หลังเรียนจบ ม.ปลาย การที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนจะไปเรียนต่อในสายวิชาชีพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากครอบครัวต้องมีทุนแล้ว ยังต้องหาสถานศึกษาที่มีความพร้อมรองรับในการสอนด้วย
น้องต้า ตะวัน สุโรพันธ์ ก็เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษคนหนึ่งที่ต้องหยุดเรียนไป 1 ปี เพราะข้อจำกัดนี้ เมื่อได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ได้เรียนต่อที่วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ คือโอกาสสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิต
“ดีใจมากที่ลูกได้รับโอกาส ถ้าไม่ได้ทุนจาก กสศ. ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เรียนต่อหรือเปล่า เพราะโรงเรียนที่มีความพร้อม ที่จะรับลูกเข้าเรียนได้หายากมากจริงๆ และต้องใช้ทุนสูง”
“ขนิษฐา สุโรพันธ์” แม่น้องต้า สะท้อนถึงความลำบากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ครอบครัวมีรายได้ลดลง แต่ต้องเลี้ยงดูและส่งลูกเรียนพร้อมกันทั้ง 2 คน ทุนการศึกษาที่น้องต้าได้รับสนับสนุนจากทาง กสศ. เดือนละ 7,500 บาท จึงมาช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก
น้องต้าฝันมาตั้งแต่เด็กว่าอยากเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว เมื่อได้รับทุนให้เรียนต่อ ในหลักสูตร ปวส. สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล เขาจึงมุ่งมั่นตั้งใจและพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดทุกอย่าง ตั้งใจว่าหลังจากเรียนจบที่นี่แล้ว ก็จะไปเรียนต่อในระดับปริญญาด้วย
“ขอบคุณมากครับที่ทาง กสศ.ให้โอกาส ทำให้ผมได้เรียนต่อ โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นภาระของครอบครัว ทางวิทยาลัยก็ช่วยดูแลอย่างดี ทั้งอุปกรณ์ การเรียนในวิชาปกติ และการอบรมเสริมทักษะในหลายโครงการสำคัญ”
สุรีรัตน์ ทักษะวสุ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่เล่าว่า นอกจากน้องต้าแล้ว ก็ยังมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษอีก 2 คน ที่ได้รับทุนให้เรียนต่อในหลักสูตรและสาขาเดียวกันในรุ่นแรก ซึ่งปัจจุบันได้งานทำทั้งคู่แล้ว คนหนึ่งทำงานออกแบบกราฟฟิกให้กับบริษัทเอกชน ส่วนอีกคนก็ทำงานด้านกราฟฟิกให้กับเทศบาล อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
ส่วนเด็กที่มีความต้องการพิเศษในรุ่น2 ที่ได้รับทุนจาก กสศ. มีทั้งหมด 8 คน ทุกคนล้วนได้รับการดูแลอย่างดี มีอุปกรณ์การเรียนให้พร้อม นอกจากการสอนในหลักสูตรแล้วก็ยังมีการพัฒนากิจกรรมผู้เรียน ส่งเสริมให้เข้ารับการอบรมเพิ่มทักษะสำคัญในด้านต่างๆ อีกด้วย
และแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทางวิทยาลัยต้องปรับไปเรียนในรูปแบบออนไลน์เป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเด็กๆ ที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ที่มีความตั้งใจอยากเรียนเพื่อที่จะมีอาชีพมีรายได้ “ก้าวข้ามกำแพงข้อจำกัดทางร่างกาย”