‘ให้โอกาส เปลี่ยนชีวิต’ ชวนคุณครูและทุกท่าน ร่วมเป็นพลังเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ด้วยการ ‘ส่งต่อข่าวดี’ มอบโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนด้วย ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’

‘ให้โอกาส เปลี่ยนชีวิต’ ชวนคุณครูและทุกท่าน ร่วมเป็นพลังเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ด้วยการ ‘ส่งต่อข่าวดี’ มอบโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนด้วย ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’

เพราะในแต่ละปีมีเด็กเยาวชนไทยเสียโอกาสทางการศึกษามากกว่า 670,000 คน ส่งผลให้ประเทศเสียโอกาสทางเศรษฐกิจราว 200,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ผลวิจัย PISA for schools พบว่า ไทยมีเด็กเยาวชนที่ ‘มีศักยภาพ’ จากครัวเรือนยากจนมากกว่า 357,500 คน ‘ไม่ได้เรียนต่อ’ หลังจบการศึกษาภาคบังคับ

เมื่อการผลักดันให้ ‘ทุนมนุษย์’ ได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเพิ่ม ‘กำลังคนคุณภาพ’ ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต บริการ รวมถึงในสายงานสาขาอื่น ๆ ที่กำลังขาดแคลน มีผลต่อความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจประเทศไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รวมพลังกับ 63 สถาบันการศึกษาสายอาชีพจาก 34 จังหวัดทั่วไทย เดินหน้าแนวรุกในโครงการ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ปีการศึกษา 2566 ซึ่งพร้อมแล้วที่ลงพื้นที่ค้นหาเยาวชนช้างเผือกให้ได้เรียนต่อสายอาชีพชั้น ปวช. ปวส. อนุปริญญา และหลักสูตรประกาศนียบัตร 1 ปี รวมกว่า 2,300 ทุน

‘สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน’ คือภาพหวังของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่ กสศ. เข้าไปทำงานกับสถานศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 20% ล่างสุดของไทย โดยมุ่งทำงานเชิงรุกนำพาโอกาสทางการศึกษาไปถึงเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษ (พิการ) สนับสนุนการยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนและการดูแลนักศึกษาสายอาชีพเพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรม ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะวิชาชีวิต เพื่อสนับสนุนการยกระดับกำลังคนสายอาชีพชั้นสูงให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 และความต้องการตลาดแรงงานในประเทศ

ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการค้นหา และคัดเลือกผู้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2566 ที่ กสศ. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า

“ถ้าเราร่วมกันค้นหาเด็กกลุ่มนี้ให้พบ และนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาทักษะ ผลักดันให้ไปถึงปลายทางคือการประกอบอาชีพตามศักยภาพได้สำเร็จ เยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นตัวแบบให้เห็นว่า ถ้าได้รับการศึกษาที่ดี ต่อเนื่อง และตรงตามความสามารถที่มี เขาจะเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยโอกาสทางการศึกษาที่ได้รับ และเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่หลุดพ้นจากความยากจนได้”

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นทุนการศึกษาและต้นทุนสำหรับพัฒนาสถานศึกษาสายอาชีพทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ในสาขาวิชาชีพที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ First-Curve และ New S-Curve สาขาที่ขาดแคลนในพื้นที่สถานศึกษานั้น ๆ และสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM) ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับอนุปริญญา และหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น 1 ปีที่ได้รับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ นอกจากทุนการศึกษาและทุนพัฒนาสถานศึกษา กสศ. ยังสนับสนุนด้านการพัฒนาวิชาการ โดยคณะทำงานทีมหนุนเสริมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนวัตกรรมการทำงานระหว่างสถานศึกษาตลอดกระบวนการเรียนรู้

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม
เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.

เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่ กสศ. ได้ดำเนินโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงร่วมกับสถานศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ มีนักศึกษาทุนที่เรียนจบเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวได้แล้วไม่น้อย และในปีการศึกษา 2566 นี้ เรามีสถานศึกษาสายอาชีพที่เสนอตัวเข้าร่วมโครงการและผ่านการพิจารณาขั้นต้นแล้วจำนวน 63 แห่ง จาก 34 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาคประเทศไทย

กสศ. จะร่วมกับสถานศึกษาทุกแห่ง หารือแนวทางการนำโอกาสทางการศึกษาไปมอบให้กับเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงเยาวชนด้อยโอกาสที่มีความต้องการพิเศษ ให้ได้ศึกษาต่อในสายอาชีพที่เป็นการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับ เรามีแนวทางการค้นหาและคัดเลือกอย่างเป็นระบบ มีการประชาสัมพันธ์ด้วยแนวทางเชิงรุกทั้งออนไลน์และออนไซด์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนจากสถานศึกษารุ่นพี่ที่ทำงานกับนักศึกษาทุนตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้สถานศึกษาที่แม้จะเพิ่งเข้าร่วมโครงการเป็นปีแรก ก็สามารถออกแบบวิธีการค้นหานักศึกษาทุนที่ตรงตามคุณสมบัติ และเป็นไปตามลักษณะของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่อย่างแน่นอน 

ประเด็นสำคัญคือการสร้างเครือข่ายสถาบัน ที่ครูอาจารย์และผู้บริหาร รวมทั้งศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันได้ทำความเข้าใจร่วมกันในการประชาสัมพันธ์โอกาสเข้าถึงทุนไปยังโรงเรียนและสถานศึกษาที่มีเด็กกลุ่มเป้าหมายทั้งในระดับชั้น ม.3 ม.6 และ ปวช. ร่วมกับครูแนะแนว อสม. ท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ที่จะมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร พร้อมส่งต่อโอกาสให้ไปถึงเยาวชนที่มีคุณสมบัติสอดคล้องความต้องการของทุน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำงาน      

