“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจะพาเราไปสู่ 3 เป้าหมายหลัก คือ 1.เด็กเยาวชนด้อยโอกาสที่มีความสามารถและต้องการศึกษาต่อได้เรียน ได้ยกระดับคุณภาพชีวิต 2.สถาบันการศึกษาสายอาชีพได้ยกระดับการจัดการเรียนการสอน เกิดนวัตกรรมต้นแบบที่จะช่วยในการดูแลนักศึกษาสายอาชีพ และกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาไปยังทุกพื้นที่”
“ซึ่งเมื่อ 2 ข้อแรกเป็นไปตามเป้าหมาย เราจะไปถึงปลายทางคือข้อ 3.เกิดนวัตกรสายอาชีพอย่างน้อยปีละ 2, 500 คน ที่เติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และพวกเขาจะเป็นไอดอลของเด็กเยาวชนรุ่นต่อไป ในการเป็นแม่แบบของการใช้การศึกษาก้าวข้ามความยากลำบาก จนสามารถก้าวไปสู่การเป็นบุคลากรชั้นนำในแต่ละสาขาอาชีพได้สำเร็จ”
– ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.
ย่างเข้าสู่รุ่นที่ 4 กับการรับสมัครและคัดเลือกนักศึกษาศึกษาเข้ารับทุน ในโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2565’ เพื่อเชื่อมต่อโอกาสในการศึกษาต่อสายอาชีพ ให้กับเยาวชนผู้มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยปีนี้ มีสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาชีพ เข้าร่วมจำนวน 58 แห่ง จาก 28 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค เปิดรับตั้งแต่ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช.(ทุน 5 ปี) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส.(ทุน 2 ปี) หลักสูตรอนุปริญญา(ทุน 2 ปี) และ หลักสูตรประกาศนียบัตร(ทุน 1 ปี) ที่ได้รับรองจากต้นสังกัด ได้แก่ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์
จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการ และวางแผนการดำเนินโครงการเพื่อลงพื้นที่ค้นหา-คัดกรอง นักศึกษาทุนในปีนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้มองเห็นถึงทิศทางในการส่งมอบโอกาสทางการศึกษาให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นการยกระดับการทำงานไปสู่วัตถุประสงค์หลักของโครงการได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการบ่มเพาะประสบการณ์ 3 ปี จนสามารถกลั่นกรองออกมาเป็น ‘นวัตกรรม’ ความร่วมมือในเชิงพื้นที่ รวมถึงกระบวนการคัดเลือกนักศึกษาทุน ที่ยึดหลักความโปร่งใสเป็นธรรม กระจายความเสมอภาค และการค้นพบ ‘ตัวจริง’ ของน้อง ๆ นักศึกษาทุน ที่มีทักษะความสามารถตรงกับสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ทุนเปิดรับ
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากข้อมูลความต้องการกำลังคนในการขับเคลื่อนนโยบาย 4.0 ชี้ว่า ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานสายอาชีพจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือความต้องการกำลังคนด้านการแพทย์ครบวงจร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ขณะที่ภาพรวมของประเทศ ยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สูง จากจำนวนเด็กยากจนด้อยโอกาสที่มีอยู่ราว 4 ล้านคน ก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 จะเข้ามาทำให้จำนวนของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ทวีขึ้นไปอีก
กสศ. สำรวจพบว่าโอกาสการศึกษาต่อของเด็กเยาวชน จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยสำหรับกลุ่มที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ(รายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 3, 000 บาทต่อคน/เดือน) ในช่วงชั้นมัธยมต้นจะมีคนที่ได้เรียนต่อ 80 % ระดับมัธยมปลาย ได้เรียน 52.9% ขณะที่ในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า เยาวชนกลุ่มนี้จะได้เรียนต่อเพียง 5% ต่อรุ่น หรือราว 8, 000 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ ที่มีอัตราของเยาวชนที่ได้เรียนในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า อยู่ที่ 30% ก็จะเห็นว่ามีช่องว่างที่ห่างกันถึง 6-7 เท่า
เมื่อคำนึงถึงภารกิจของการกระจายโอกาสเข้าถึงการศึกษา กสศ. จึงผนวกรวม 2 โจทย์ คือความด้อยโอกาส และความต้องการแรงงานสายอาชีพเข้าด้วยกัน โดยได้ออกแบบ ‘โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ที่สนับสนุนผลักดันเยาวชนกลุ่มเป้าหมายปีละ 2, 500 คน ให้ได้เรียนต่อสายอาชีพ ในสาขาที่มีความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 สาขาอาชีพที่ขาดแคลนกำลังคนระดับท้องถิ่น สาขาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิตอล รวมถึงหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล และหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาและศึกษาต่อในระดับสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษา ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและการบริหารจัดการที่สร้างสมรรถนะ(Competencies) และระบบดูแลนักศึกษาสายอาชีพที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นำมาสู่ความร่วมมือกับสถานศึกษาที่มีความพร้อมด้านหลักสูตร บุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้ การจัดการ และที่พัก ตลอดจนการบูรณาการหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ ซึ่งรองรับนักศึกษาทุนมาแล้วทั้งหมด 3 รุ่น
