ส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้อง จัดค่ายอบรมให้ความรู้นักประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติ

ส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้อง จัดค่ายอบรมให้ความรู้นักประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติ

จากเด็กน้อยที่ฝันอยากเป็นนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ โดย มี “อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง “เทสลา” เป็นไอดอล วันนี้ความฝันของเขากำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นทุกที ด้วยรางวัล “นักประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติ” ซึ่งเป็นทั้งกำลังใจและเครื่องยืนยันยันว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นมาถูกทาง​

ความฝันในวัยเด็กของ “ศุภชัย วงษ์สิงห์” อาจจะแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นในหมู่บ้านที่เติบโตในชนบท พ่อแม่ยึดอาชีพทำนาปลูกข้าวหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอยู่ใน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี แต่เขามองไปข้างหน้าเห็นภาพอนาคตชัดเจนว่าตัวเองชอบในเรื่องเครื่องยนต์ กลไก วงจรอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมหาความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย

ศุภชัย เริ่มฉายแวว​ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสายอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม​สามารถประกอบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ​และ รู้จักเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ​จนกระทั่งได้ก้าวเข้าสู่รั้ววิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ​ ที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะความรู้จนกลายเป็นนักล่ารางวัลสายไอทีตัวยง มีผลงานชนะเลิศมากมาย

 

ความสำเร็จเกิดจาก
ความรู้​ “ในห้องเรียน” และ ทักษะ “นอกห้องเรียน”

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความรู้ในห้องที่ตั้งใจเรียนจนเกรดเฉลี่ยไต่ระดับอยู่ที่ 3.80 มาตลอด  ตั้งแต่ระดับ ปวช. 1 จนถึง ปวส. 2 และสามารถทำคะแนนได้ดีในระดับต้นๆ ของชั้น ใน “วิชาช่าง” อาทิ เขียนแบบเทคนิค วงจรอิเล็กทรอนิกส์ วงจรดิจิตอล ฯลฯ ​

ควบคู่กับการได้ลงมือปฏิบัติงานจริงจากการได้ไปช่วยน้าชายที่เป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์ไปฝึกหัดงานเขียนแผงวงจรเครื่องเสียงหลังเลิกเรียนทุกวัน  ซึ่งเป็นเหมือนสนามทดลองหาความรู้และประสบการณ์จริงนอกชั้นเรียนไปโดยปริยาย ยามว่างจะเปิดยูทูบส่องดูนักประดิษฐ์เก่งๆ สิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ล้ำๆ หรือ วิธีต่อแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นเทพในแวดวงการไอที ที่ดังในโลกโซเซียลมีเดียอยู่เสมอ เพื่ออัพเกรดทักษะและความรู้ใหม่ๆ

 

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
ต่อเส้นทางการศึกษา

แต่กว่าจะมีวันนี้ “ศุภชัย” เกือบพลาดโอกาสทางการศึกษาเสียด้วยซ้ำ ​เพราะนักเรียนนักศึกษาที่จะเรียนในสายไอทีได้ โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ หุ่นยนต์อัตโนมัติ เป็นที่ทราบกันดีว่าอุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องมือต่างๆ ระหว่างเรียนล้วนราคาสูง​ และยังมีค่าหน่วยกิตในแต่ละเทอมที่ต้องจ่าย

ลำพัง​รายได้จาก​การขายข้าวเปลือกของพ่อแม่ที่ราคาไม่ดีนัก​เป็นไปได้ยากที่จะช่วยส่งเพื่อยังชีพคงหมดปัญญาสานฝันให้หนุ่มหัวใจนักประดิษฐ์คนนี้ให้กลายเป็นจริงได้ แต่ด้วยความวิริยะอุสาหะ ใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองนอกห้องเรียนอยู่เสมอเป็นแรงหนุน  ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ผู้สอนที่เห็นแวว​ไม่อาจปล่อยให้เด็กชายคนนี้หลุดนอกระบบการศึกษาไปได้ ​จึงแนะนำให้มาสมัคร “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งกลายเป็น “โอกาส” ​ที่ช่วยเปิดเส้นทางการศึกษาครั้งใหม่

