“เคยมีคนพูดกับเราว่าทำงานอย่างนี้ ชีวิตก็ได้แค่นี้ …บางคนบอกว่าอย่างเราคงเรียนไม่จบหรอก หรือถึงจบไปก็ไม่มีทางเรียนสูงกว่านี้ได้ เพราะครอบครัวเราเป็นอย่างนี้ไง คงต้องทำงานรับจ้างได้เงินวันละร้อยสองร้อยกันต่อไป แล้วอนาคตเราก็จะหนีไม่พ้นสิ่งที่ต้องเป็น ไม่มีทางไปได้ดีกว่านี้แล้ว
“…เชื่อไหมว่าคำพูดพวกนี้แหละ ที่ผลักเราให้ไปข้างหน้า เหมือนยิ่งมีคนพูดให้ได้ยินเท่าไหร่ เรายิ่งอยากทำให้ดีกว่า ไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เขาบอก สิ่งที่เขาพูดกันว่าเราจะต้องเป็น”
‘เกตุ’ นัยนา ปานนอก วัย 20 ปี ผู้ช่วยพยาบาลโรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา เผยถึงแรงขับที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาพยุงครอบครัวจนข้ามพ้นวงจรหาเช้ากินค่ำ ด้วยความตั้งใจจริงที่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนชีวิตเธอและแม่ให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน
เธอเล่าว่าอยู่กันสามคนกับพ่อและแม่ตั้งแต่เด็ก ช่วงเรียนชั้นประถมถึงมัธยม พ่อป่วย ทำงานไม่ได้เป็นสิบปี วันหนึ่งก็เสียไป ตลอดมาแม่จึงเป็นเสาหลักทำงานหาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว รับจ้างทำทุกอย่าง ปอกมะพร้าว เก็บขวดขาย ใครให้ทำอะไรทำหมด ได้เงินวันละ 100-200 บาท วันไหนไม่มีงานก็ไม่ได้เงิน ส่วนตัวเธอเองถ้าว่างจากเรียนก็จะไปช่วยแม่อีกแรง
“เราเคยไปถึงจุดหนึ่งที่ต้องเลือกว่า จะให้แม่ทำงานคนเดียวแล้วเราเรียนต่อ หรืออีกทางคือหยุดเรียนไปเลยเพื่อไปทำงานจริงจัง” เกตุพูดถึงครั้งที่เผชิญกับทางแยกสำคัญ ซึ่งเธอต้องใคร่ครวญอยู่นานกับการตัดสินใจ
“ม.2 ถึง ม.6 หนูออกไปช่วยแม่หาเงิน ลองทำงานหลายอย่าง จนได้เป็นหางเครื่อง ทีแรกได้วันละ 200 พอเก่งขึ้นเริ่มเป็นคนนำก็ได้ครั้งละ 350 ทำงานวันละ 4 ชั่วโมง สัปดาห์หนึ่งปกติก็ได้ออกงาน 2-3 วัน บางช่วงไม่มีงานเราก็หางานอื่นเสริมเท่าที่หาได้“
ตอนนั้นเราคิด ว่างานกลางคืนได้เงินดี ได้ช่วยแม่ บ้านเราดีขึ้น มีคนมาชวนไปทำคาราโอเกะ ไปเชียร์เบียร์ ก็ช่างใจอยู่ …แล้วเป็นช่วงที่จะจบมัธยมด้วย เลยกลายเป็นทางแยกสองทาง ว่าจะ ‘เรียนต่อ’ ซึ่งหมายถึงแม่ต้องกลับมาหาเงินคนเดียว หรืออีกทางคือออกไปทำงานจริงจัง หยุดเรียนไปเลย”
โอกาสทางการศึกษา พาข้ามพ้นทุกขีดจำกัด
ในทุกปี จะมีเยาวชนจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดของประเทศเพียง 8 คน จากจำนวน 100 คน ที่ได้ศึกษาต่อมหาวิทยาลัย หรือระดับอุดมศึกษา นำมาสู่คำถามที่ว่า ‘เราจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างไร’ เมื่อเส้นทางการเรียนรู้ของเยาวชนกลุ่มนี้ต้องหยุดลง เพราะครอบครัวไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนต่อ
