ปัญหา ‘สุขภาพจิต’ อยู่รอบตัวเรา
แพทย์หญิง ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ หรือ คุณหมอศุทรา ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กวัยรุ่น จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการบอกเล่าถึงแนวคิดริเริ่ม ‘โครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวะ’ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่า การสร้างเด็กและเยาวชนให้มีความสามารถในการเรียนรู้ การดูแลด้านจิตใจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องควบคู่กันไปกับงานด้านวิชาการ เพราะจะเห็นได้ว่าการเรียนที่ดี เด็กมีกำลังใจ มีความกระตือรือร้น ไม่ได้เกิดมาจากความสามารถทางวิชาการหรือความฉลาดทางไอคิวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากความพร้อมทางด้านจิตใจด้วย
“ความพร้อมทางด้านจิตใจ อย่างเช่น ความแจ่มใส อารมณ์ดี การรู้สึกว่าเป็นที่ยอมรับของเพื่อน มาเรียนรู้แล้วรู้สึกคุณครูเข้าใจ เพื่อน ๆ ต้อนรับ การรู้สึกมั่นใจในตัวเองว่าสามารถทำงานได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้เป็นความพร้อมด้านจิตใจที่จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ดังนั้น ถ้าตั้งเป้าจะให้เด็กเรียนจบทุนโดยที่ไม่ได้มองการเสริมสร้างด้านจิตใจ อารมณ์ มันอาจจะเป็นจุดอ่อนทำให้มีโอกาสที่จะเรียนไม่จบสูง”
หมอผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเด็กวัยรุ่น อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและอารมณ์สูงมาก จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาจะพบว่า เด็กทุนที่ได้รับการปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต แต่ละคนรูปแบบปัญหาจะคล้าย ๆ กันหมด คือ เด็กเครียดจากแรงกดดันที่ทำงาน ฝึกงาน ในระหว่างเรียนสายอาชีพ การต้องไปเรียนกับสถานประกอบการ เด็กจะรู้สึกกดดัน รู้สึกหนักใจ รู้สึกว่าการฝึกงานมันเครียดเกินไป และปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้
“อีกอย่างที่เจอบ่อยก็คือ มีเด็กที่รู้สึกหมดไฟในการเรียนด้วย เพราะว่าก่อนหน้านี้เป็นช่วงโควิดที่เขาต้องเรียนออนไลน์ เขารู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจเลย รู้สึกตัวเองไม่มีเป้าหมาย เคว้งคว้างไม่มีค่า ไม่มีเรี่ยวแรง อันนี้เกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงวัยรุ่น ซึ่งอาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็นการป่วย เรียกว่าเป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่ตอบสนองจากปัญหา หรือวิกฤตการณ์ที่เขาเจอมากขึ้นในช่วงวัยรุ่น
“ด้วยปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ที่มักเกิดขึ้นกับเด็กทุนนวัตกรรมชั้นสูง ทางโครงการจึงจัดอบรมเสริมสร้างทักษะชีวิตเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว มีการจัดอบรมเรื่องทักษะการจัดการอารมณ์ เช่น เวลาเกิดความผิดหวังจากเกรดที่ต่ำมีวิธีจัดการอารมณ์อย่างไร รวมถึงทักษะทางด้านความคิด และทางด้านสังคมด้วย”
คุณหมอศุทรา ยังได้เล่าย้อนไปถึงช่วงเริ่มต้นว่า โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันของ 3 ภาคส่วน คือ 1. ทีมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เป็นผู้กำกับดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานในระดับภูมิภาค 2. โค้ช (ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต) ที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขจากสถานบริการด้านสุขภาพในจังหวัดเดียวกับสถานศึกษา ซึ่งจะมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาช่วยเหลือครูในการดูแลนักเรียน และ 3. ครูแกนนำของสถานศึกษาที่ร่วมโครงการ จะทำหน้าที่จัดกิจกรรมทักษะชีวิตแก่นักเรียน และดูแลช่วยเหลือให้คำปรึกษานักเรียนที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น
“ปัจจุบัน เด็กทุนรุ่น 3 จากทั้งหมดประมาณ 2,300 กว่าคน มีที่ผ่านโปรแกรมทักษะชีวิตด้านอารมณ์ สังคม ความคิด แล้ว 1,353 คน หรือประมาณ 60 % สาเหตุที่ตัวเลขนี้ไม่เต็มร้อยส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์โควิดด้วย ทำให้เด็กปิดเทอมไปครึ่งปีการศึกษาเลยไม่ได้มาเจอกันกิจกรรมที่ครูจัดให้จึงไม่เกิดขึ้น แต่ในปีที่ 4 ตอนนี้เริ่มมีวิทยาลัยที่จัดไปแล้ว แปลว่าในฝั่งสถาบันการศึกษาก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เขาค่อนข้างเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างทักษะชีวิตให้เด็กกันมากขึ้น”