 

เลือกเรียน “อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม”
วิชาช่างปฏิบัติจริงจบมาทำงานได้เลย

​ทำให้วันนี้ ศุภชัย เดินหน้าสู่เป้าหมายอย่างที่ต้องการว่าจะเป็น ​“นักประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติ” พร้อมตั้งใจว่าอยากตอบแทนสิ่งที่เขาได้รับ ด้วยการสร้าง “หุ่นยนต์สมาร์ทโฮม” ออกมาให้บริการและอำนวยความสะดวกในยุคสังคมผู้สูงอายุ ในอนาคต

ผมเลือกเรียนสาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม เพราะมองว่าทักษะวิชาช่างเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงในระหว่างเรียน เมื่อเรียนจบสามารถทำงานได้ทันที แตกต่างจากสายสามัญที่เรียนจากทฤษฎีหรือตำราเป็นส่วนใหญ่ แต่วิชาช่างเรียนจากการปฏิบัติจริงพอจบออกมาก็ทำงานได้เลย

 

คว้าโควตา ป.ตรี เทคโนโลยีราชมงคลพระนครเหนือ

แรงสนับสนุนที่ทำให้ “ศุภชัย” มีวันนี้คือครอบครัวพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนับสนุนบุตรชายคนนี้มาตลอด​​โดยยอมลำบากเสียเอง​ไม่ต้องให้ ศุภชัย มาช่วยงานที่นา แต่ให้ใช้เวลาว่างเสาร์-อาทิตย์ ไปฝึกงานกับน้าชายเป็นลูกมือต่อแผงวงจรเครื่องเสียงหารายได้เสริม และฝึกทักษะเรื่องวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้เขาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ให้โควตารับ ศุภชัย เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีทันที โดยไม่ต้องสมัครสอบ​เพราะทั้งผลการเรียน และรางวัลมากมายที่เขาได้รับ ทั้ง​การแข่งขันทักษะวิชาชีพระดับชาติ ทักษะการซ่อมและประกอบเครื่องขยายเสียง ปี พศ. 2561 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 จากการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ระดับชาติ ปี พศ. 2562 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ​

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ จากการแข่งขันฝีมือแรงงาน ระดับภาคกลาง ปี พศ.2562 ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานสุพรรณบุรี จัดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 จากการแข่งขันทักษะวิชาชีพระดับชาติ ทักษะการซ่อมและประกอบเครื่องขยายเสียง ปี พศ. 2561 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 จากการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ระดับชาติ ปี พศ. 2562 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ จากการแข่งขันฝีมือแรงงาน ระดับภาคกลาง ปี พศ. 2562 ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานสุพรรณบุรี จัดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

 

ส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้อง
จัดค่ายอบรมให้ความรู้นักประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติ

กว่าจะมาถึงวันนี้ ที่เขาประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ ศุภชัย ยังระลึกถึง “โอกาส” ที่ได้รับจากทุนการศึกษา ของ กสศ. และอยากให้เด็กๆ ยากลำบากในพื้นที่ห่างไกลเหมือนเขาได้รับโอกาสเช่นนี้บ้าง จึงได้รวมตัวกับเพื่อนๆ  ที่ได้ทุน กสศ. สายอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมด้วยกันในชั้น ราว 4 – 5 คน รวมตัวกันจะไปจัดค่ายอบรมให้ความรู้น้องๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ใจรักการเรียนรู้อยากเป็นนักประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติ

เฉกเช่น “ศุภชัย” ที่สามารถพลิกชีวิตจากเด็กบ้านนอกลูกชาวนา ให้กลายมาเป็นว่าที่นักประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่มีความมุ่งมั่นว่าการศึกษาจะช่วยนำพาชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในห้องเรียนหรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยตัวเอง ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตการเรียนและการงาน

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค