“ถามว่าโอกาสสำคัญอย่างไร …ก็ต้องย้อนไปถึงวันที่เราไปค้นหา จนพบ ดึงเขามาจากเส้นทางที่หลายคนคิดว่าตีบตันไปแล้ว บางคนจบมัธยมไม่รู้จะไปต่อทางไหน เขาเครียด กังวลว่าต้องอยู่แต่บ้าน เป็นภาระคนอื่น แต่พอได้มาเรียน เขาได้พัฒนาความสามารถ ค่อย ๆ เชื่อมั่นคุณค่าตนเอง จนวันนี้เด็กรุ่นแรกเรียนจบแล้ว เขาตื่นเต้นกระตือรือร้นที่จะไปทำงาน ไปประกอบอาชีพ อยากประสบความสำเร็จ ดูแลตัวเองดูแลคครอบครัว นี่คือสิ่งที่โอกาสเข้ามาเปลี่ยนแปลงพวกเขา ที่เราเห็นชัดเจนคือความขาดหายแตกต่างมันทำอะไรพวกเขาไม่ได้อีกแล้ว”
คือเสียงสะท้อนแห่งความภูมิใจจาก ‘ครูน้อย’ อักษรเพชร วิจิตรเรืองชัย ครูวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ ผู้ดูแลฟูมฟักน้อง ๆ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ผู้มีความต้องการพิเศษ ที่สั่งสมปราบการณ์ดูแลเด็กกลุ่มนี้มากว่า 4 ปี ตั้งแต่วิทยาลัยยังจัดการเรียนรู้เฉพาะหลักสูตรระยะสั้น จนได้ร่วมงานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดสรรหลักสูตรสายอาชีพระดับ ปวช. และ ปวส. มาแล้วถึงรุ่นที่ 3 ในปีการศึกษา 2565 นี้
ขณะเดียวกัน ปีการศึกษา 2564 ที่เพิ่งผ่านมา ทางวิทยาลัยก็พร้อมส่งน้อง ๆ กลุ่มหนึ่ง ให้ก้าวเดินต่อไปในโลกกว้าง เมื่อนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ผู้มีความต้องการพิเศษรุ่น 1 ทั้งหมด 9 คน จบหลักสูตรอย่างพร้อมเพรียง
ครูน้อยกล่าวว่า ทุนที่เข้ามาช่วยเรื่องการศึกษาและการฝึกงาน ถือว่ามีความสำคัญในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการเติมเต็มหัวใจที่เคยรู้สึกขาดพร่อง เพราะถึงหลักสูตรพร้อม ทุนพร้อม แต่หากขาดกระบวนการระหว่างทางที่เหมาะสม ความสำเร็จคงไม่เกิดขึ้น
แล้วที่วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ทำได้อย่างไร ครูน้อยจะเป็นผู้ไล่เรียงให้เห็นภาพไปพร้อมกัน
เริ่มจาก ‘สร้างพื้นที่แห่งโอกาส’
ย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ทดลองทำหลักสูตรระยะสั้น 72 ชั่วโมง สำหรับน้อง ๆ ผู้บกพร่องทางการได้ยิน ในสาขาเทคนิคการผลิต และอาหารและโภชนาการ จนเห็นว่าได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียนที่เพิ่งจบชั้น ม.6 โรงเรียนโสตศึกษา จ.สุรินทร์ จึงมีการตกลงความร่วมมือรับน้อง ๆ กลุ่มนี้เข้ามาเรียน พร้อมร่วมมือกับ กสศ. ในการผลักดันให้เกิดเป็นหลักสูตรวิชาชีพระดับสูง (ปวช., ปวส.) พร้อมวางแนวทางการดูแลและส่งเสริมต่อยอดจนสุดทาง
“ผมเป็นครูแผนกเทคนิคการผลิต ก็มองว่าจากการฝึกอาชีพระยะสั้น เราเห็นเด็กทำได้ ก็คุยกับสถาบันว่าอยากสร้างพื้นที่โอกาส เพราะตอนนั้นวิทยาลัยในภาคอีสานทั้งหมดยังไม่มีสถาบันที่รองรับเด็กกลุ่มนี้จริงจัง ก็เริ่มจากสองสาขา แล้วตอนหลังก็เพิ่มคอมพิวเตอร์ธุรกิจอีกสาขาหนึ่ง