“กสศ. ออกแบบทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ให้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสองประเด็นสำคัญ คือ ‘โอกาสทางการศึกษา’ และ ‘เพิ่มทักษะการทำงาน’ โดยมีเป้าหมายในการเหนี่ยวนำครู สถานศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน สื่อสารมวลชน และภาคประชาสังคม มาทำงานด้วยกัน เพื่อรวมพลังเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ จุดประกายให้สถานศึกษาสายอาชีพสามารถระดมทั้งทุนทรัพย์และทุนความร่วมมือได้ด้วยตัวสถาบันเอง และไม่ใช่แค่โอกาสในการเรียนเท่านั้นที่เป็นหมุดหมายของทุน แต่โครงการนี้มุ่งเป้าไปถึงการสร้างระบบจัดการการศึกษาสายอาชีพ ให้มีการดูแลนักศึกษา มีนวัตกรรมทางเลือกของหลักสูตรที่ทันสมัย และส่งเสริมไปถึงการมีงานทำเพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต และภายใต้การทำงานโครงการต้องนำไปสู่การขยายผลเชิงนโยบาย มีงานวิจัย การปฏิบัติการที่สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงความเปลี่ยนแปลงระบบอาชีวศึกษาในภาพใหญ่ของประเทศ”  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ทิ้งท้าย

นพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนา
คุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ.

นพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวเสริมถึงคุณสมบัติที่เข้าเกณฑ์ของนักศึกษาทุนสายนวัตกรรมอาชีพชั้นสูง ว่าคือเยาวชนที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน และมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 ในระดับการศึกษาก่อนหน้า หรือมีทักษะโดดเด่นในสาขาที่เลือกเรียนผ่านชิ้นงาน ผลงาน หรือเกียรติบัตรรับรอง นอกจากนี้ทุนยังเปิดโอกาสให้นักเรียนทุนเสมอภาค (นักเรียนในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข) ที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.5 และมีผลการเรียนอยู่ในอันดับร้อย 30 ของชั้นเรียน สามารถเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกด้วย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อโอกาสให้กับเด็กเยาวชนกลุ่ม 20% ที่ยากจนที่สุดในประเทศให้ได้เรียนต่อในระดับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ

“โครงการในปีนี้มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการปีแรกจำนวน 22 แห่งจากทั้งหมด 63 สถาบัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีสถานศึกษาสายอาชีพให้ความสนใจยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาเป็นจำนวนมาก สถานศึกษาที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อม ความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน ด้วยข้อเสนอแนวทางการค้นหาคัดกรองคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ระบบดูแลนักศึกษาทุน หลักสูตรที่มีคุณภาพ จนถึงการส่งต่อปลายทางที่นักศึกษาทุนทุกคนต้องก้าวไปเป็นบุคลากรสายอาชีพที่มีคุณภาพในอนาคต เพราะเราเน้นย้ำเสมอว่าทุนไม่ได้สำคัญแค่ให้เยาวชนกลุ่มนี้มีวุฒิการศึกษา แต่เขาต้องมีงานทำ สามารถทำให้ความยากจนจบสิ้นลงในรุ่นของเขา ไม่ส่งต่อไปถึงลูกหลานอีกแล้ว”

ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ
การศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับกสศ.

ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. ได้เล่าบทเรียนจากการทำงานทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่เดินทางมาถึงรุ่นที่ 5 ว่าสิ่งที่ กสศ. อยากให้เกิดขึ้นในปีนี้ คือความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในระดับจังหวัดหรือในระดับภูมิภาค ที่จะวางแผนทำงานร่วมกันเพื่อค้นหาคัดเลือกเยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้มีทางเลือกที่กว้างขึ้นในการเข้าถึงหลักสูตรที่หลากหลาย สามารถเลือกเรียนได้ในสาขาที่ต้องการ เช่น ที่ผ่านมามีตัวอย่างการทำงานของจังหวัดอุดรธานี โดยวิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเทคนิค และอาชีวศึกษา หรือจังหวัดนราธิวาส ที่มีคณะพยาบาลศาสตร์ มีสาขาวิชาเทคนิคระบบขนส่งทางราง สาขาเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงวิทยาลัยชุมชน ซึ่งได้ร่วมมือกันและทำให้เห็นว่าการแบ่งปันข้อมูลและทำงานร่วมกัน จะนำไปสู่กระบวนการสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สามารถค้นหาและส่งต่อผู้เรียนได้ตรงตามศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น

ท้ายนี้ กสศ. ขอเชิญชวนคุณครูและทุกท่าน ร่วมเป็นพลังเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ของการ ‘ส่งต่อข่าวดี’ มอบโอกาสทางการศึกษาในโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ โดยส่งต่อเยาวชนที่ตรงคุณสมบัติ คือเป็นนักเรียนชั้น ม.3 ม.6 ปวช. ที่มีศักยภาพ และขาดแคลนโอกาส ให้กับสถาบันการศึกษาสายอาชีพในโครงการ ฯ ประจำปีการศึกษา 2566 หรือส่งต่อเรื่องราวดี ๆ และรูปภาพน้อง ๆ มาที่ content@eef.or.th ตั้งแต่วันนี้ ถึง 17 มีนาคม 2566

และขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อด้วย hashtag #ข่าวดีโอกาสการศึกษา #ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง #ทุนการศึกษา #กสศ

เพื่อให้สถานศึกษาในโครงการได้ริเริ่มและร่วมสร้างนวัตกรรมที่จะนำ ‘โอกาสทางการศึกษา’ ไป ‘เปลี่ยนชีวิต’ ให้กับเด็กและเยาวชนเป็นของขวัญให้พวกเขาต่อไป