลแล้วกำหนดกิจกรรมการพัฒนา โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายส่วนจะร่วมกันออกแบบสื่อการสอน แผนการสอน
“โครงการดังกล่าวมี โรงเรียนในพื้นที่กองกำกับตชด.จำนวน 6 โรงเรียนเข้าร่วม ในส่วนโรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง พบว่า ต้องการให้นักเรียนสามารถพูดภาษาไทยได้เป็นลำดับแรก สองต้องการเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดี จึงได้นำปัญหาดังกล่าวไปคิดวิเคราะห์ ปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ป.4- ป.6 และให้ครูทดลองใช้ จากนั้นนำมาใช้ในห้องเรียน เรียนรู้ด้วยการนิเทศติดตามผล เพื่อดูว่ามีจุดอ่อนอะไร เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาดำเนินกิจกรรมรอบต่อไป ” รศ.ดร.วชิระ วิชชุวรนันท์
6 โรงเรียนตชด.มีพัฒนาการเรียนการสอนเชิงประจักษ์
ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ที่ได้ขับเคลื่อนโครงการฯ ได้เห็นพัฒนาการเรียนการสอนอย่างมีนัยยะสำคัญ สมศักดิ์ เลิศรัตนพันธุ์ อดีตผอ.โรงเรียนสรรพวิทยาคม จ.ตาก ได้รับความไว้วางใจจากกสศ. ทำหน้าที่เป็นโค้ชลงพื้นที่ทำการนิเทศติดตามการพัฒนาครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เปิดเผยว่า พบการเปลี่ยนแปลงครูสู่การพัฒนาผู้เรียนด้านภาษาไทย
“แต่เดิม นักเรียนสื่อสารภาษาไทยไม่ค่อยชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นภาษาถิ่น การเปลี่ยนแปลงที่พบ คุณครูพัฒนาการจัดการเรียนการสอนใช้สื่อที่ผลิตร่วมกันกับมหาวิทยาลัย และประยุกต์ใช้สื่อ อิเล็กทรอนิกส์ การใช้รูปแบบแอคทีฟเลินนิ่ง การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมทำให้เด็กกล้าสื่อสารภาษาไทย รู้ความหมายของคำมากขึ้น”
ขณะเดียวกันได้ทำการนิเทศด้านการบริหารโรงเรียน ซึ่งครูใหญ่ไม่ได้จบด้านนี้ ได้แนะนำเรื่องความสัมพันธ์กับชุมชน การจัดพื้นที่ บริหารหลักสูตร ด้านสิ่งแวดล้อมให้โรงเรียนจัดเป็นสัดส่วนสวยงาม พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ
โรงเรียนตชด.บ้านห้วยสลุง ก่อตั้งเมื่อปี 2560จนมาถึงปัจจุบัน ระยะเวลาเพียง 4 ปี มีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยครูใหญ่รับการเปลี่ยนแปลงดีมาก เด็กชนเผ่า สื่อสารภาษากระเหรี่ยง ปกาเกอะญอ แต่ตอนนี้ภาษาไทยดีขึ้นตามลำดับ
นอกจากโรงเรียนตชด.บ้านห้วยสลุง ยังพบว่า บรรดา 6 โรงเรียนตชด. แม้อยู่บนพื้นที่สูงขึ้นไป การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบากทุรกันดาร แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน
“หลายโรงเรียนต้องการด้านภาษาและวัฒนธรรม หลายโรงเรียนต้องการวิชาคณิตศาสตร์ ทุกโรงเรียนที่ผมเดินทางไปนิเทศสองรอบสามรอบ แต่ละโรงเรียนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านวิชาการ มีกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สื่อ ใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น นักเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ทำให้เห็นว่าโครงการฯนี้ดีมาก ครูไม่ต้องนำตัวออกจากนอกโรงเรียนไปอบรมสัมมนา ไม่ต้องใช้เวลาเดินทาง ลดปัญหาครูไม่อยู่โรงเรียน เป็นเพราะเกิดจากความร่วมมือของกสศ. ตชด.และ มหาวิทยาลัย คือ การนำความรู้มาถึงโรงเรียนทุกโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนให้มีโอกาสในการพัฒนาดีขึ้นมาก”