‘ทักษะชีวิต’ ต้องช่วยกันเสริมสร้างให้เด็ก ๆ
“ด้วยทัศนคติดั้งเดิม เราจึงมองเห็นอาการของคนที่มีปัญหาด้านจิตใจเป็นภาพจำ อาจจะมาจากสื่อหรือมาจากประสบการณ์เก่า เช่น การอาละวาด แต่จริง ๆ แล้ว ขอบเขตของปัญหาสุขภาพจิตกว้างมาก ตั้งแต่เครียดธรรมดา หรือความกดดันเรื่องการเรียนก็ใช่ ถ้าเราไปเหมารวมว่าเรื่องความเครียด เรื่องความวิตกกังวล เรื่องความเศร้า เป็นอันเดียวกับที่เป็นวิกลจริตแบบอาละวาด จะทำให้เขาไม่พบที่พึ่ง และความจริงแล้วก็เป็นคนละเรื่องกันหรือมันคนละแบบกันเลย ดังนั้น หากการเปลี่ยนทัศนคติเกิดขึ้นได้ นอกจากจะทำให้ความรู้กว้างขวางขึ้น ทำให้ทุกคนช่วยเหลือกันได้ดีขึ้นแล้ว เด็กก็จะมีที่พึ่งมากขึ้นอย่างแน่นอน”
เสียงสะท้อนดังกล่าวได้ชี้ชัดไปถึงภาพใหญ่ในการแก้ปัญหาสุขภาพจิต นั่นคือ ‘ทัศนคติ’ คุณหมอย้ำว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากต่อการทำงานของบุคลากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการ รวมถึงตัวนักเรียนอาชีวะเองด้วย ซึ่งมุมมองที่ดีและเป็นมิตรจะช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น และโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือก็จะยิ่งสะดวกสบายตามมาอีกด้วย
“อยากให้มองว่าการดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติ ไม่อยากให้ตีตรา หรือว่าเป็นบ้า หรือเป็นโรคจิต ตามทัศนะความเชื่อเดิม ๆ ที่ถูกหล่อหลอมมา ทำไมการไปคุยกับหมอจิตแพทย์จึงต้องไม่ปกติ หมอจึงอยากจะล้างความเชื่อนี้ออกไปรวมถึงในหมู่นักเรียนเอง เพราะเขาเป็นวัยรุ่น เป็นเด็กยุคใหม่ เขาจะเข้าใจและเปิดรับอะไรที่กว้างขึ้นได้ และหาก น้อง ๆ มองว่าเรื่องสุขภาพจิตเป็นความปกติ เราเครียดได้ เราเศร้าได้ ไม่เห็นเป็นเรื่องน่าอาย ก็จะเป็นตัวช่วยเปิดโอกาสให้น้องมองหาความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น”
นอกจากนี้ คุณหมอศุทรา ยังมองการทำงานก้าวสู่ปีที่ 4 ของโครงการไว้ว่า ระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวะศึกษา ถึงแม้จะตั้งต้นมาจากทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. แต่ก็เป็นการทำงานการส่งเสริมสุขภาพจิตที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้มาก จึงตั้งใจจะทำให้โครงการนี้ครอบคลุมประชากรทั้งหมดในสถาบันต่าง ๆ เพราะในวิทยาลัยหนึ่งแห่งจะมีเด็กทุนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ถ้านำเอาระบบนี้ไปใช้กับเด็กนักเรียนทุกคนได้ โอกาสที่เด็กคนหนึ่งซึ่งอาจจะมีบางช่วงที่ต้องการคำปรึกษาหรือใครสักคนมาช่วยคลายภาวะความกดดันในช่วงเวลานั้น สถานการณ์ที่คลี่คลายก็จะเกิดขึ้นอย่างทั่วถึง มีความช่วยเหลือไปได้ทันเวลา ก่อนที่บางอย่างจะสายเกินไปและย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้
“โครงการในปีที่ 4 เรามีแผนขอความร่วมมือจากวิทยาลัยเพื่อขยายความช่วยเหลือให้เกิดขึ้นทั้งโรงเรียน อาจจะเป็นต้นแบบภาคละหนึ่งแห่งก่อน ให้ครูทุกคนสังเกตเด็กเองได้ ว่าคนไหนมีความเครียด มีความทุกข์ใจ มีปัญหาการปรับตัว แล้วช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ โดยครูสามารถจัดกิจกรรมทักษะชีวิตให้กับเด็กได้โดยครบถ้วน เพราะไม่ว่าจะเป็นเด็กทุนหรือไม่ได้ทุนหากได้รับการฝึกทักษะชีวิตทั้งหมดได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
“เด็กวัยรุ่นหลาย ๆ คน จะรู้สึกว่าหาคนช่วยเหลือยาก โดยเฉพาะเด็กที่ครอบครัวอาจจะไม่พร้อม พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย หรือไม่มีผู้ปกครอง เขาจะรู้สึกไม่มีคนช่วยเหลือ เราจึงอยากให้รับรู้ตรงกันเลยว่า บ้านหลังที่สองที่เขาจะพึ่งพาได้ก็คือโรงเรียนของเขา วิทยาลัยที่เขาเรียนอยู่ นี่เป็นบ้านหลังที่สองที่เขาจะรู้สึกได้ถึงการพึ่งพาอาศัย หรือบางทีเห็นครูเป็นแม่ด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้ความช่วยเหลือเมื่อเขาไปพูดคุยหาที่ปรึกษา และเราจะสร้างกระบวนการสนับสนุนให้เพื่อคุณครูและโรงเรียนสามารถเป็นพื้นที่ตรงนี้สำหรับเด็ก ๆ ให้ได้มากที่สุด” คุณหมอศุทรา กล่าวทิ้งท้ายถึงก้าวต่อไปที่จะเดินต่อในอนาคต