เกตุเองเป็นคนหนึ่ง ที่เกือบจะหยุดความฝันความหวังเอาไว้ ด้วยมองไม่เห็นเลยว่าจะหาทางไปสู่อนาคตได้อย่างไร ตราบที่บ้านของเธอยังขาดแคลนทุนทรัพย์อยู่อย่างนี้
อย่างไรก็ตามบนทางแยกของชีวิตของเกตุ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้ออกแบบ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ที่ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ สร้างนวัตกรรมการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการค้นหาเยาวชนที่มีความสามารถ มีความตั้งใจ และเชื่อว่าการศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่พาชีวิตไปต่อในเส้นทางที่ดีขึ้น โดยเป็นทุนที่เชื่อมโยงเข้ากับการผลิตอัตรากำลังคน บนฐานความต้องการของตลาดแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต (New S-curve) ซึ่งเน้นหลักสูตรระยะสั้น เห็นผลรวดเร็ว และสร้างความเปลี่ยนแปลงกับตัวผู้เรียนว่าจะช่วย ‘ตัดวงจรความจนข้ามรุ่น’ ได้จริง
ผศ.ดร.พรชัย จูลเมตต์ คณะบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในสถาบันภาคีที่เข้าร่วมงานกับ กสศ. กล่าวว่า หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลที่ ม.บูรพาร่วมกับ กสศ. เปิดรับเยาวชนที่จบ ม.6 แล้วไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระบบ เนื่องด้วยติดขัดในความไม่พร้อมต่าง ๆ แต่เยาวชนกลุ่มนี้มีใจอยากเรียน อยากพัฒนาตนเอง มีความรักความสนใจในวิชาชีพด้านสาธารณสุขเป็นทุนเดิม ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่ว่า
“ในพื้นที่ของเรายังมีเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ไม่เพียงพอ มันจึงเป็นทั้งการเปลี่ยนแปลงอนาคตของผู้เรียน พร้อมกับการแบ่งเบาเรื่องการผลิตแรงงานคุณภาพสูงป้อนสู่สังคม”
“จากรุ่นแรกที่เรียนจบไป เราเห็นความเปลี่ยนแปลงชัด ว่าก่อนเข้ามาเรียนเขายังหาทางให้กับชีวิตไม่ได้ แต่วันนี้กำลังยืนอยู่ตรงหน้าเราอย่างสง่างามในเครื่องแบบวิชาชีพ ซึ่งทำให้อาจารย์ทุกท่านที่มีเป้าหมายร่วมกันมาตลอด หายเหน็ดเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง
“สิ่งที่เราได้รับคือความสุข ความภูมิใจ ว่าบุคคลที่เราเอาใจใส่ฟูมฟัก เขาได้เดินไปบนเส้นทางที่ดีขึ้น ในภาพรวมแล้วก็นับว่าคณะของเราได้ทำหน้าที่สำคัญในการสร้างโอกาสทั้งต่อคนคนหนึ่งและครอบครัวของเขา รวมถึงเป็นโอกาสของประเทศชาติที่จะได้รับประโยชน์จากบุคลากรสายอาชีพกลุ่มนี้ด้วย
“เชื่อไหมว่าตอนที่เราลงไปค้นหา ไปพบเขา บางคนยังทำงานในโรงงานอยู่เลย มันก็เหมือนเราได้ไปช้อนเขาออกมา มอบโอกาสให้เขาใช้พลิกชีวิต และต่อยอดความตั้งใจในการประกอบอาชีพต่อไป”
หนึ่งปีที่ตระหนักถึงคุณค่าของ ‘ความรู้’ ว่ายิ่งเพิ่มพูนขึ้น ‘โอกาส’ ช่วยเหลือผู้คนก็ยิ่งเปิดกว้างขึ้น
“ตอนนี้อยู่แผนกฉุกเฉินค่ะ ทำมาครบปีแล้ว งานหลักคือดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วไป คนไข้อุบัติเหตุมีบาดแผลมา เราก็เตรียมเครื่องมือแพทย์ ประกบเคสร่วมกับคุณหมอ ทำหัตถการ ล้างแผล ช่วยแพทย์ดูภาพรวม”
เกตุพูดถึงหน้าที่รับผิดชอบที่โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา ซึ่งแทบจะกลายเป็นบ้านหลังที่สองของเธอในวันนี้ หลังเริ่มงานตั้งแต่ได้รับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ
“ภาพจำในวัยหนึ่งของเราคือไปดูแลพ่อที่โรงพยาบาล ได้เห็นพี่ผู้หญิงใส่ชุดสีขาวทำงาน สวยสง่า ทำงานหนัก แต่มีรอยยิ้มเสมอ มันเป็นแรงบันดาลใจว่าเราอยากเป็นอย่างเขาบ้าง พอตอน ม.ต้น เลยไปลองทำงานอาสาสมัครกู้ภัย ได้ช่วยเหลือคน เราก็เรียนรู้ว่าการทำให้คนหายทุกข์ มันรู้สึกอิ่มใจ นับแต่นั้นก็ยังฝันอยู่ลึก ๆ ว่าต้องมาทางนี้ให้ได้
“ดีใจค่ะ ทุนนี้เปลี่ยนแปลงเรามาก เหมือนได้เติบโตจากภายใน ไม่ใช่แค่ได้เรียนต่อ แต่มันเปลี่ยนเราให้กลายเป็นอีกคนหนึ่งที่ดีกว่าเดิม จากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ฝึกงาน ได้ทำจริง ได้ช่วยเหลือคนจริง ๆ แล้วพอเราทำงานเสร็จ เห็นรอยยิ้มของคนไข้ ของญาติเขา ก็เป็นสิ่งที่ประทับใจมาก ๆ”
เกตุเผยว่าเป้าหมายที่ตั้งใจไว้คือทำงานเก็บเงิน เพื่อเรียนต่อในสาขาวิชาที่เธอรัก และใช้ ‘ความรู้’ ก้าวข้ามขีดจำกัดในการทำงานขึ้นไปอีก เธออยากช่วยเหลือคนได้มากขึ้น ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องการยกระดับครอบครัวของเธอให้ไปไกลกว่าเดิม
“ยิ่งทำงานเยอะ เจอคนไข้ เจอเคสหลากหลาย มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าอยากเพิ่มพูนความรู้ขึ้นไปอีก อยากไปให้ไกลกว่า เพื่อเอาความรู้มาดูแลคนอื่นได้มากกว่านี้ เพราะเราไม่ได้คิดว่าเรียนจบ มีเงินเดือน ชีวิตเราดีขึ้น แม่ดีขึ้น แล้วจบเท่านั้น แต่เราอยากช่วยเหลือคนอื่นให้ได้มากขึ้นด้วย อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้น้อง ๆ ผู้ช่วยพยาบาลคนอื่นดีขึ้นเหมือนที่เราผ่านมา
“ตั้งเป้าว่าจะเรียนต่อค่ะ หนึ่งปีที่ทำงานมา เราเห็นว่าการเป็นผู้ช่วยยังมีขีดจำกัดบางอย่างอยู่ ดังนั้นถ้าเราไปต่อได้ เคี่ยวเข็ญตัวเองให้มีศักยภาพมากขึ้นได้ ความสามารถในการช่วยเหลือคนของเราจะเพิ่มขึ้นอีกระดับ ทั้งมากกว่า กว้างกว่า ซึ่งถึงตรงนั้นแล้ว แน่นอนว่าครอบครัวของเราก็จะยิ่งดีขึ้นตามไปด้วย”
นี่คือเรื่องราวของ ‘เกตุ’ นัยนา ปานนอก ตัวแทน ‘นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า โอกาสทางการศึกษาที่เธอได้รับ ช่วยยุติวงจรความยากจนข้ามรุ่น และตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างไร
ก่อนที่เดือนตุลาคม 2565 นี้ จะมีนักศึกษาทุนผู้ช่วยพยาบาลอีก 184 คน เตรียมจบการศึกษา และเข้าทำงานในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