ด้านครูใหญ่รร.ตชด.บ้านห้วยสลุง “ดต.วิไล ธนวิภาศรี” กก.ตชด.34 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ศูนย์ฯ ได้รับคัดเลือกจากกสศ.เป็นโรงเรียนนำร่อง 50 โรงเรียนพัฒนาครู เพิ่มผลสัมฤทธิการเรียนในถิ่นทุรกันดาร ได้ประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร มีทีมงานมาสืบสภาพปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียน
“ได้ข้อสรุปว่าเราอยากมุ่งเน้นทักษะการใช้ภาษาไทย ผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานได้ใช้ภาษาไทย เพราะนักเรียนที่นี่เป็นเด็กชนเผ่า เดิมเขาใช้ภาษาท้องถิ่น ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง เราจึงอยากพัฒนาตรงนี้ก่อน”
ครูใหญ่โรงเรียนตชด.บ้านห้วยสลุง ยกตัวอย่างความสำเร็จ จากที่ครูนำสื่อที่ได้รับการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยและกสศ.มาใช้ สังเกตการสอน และนิเทศติดตามแต่ละชั้นเรียน เห็นสิ่งที่น่าประทับใจ นักเรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงฝึกพูดภาษาไทย ใช้ประโยคในการสื่อสาร โดยนำบัตรคำไปบูรณาการเล่าเรื่อง แต่งเรื่องจากภาพ ทำให้คำที่ใช้บ่อยๆจำได้ กล้าพูด บางครั้งเด็กอ่านไม่ได้ จึงอาศัยคำในการจำ และชอบเล่นเกม เด็กๆ จะชอบมากเกี่ยวกับบัตรคำ
“ภาษาไทยเป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลาเปลี่ยนแปลงเด็ก อย่างน้อยการได้ใช้สื่อการสอนจากโครงการความร่วมมือดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กกล้าพูด กล้าแสดงออกในการใช้ภาษาไทย สุดท้ายการใช้ภาษาไทยได้คล่องต้องอาศัยประสบการณ์และสิ่งแวดล้อม” ดต.วิไล ครูใหญ่จากโรงเรียนตชด.บ้านห้วยสลุง กล่าว
เบื้องหลังความสำเร็จ ผลิตสื่อการสอนคุณภาพ
ความพยายามทุ่มเทให้นักเรียนตชด.บ้านห้วยสลุง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ไม่เพียง ครูตชด.เท่านั้น หากแต่มีกลุ่มคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมกันพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่นั้นๆ
ผศ.ดร.ถิรวิท ไพรมหานิยม ตัวแทนคณาจารย์ คณะครุศาสตร์ ฝ่ายประสานงาน กล่าวถึงคณาจารย์มหาวิทยาลัยทุกท่านมีบทบาทสำคัญในการร่วมโครงการนี้ แรกเริ่มเราสำรวจความต้องการพัฒนาอย่างเร่งด่วนของโรงเรียนบ้านห้วยสลุง ได้พบปะคุณครู นักเรียน ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ชาวบ้าน หาข้อสรุปร่วมกันว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไรซึ่งพบปัญหาหลายด้าน
“แต่ประเด็นที่คุณครู นักเรียนต้องการเร่งด่วน คือ ภาษาไทย ทำไมต้องเป็นภาษาไทย บริเวณนี้ อาจไม่ใช่เฉพาะภาษาไทย อาจเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาเมียนมาร์ จากการคุยกันอย่างเร่งด่วน คือ การสื่อสารของเด็กๆให้ได้ก่อน นับปัจจุบัน เด็กเล็กอาจพูดไม่ค่อยได้ ด้วยบริบทครอบครัวเป็นชาวกระเหรี่ยง สถานการณ์จึงต้องฝึกษาภาษาก่อน และเด็กๆ โต้ตอบได้ แต่ที่หนักคือการพูด การสะกดคำไม่ชัด จึงสรุปพัฒนาทักษะภาษาไทย และต่อไปพัฒนาทักษะด้านอื่นๆต่อไป”