“พอมาร่วมงานกับ กสศ. คราวนี้เราค้นหาเด็กได้กว้างขึ้น รองรับได้มากขึ้น มีระบบการดูแลที่ชัดเจน ซึ่งค่อย ๆ พัฒนาขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอน การอบรมครู หรือการทำข้อตกลงกับสถานประกอบการในการส่งเด็กไปฝึกงาน และรับเด็กเข้าทำงานเมื่อเรียนจบ”
หลอมรวมความต่าง ปูพื้นฐานความคุ้นเคยการใช้ชีวิตในสังคม
สิ่งแรกที่วิทยาลัยปรับเปลี่ยน คือการดึงครูจากทุกสาขาเข้ามามีส่วนร่วมดูแลเด็ก มีการวางระบบครูที่ปรึกษาพิเศษ โดยทุกสาขาวิชาจะจัดห้องเรียนแบบ ‘เรียนร่วม’ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งในภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และที่สำคัญคือการเรียนรู้เชิงสังคม ที่ไม่ว่าเด็กหูปกติหรือบกพร่องทางการได้ยิน ต้องเข้าใจว่า ‘ความแตกต่างไม่จำเป็นต้องแยกเราออกจากกัน’
“ทุกคนต้องได้เรียนเหมือนกัน ได้จับคู่บัดดี้คอยช่วยเหลือดูแลกัน เพราะไม่ว่าคนที่รับรู้ทุกอย่างปกติหรือบกพร่องทางการได้ยิน เขาจะต้องปรับตัวอยู่ในสังคมได้ทุกรูปแบบ ทำงานกับใครก็ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการการเรียนรู้พิเศษ ส่วนใหญ่จะอยู่กับโรงเรียนที่จัดการศึกษาเฉพาะทางมาสิบสองปี ดังนั้นสองปีที่อยู่กับเรา เขาจะได้สัมผัสประสบการณ์ของสังคมจริง ๆ ที่ผู้คนแตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมปะปนกัน เพราะเป้าหมายที่เราจะพาเขาไปให้ถึงไม่ใช่แค่วุฒิการศึกษา แต่คือศักยภาพในการทำงานและการปรับตัวเชิงสังคม ที่พอจบไปแล้วเขาจะไม่กังวล รู้สึกแปลกแยก ช่วยเหลือตนเองและมีชีวิตร่วมกับคนทุกแบบได้”
ในการเรียนภาคทฤษฎี ทางวิทยาลัยได้จ้างผู้ชำนาญภาษามือโดยตรงเข้ามาเป็นผู้ช่วยสอน และยังได้นำรุ่นพี่ที่มีปัญหาทางการได้ยินที่เรียนจบแล้วกลับมาเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยครูอีกแรงหนึ่ง โดยครูน้อยมองว่านอกจากทักษะภาษามือที่ดีแล้ว วัยที่ไม่ห่างกันมากยังทำให้วิทยาลัยได้ที่ปรึกษาซึ่งเด็ก ๆ พร้อมเปิดใจเข้ามาอีกหนึ่งคน
ขณะที่ในการเรียนภาคปฏิบัติ ‘ภาษาช่าง’ นั้นคือเรื่องของการฝึกฝนทักษะ ทดลองทำซ้ำ และเรียนรู้ต่อยอดจากความสำเร็จและล้มเหลว
“การไม่ได้ยินเสียงจึงไม่ถือเป็นอุปสรรคใด ๆ ของการเรียนสายอาชีพ เพราะเราต่างรู้ว่างานภาคปฏิบัติสามารถสื่อสารและทำงานกันด้วยภาษาสากลอยู่แล้ว” ครูน้อยระบุ
เติมใจให้กัน …ในวันที่ท้อแท้