ปัทมา วีระวานิช ผู้ชำนาญการด้านการขับเคลื่อนนโยบายอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellent Center) สอศ. และผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า จุดแข็งของการทำงานในปีนี้ คือมิติการทำงานแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ อันเป็นผลจากการทำงานต่อเนื่อง 3 ปีที่ทำให้เกิดภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด หรือในระดับภูมิภาค
“เรามีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมความร่วมมือกับทั้งวิทยาลัยในสังกัด รวมถึงสถาบันอื่น ๆ ในภูมิภาค นำเสนอโมเดลการเชื่อมโยงงานเชิงพื้นที่ เพื่อส่งต่อนักศึกษาทุนให้มีโอกาสเลือกเรียนในสาขาวิชาที่สนใจได้แม้ไม่มีเปิดสอนในพื้นที่ เท่ากับว่าแต่ละมหาวิทยาลัยพร้อมลงพื้นที่ค้นหาคัดกรองนักศึกษาด้วยชุดข้อมูลเดียวกัน ซึ่งเป็นทั้งการร่นระยะเวลาทำงาน และเปิดโอกาสให้เยาวชนด้อยโอกาสที่กระจัดกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น”
“อย่าลืมว่าการทำงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราต้องเจออุปสรรคจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการเกิดภาคีที่พร้อมช่วยกันดูแลเรื่องการกระจายความเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับเยาวชนกลุ่มที่ขาดแคลนโอกาสมากที่สุดในสังคม จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรกลุ่มเป้าหมายให้เข้าถึงทุน และทลายข้อจำกัดในเข้าถึงสาขาวิชาที่ตรงกับทักษะและความต้องการของเขาได้”
นพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กล่าวว่า ปีนี้แต่ละสถาบันมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวางแผนการค้นหานักศึกษาทุนเชิงรุกยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดกรอง ค้นหาเด็กเยาวชนที่เป็น ‘ตัวจริง’ อย่างแม่นยำและรอบคอบ มีความสร้างสรรค์ในการนำสื่อดิจิทัลหรือการแสดงพื้นบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยคอนเทนต์ที่สื่อสารความหมายชัดเจน กระตุ้นให้น้อง ๆ ตระหนักถึงโอกาส สร้างความมั่นใจ และลดความกังวลว่าเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว เขาจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และไปถึงเป้าหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ คือเรียนจบ มีงานทำ และยกระดับคุณภาพชีวิตคนในครอบครัวได้จริง
ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กล่าวว่า นอกจากการสร้างเครือข่ายพันธมิตร ที่ทำให้เห็นวิวัฒนาการทำงานที่สั่งสมเป็นลำดับ
ในปีนี้ยังมีเรื่องของการลดจุดอ่อนในการค้นหา-คัดกรองกลุ่มเป้าหมาย โดยแต่ละวิทยาลัยมุ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดเลือก การสัมภาษณ์ ทดสอบทักษะ วัดแววอาชีพ รวมถึงมีการดูแลในด้านจิตวิทยาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมายในด้านการฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจ อันหมายถึงการสร้างระบบดูแลที่จะช่วยประคับประคองเด็กในทุกมิติ ตั้งแต่วันแรกพบจนถึงวันจบการศึกษา
ผศ.บงกชรัตน์ ล้ำเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า ยิ่งแต่ละรุ่นผ่านไป เรายิ่งได้เห็นภาพของการทำงานแบบเพื่อนสนิท มิตรแท้ที่ดีต่อกัน พร้อมโมเดลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมามากมาย ที่น่าสนใจคือการทำงานในระดับพื้นที่ ที่ไม่เพียงเป็นการสื่อสารระหว่างสถานศึกษากับครอบครัวนักศึกษาทุนเท่านั้น แต่ยังมีการโยงใยไปถึงผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ บุคลากรสหวิชาชีพในท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาคัดเลือก และอยู่ในกระบวนการสร้างนักศึกษาทุนคนหนึ่ง จึงกล่าวได้ว่าบุคลากรสายอาชีพ 2, 500 คนที่เกิดขึ้นในแต่ละรุ่นแต่ละปี มิได้เป็นเพียงผลผลิตจาก กสศ. และสถาบันเท่านั้น แต่ต้องถือว่าพวกเขาคือเยาวชนต้นแบบที่หล่อมหลอมขึ้นจากชุมชน และเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนได้อย่างแท้จริง