อรทัย อนุรักษ์วัฒนะ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย ม.ราชภัฎกำแพงเพชร กล่าวว่า ในกลุ่มจะมีอาจารย์ภาควิชาภาษาไทยโดยตรง และทีมวิชาการพัฒนาเป็นชุดนวัตกรรมการเรียนการสอนให้ครูได้สอนง่ายขึ้น อันดับแรก คู่มือในการสอนออกเสียงคำภาษาไทย แนวการสอน เทคนิคการสอน ลำดับที่สอง คือ คลังคำศัพท์ ที่เราสำรวจป.4-ป.6 ครูสามารถสรรหาได้นำไปประยุกต์ใช้ ลำดับที่สาม ตัวชาร์จเป็นแม่เหล็ก คำศัพท์ประกอบรูปภาพ
ทั้งนี้ทั้งนั้น โรงเรียนมีสมาร์ททีวี มีอินเตอร์เน็ต จึงจัดทำไฟล์ข้อมูลให้คุณครูด้วย อยากให้คุณครูกระตุ้นให้เด็กพูด เพราะเรามุ่งเน้นฟังพูด ถ้าเกิดความคุ้นชิน การเรียนการสอน ถึงป.6 นำไปสู่การเขียน แต่งประโยค แล้วแต่คุณครูบูรณาการเพิ่มเติม เมื่อได้สื่อเราจะเทรนนิ่งการใช้สื่อเหล่านี้ด้วย
ลัดดาวัลย์ แก้วใส อาจารย์ประจำโปรแกรมพลศึกษา ม.ราชภัฎกำแพงเพชร กล่าวเสริมว่า เมื่อได้นำสื่อนำไปแนะแนวให้กับคุณครูว่าใช้อย่างไรบ้าง พอนำมาใช้ครั้งแรก เด็กสนุก มีสื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ เขาสามารถนำคำมาใช้ได้ เป็นการประเมินว่าเด็กทำได้ถูกต้อง เด็กสามารถพัฒนาจากเดิม กล้าพูด ออกเสียงโดยไม่ต้องอาย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นลงพื้นที่เขาอาย พูดภาษาถิ่นกับคุณครู แต่ตอนนี้กล้าพูดภาษาไทยมากยิ่งขึ้น
“ขอบคุณคุณครูที่ทำให้หนูพูดภาษาไทยได้”
ก่อนหน้านี้ นักเรียนโรงเรียนตชด.บ้านห้วยสลุงแทบร้อยเปอร์เซนต์พูดภาษาถิ่นหรือภาษากระเหรี่ยง แต่เมื่อ”โครงการพัฒนาครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนท้องถิ่นทุรกันดาร” ได้เข้าไปปรับรูปแบบการเรียนการสอน ผ่านไปเพียงแค่ 4 เดือน ทำให้น้องๆ พูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว
ดช.ทิตัส วรุณวิริยะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 :
“ผมชอบวิชาภาษาไทย เรียนตั้งแต่ตอนเด็กทำให้ผมอ่านภาษาไทยได้ ผมรู้จักภาษาถิ่นดี ก็พูดได้ทั้งภาษาถิ่นและภาษาไทย สำหรับภาษาไทยมีความสำคัญ เมื่ออยู่เมืองไทยจะได้ฟังออกและพูดกับเขาได้ อ่าน ออก เขียนได้ ที่นี่คุณครูสอนดี ตอนอยู่ในห้อง ผมถามครู ผมอยากมาโรงเรียน มีเพื่อนเล่น มีครูสอนได้อ่านหนังสือ ผมมีความสุขที่ได้มีเพื่อนเล่นครับ”
ด.ญ.วรดา วิทูรผลธรรม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 :
“หนูมาเรียนครั้งแรกพูดไม่เป็นเนื่องจากทางบ้านพูดภาษาถิ่น เริ่มเป็นภาษาไทยตอนป. 3 การที่หนูพูดได้ เพราะความตั้งใจ และคุณครูสอนได้ชัดเจน ตอนแรกสอน สระอะ สระอา หนูจะตอบคุณครูบ่อยในห้อง แล้วตอนนี้เพื่อนในห้องพูดภาษาไทยได้หมด”
“อยากบอกว่า ขอบพระคุณคุณครูมากที่สอนพวกหนู ครูใจดี เรียนอย่างมีความสุข หนูมีความสุขที่ได้เจอเพื่อนได้เจอครูและ เมื่อหนูโตขึ้นอยากเป็นพยาบาลค่ะ”
ด.ญ.วรัญญา อนุกรเดียร์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 : “รู้สึกดีใจที่ได้มาเรียน มีกิจกรรมเยอะแยะให้ความรู้ หนูชอบวิชาศิลปะ ได้เรียนงานเขียน ระบายสีแรเงา เพราะครูสอนดี เข้าใจทำให้หนูพูดภาษาไทย ครูถามในห้อง ให้เขียน และอ่าน และในห้องได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น หนูฝันอยากเป็นพยาบาล ดีใจที่มาร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันกับเพื่อนๆ ครูเป็นครูที่ดีสอนหนูได้ดีมาก มีความสุข”
เหล่านี้คือเสียงสะท้อนอันบริสุทธิ์ที่ถ่ายทอดออกมาด้วยสำเนียง”ภาษาไทย”อย่างชัดถ้อยชัดคำ