“สำหรับหน้าที่ของครู บางทีเราต้องสังเกตเด็กให้ได้ การอยู่ใกล้ชิด รู้จักเขาให้ลึกในหลาย ๆ แง่มุมเท่านั้นถึงจะทำให้มองเห็น เพราะมันก็ต้องมีบ้างที่เขาท้อ อย่างบางทีกลุ่มเด็กหูดีคุยกัน หยอกล้อเล่นกัน เด็กที่เขาอยู่ในพื้นที่ที่มีแต่ความเงียบงัน เขาจะนั่งมองนิ่ง ๆ ถอยห่างออกมา ช่วงเวลาอย่างนั้นเราจะเข้าไปหาเขา พยายามรวมเด็กทั้งหมดมาทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการเตือนคนหูดีไม่ให้ลืมเพื่อน หรือคนไม่ได้ยินเขาก็จะรับรู้ว่าเพื่อน ๆ ยังคงนึกถึงเขา วิธีการนี้ทำบ่อยเข้าเด็กจะรับรู้กันได้เอง เอาใจใส่กันเอง ว่าเขาจะไม่ทิ้งใครไว้เพียงลำพังในยามรู้สึกโดดเดี่ยว” ครูน้อยบอกว่ากลยุทธ์เหล่านี้ คือกระบวนการที่เกิดจากประสบการณ์ ซึ่งไม่มีตำราเล่มไหนสอน แต่เป็นสิ่งที่ครูเองก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันกับลูกศิษย์
ไม่เพียงเท่านั้น ทางวิทยาลัยยังได้จัดทำศูนย์พักใจสำหรับน้อง ๆ ผู้มีความต้องการพิเศษ ที่จะมีครูที่ปรึกษา รุ่นพี่ มีกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ ไว้รองรับยามว่างจากการเรียน เป็นพื้นที่เปิดสำหรับให้เด็ก ๆ เข้ามาคลายเหงา ได้ระบายเรื่องราวในใจระหว่างกันโดยไม่เคยขาดแคลน ‘ผู้รับฟัง’
“หอพักของเด็ก ๆ จะติดกับบ้านพักครู มันก็จะมีกิจกรรมกินข้าว พูดคุย ดูโทรทัศน์ด้วยกัน หลายครั้งเด็ก ๆ ก็มาช่วยงานครูบ้าง คือนักศึกษากลุ่มนี้มากันจากหลายจังหวัดทั่วทั้งภาคอีสาน พอห่างบ้านเราก็เข้าใจ บางครั้งเขาเหงา ไม่รู้จะทำอะไร ในมุมของครูเองเรามองว่าเขาคือลูกหลานของเรา มันก็จะเกิดบรรยากาศแบบครอบครัวขึ้นมา ทำให้เขารู้สึกว่าที่วิทยาลัยคือบ้านอีกหลังหนึ่งของเขาด้วย”
…ก้าวเดินต่อไปในโลกกว้าง
แล้วก็ถึงวันที่น้อง ๆ รุ่นแรกจบการศึกษาและพร้อมไปต่อบนเส้นทางของแต่ละคน ครูน้อยเผยความในใจว่า ยังจำได้ถึงภาพวันแรกที่พบกัน
“เชื่อไหมว่าตอนเข้ามาเรียนใหม่ ๆ บางคนยังไม่รู้เลยว่าเรียนไปจนจบแล้วจะทำอะไร ไปทางไหนต่อ คือพอเขาได้โอกาสเรียน เขาก็เลือกเข้ามาก่อน ยังไม่มีเป้าหมายใดชัด แต่สองปีที่อยู่กันมา สำหรับรุ่นหนึ่ง เราเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน ทั้งความรับผิดชอบ ความสามารถ ความใฝ่รู้ กระทั่งทักษะสังคมที่เพิ่มพูนขึ้น แล้วองค์ประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้เขามีเป้าหมายชีวิต ทั้งหมดเกิดจากการได้เรียน ได้ปรับตัวเข้าสังคมเพื่อน ได้ไปใช้ชีวิตทำงานจริงในสถานประกอบการ นำมาซึ่งความมั่นใจในการมองไปยังเส้นทางชีวิตข้างหน้าที่กว้างไกลขึ้น และนี่คือพลังของคำว่าโอกาส”
ครูน้อยกล่าวว่า 9 คนแรกของน้อง ๆ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ผู้มีความต้องการพิเศษ รุ่น 1 มีทั้งน้องที่ตัดสินใจเรียนต่อ และคนที่มุ่งหน้าไปยังสถานประกอบการด้วยต้องการพิสูจน์ตัวเอง มีเส้นทางในใจที่แจ่มชัด ฮึกเหิมที่จะออกไปใช้ชีวิตในสังคม
“วันนี้เขามีสิทธิ์เลือกเส้นทางที่ต้องการ คิดดูว่าจากวันที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง แต่ตอนนี้เราเห็นว่าทุกคนมีเป้าหมายยิ่งใหญ่รออยู่ สำหรับพวกเราที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ ก็ภูมิใจและดีใจครับ”