เราต้องเลือกชีวิตของเราเองเปลี่ยนหรือตาย อยู่แบบเก่า ทำแบบเก่า ขอให้จบแล้วไปหางาน ทำแบบนี้ไม่ได้… วันนี้เราต้องตั้งในใจว่าต้องเป็นเลิศ จบปุ๊บต้องมีคนรับเราเลย ในหัวใจต้องเชื่อว่าเราทำได้ มั่นใจว่าพัฒนาได้ มั่นใจว่าปรับเปลี่ยนได้ เชื่อมั่นว่าเราทำได้ เหมือนอย่างที่ผมเชื่อว่าอนาคตเรามีอยู่เห็นปลายทาง
หลังจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น “สมบัติ สุภาสุข” ขอที่บ้านเรียนต่อในระดับปวช. แม้จะไม่มีเสียงคัดค้าน แต่ทางบ้านก็ไม่มีเงินส่งให้เขาเรียน
ทว่านั่นไม่ใช่อุปสรรคที่จะขวางกั้นเส้นทางการศึกษาเพราะ “สมบัติ” ตัดสินใจออกไปหางานทำด้วยค่าจ้างวันละ 65 บาท เพื่อให้มีรายได้พอที่เขาจะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย
“ที่บ้านไม่มีตังค์ส่งผมเรียน ผมเลยทำงานไปและเรียนไปจนจบ เรียนภาคค่ำ ทำงานตอนกลางวัน เย็นก็มาเรียน มันไม่มีข้อจำกัดในการเรียน ถ้าใจเรามีความมุ่งมั่น มีจุดยืนอยากจะไป อยากจะเป็น ความเป็นเลิศทางวิชาการจะมากจะน้อยอยู่ที่ตัวเรา”
หลังส่งตัวเองจนเรียนจนปวช. ช่างกลโรงงานวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี เขาได้ต่อปวส. ช่างกลโรงงานที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา ก่อนที่จะต่อระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมอุตสาหกรรม จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ ที่กรุงเทพมหานคร
ตลอดเวลาของการเรียน “สมบัติ” ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หาได้อย่างประหยัด ข้าวสาร -อาหารแห้งล้วนแล้วแต่นำมาจากบ้าน เพื่อทำกินเลี้ยงปากท้องตัวเองในยามอยู่เมืองกรุง
เส้นทางชีวิต ไม่มีข้อแม้ การศึกษาจะเป็นตัวนำทางทุกด้าน
แม้จะไม่สุขสบาย เพราะต้องเรียนและทำงานไปด้วย แต่ “สมบัติ” มั่นใจว่า การศึกษา ที่เขาให้ความสำคัญนี้จะเป็นตัวนำทาง เป็นอาวุธให้ทุกด้านที่ตัวเขาจะก้าวเดิน
“เรามาจากศูนย์ เราก็เป็นคนค้ากำปั้นมือเปล่า พ่อแม่ไม่ได้ให้อะไรมา สำหรับผมคิดว่ามันไม่มีอุปสรรคหรอก มันอยู่ที่ใจเรา ใจเราเอาไหม เราอยากได้ไหม มันอยู่ที่เราเอง เส้นทางชีวิตไม่มีข้อแม้”
หลังจบปริญญาตรีได้เข้าทำงานที่ บ.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ระหว่างนั้นก็เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโท หลักสูตรผู้บริหาร ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปีที่ 20 ในบริษัทแห่งนี้ จากตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน เขาได้รับโอกาสสำคัญ ในการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล
“สมบัติ” เล่าว่า แม้จะเดินมาได้ไกลแล้ว แต่ชีวิตยังไม่ราบเรียบ เพราะการเลื่อนตำแหน่งครั้งนี้ เป็นการเติบโตข้ามสายจากสายวิศวะ มาฝ่ายทรัพยากรบุคคล เขาจึงตัดสินใจแก้ปัญหา “ความไม่รู้” ด้วยการไปลงเรียนปริญญาตรี นิติศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยรามคำแหงอีกใบหนึ่ง จนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน
ต่อด้วยปริญญาโทใบที่สอง ด้านการบริหารบุคคลและการพัฒนาบุคคล ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จนล่าสุด “สมบัติ” นั่งในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม สำนักทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไป
ตั้งธงว่าเป้าหมายในชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร
“สมบัติ”แกะรอยความสำเร็จของตัวเองเอาไว้ว่า ที่สำคัญจะต้องตั้งธงว่าเป้าหมายในชีวิตของเราเป็นอย่างไร อยากเรียนจนจบระดับไหน หน้าที่การงานอะไร ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก
“ธงเราจะจบออกมาเป็นลูกจ้าง หรือผู้ประกอบการ ถ้าเป็นลูกจ้าง จบปวช. ไปทำอะไร ถ้าเราเป็นช่าง เราจะเป็นนายช่าง แต่ถ้าเราแค่เรียนให้เราจบ เราก็จะเป็นพนักงานทั่วไปในฝ่ายผลิต ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ หรือสโตร์ แต่ถ้าจบช่างแล้วอยากไปต่อปริญญาตรี ไม่ว่าจบอะไร สาขาไหน ก็จะเป็นวิศวะ เข้าโรงงานเข้าไปก็ไปเป็นวิศวะทั้งหมด”
ก้าวข้ามอดีต มองเกมให้ทะลุ
“สมบัติ” ฝากข้อคิดให้กับนักศึกษาที่ได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกสศ. ว่า วันนี้ต้องก้าวข้ามอดีต มองเกมให้ทะลุว่าเส้นทางการเรียนเป็นอย่างไร เป้าหมายในชีวิตเราจะเป็นอย่างไรต้องตั้งธงเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่เผชิญกันทั่วโลก มีแค่สองทางเลือกเท่านั้น คือ เปลี่ยน หรือ ตาย
“เราต้องเลือกชีวิตของเราเองเปลี่ยนหรือตาย อยู่แบบเก่า ทำแบบเก่า ขอให้จบแล้วไปหางาน ทำแบบนี้ไม่ได้… วันนี้เราต้องตั้งในใจว่าต้องเป็นเลิศ จบปุ๊บต้องมีคนรับเราเลย ในหัวใจต้องเชื่อว่าเราทำได้ มั่นใจว่าพัฒนาได้ มั่นใจว่าปรับเปลี่ยนได้ เชื่อมั่นว่าเราทำได้ เหมือนอย่างที่ผมเชื่อว่าอนาคตเรามีอยู่เห็นปลายทาง”
สิ่งที่นายจ้างต้องการคือ คนที่กล้าพูด กล้าคิด
ใฝ่เรียนรู้ มีทัศนคติในทางบวก
และในฐานะที่เป็นหัวเรือใหญ่ในสำนักทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไปของบริษัทยักษ์ใหญ่ “สมบัติ” ยังเฉลยด้วยว่าคนแบบไหนที่นายจ้างต้องการ
“สิ่งที่บริษัทต้องการก็คือคนที่กล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออก ใฝ่เรียนรู้ ทักษะที่ทำอยู่นั้น ต้องทำได้ ทำเป็น มีความชำนาญ สามารถแก้ไขปัญหาได้ รวมถึงการมีทัศนคติในทางบวก การมีความคิดที่ก้าวหน้าจะเป็นจุดที่จะตัดสินใจว่าจะจ้างหรือไม่จ้างคนๆ นั้น”
ส่วนแนวทางการเตรียมความพร้อมที่จะ “มัดใจ” นายจ้างได้นั้น ต้องมีความเป็นผู้นำ มีเป้าหมายแห่งความสำเร็จ เป้าหมายแห่งความสุข
ครองตน ครองคน ครองงาน
เตรียมความพร้อมสู่เส่นทางการแข่งขันในอนาคต
นอกจากนี้มีความเก่งและดี มีความรู้ “ครองตน” มีวินัยในตนเอง มีสติเตือนตนเอง รวมถึงมีความเข้าใจ “ครองคน” เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรอบข้าง และมีความรับผิดชอบ “ครองงาน” มุ่งมั่น ใส่ใจ ทำให้เกินร้อย ที่สำคัญต้องคิดดี พูดดี ทำดี
โดยจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ สร้างฝัน Stop สิ่งที่จะหยุดทำในทันที Start สิ่งดีๆ ที่จะเริ่มต้น และ Continue สิ่งที่ทำดีอยู่แล้วและจะทำดีอย่างต่อเนื่อง เขียนสิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายว่าจะทำในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่เส้นทางการแข่งขันในสายอาชีพในอนาคต
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค