จากคนที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะได้มาทำหน้าที่ ‘สร้างคน’ แต่เมื่อโอกาสพามาอยู่บนเส้นทางสายแม่พิมพ์ของชาติ ก็กลับพบว่าความสุขนั้นคือการได้เห็นลูกศิษย์ค่อยๆ เติบโตขึ้นจาก ‘ความไม่รู้’ จนไปสู่ความชำนาญในเส้นทางใดหนึ่ง และพร้อมจะมุ่งมั่นไปต่อบนถนนสายอาชีพที่พวกเขาได้ค้นพบจากช่วงชีวิตในวิทยาลัย
นั่นคือสิ่งที่อาจารย์ ‘พลอย’ พลอยมณี เสริฐกระโทก อาจารย์สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก และอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 หลักสูตร 5 ปี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(สยามเทค) กล่าวไว้ว่า ‘การได้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิษย์สักคน คือความภาคภูมิใจที่สุดแล้วของคนเป็นครู’
ถ้าทำงานอื่นแล้วเก่งก็แค่ตัวเราที่เก่ง แต่ถ้าเราเป็นครูที่เก่ง
ผลของมันจะขยายไปได้อีกหลายเท่า
อาจารย์พลอยเล่าว่าเธอจบการศึกษาชั้น ปวช. และ ปวส. ในสาขามัลติมีเดียที่วิทยายาลัยสยามเทค แล้วเรียนต่อคณะครุศาสตร์ที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่แม้จะจบครูโดยตรง อาจารย์พลอยกลับเลือกทำงานในวิชาชีพอื่นหลังเรียนจบ จนวันหนึ่งที่ครูที่สยามเทคชวนให้กลับมาช่วยสอน เธอยังคิดว่าคงทำเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากช่วงเวลานั้นเองที่เปลี่ยนความคิดของครูพลอย
“ตอนมาช่วยสอน เราคิดกับตัวเองว่าจะทำได้นานสักแค่ไหน เพราะถ้าพูดถึงเนื้องานหรือค่าตอบแทน งานอื่นๆ ตอบโจทย์เราได้มากกว่าอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราได้รับในตอนนั้นมันทำให้เรารู้ว่าเงินไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง งานครูทำให้เราพบตัวเองว่าเรามีความสุขเวลาได้เห็นเด็กๆ เขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลง มันคือความสุขความภูมิใจเมื่อเราได้พัฒนาคนขึ้นมา เหมือนเราได้คำตอบในใจว่าการที่เราทำงานอย่างอื่นแล้วเก่ง มันก็แค่ตัวเราคนเดียวที่เก่ง แต่ถ้าเราเป็นครูที่เก่งได้ สร้างเด็กให้เก่งได้ ผลของมันจะขยายไปได้อีกหลายเท่า ดังนั้นพอมีโอกาสแล้วเลยตั้งใจว่าจะทำให้เต็มที่ เรารู้แล้วว่าเป้าหมายของเราคืออะไร”
“หาสิ่งที่พิเศษในตัวเขาให้เจอ แล้วผลักดันไปให้สุด”
แนวทางการบ่มเพาะลูกศิษย์ของอาจารย์พลอย คือให้ความสำคัญกับ ‘พัฒนาการ’ ของศิษย์เป็นอย่างแรก เพราะเชื่อว่าช่วงวัยของนักเรียนชั้น ปวช. คือย่างก้าวสำคัญที่ควรต้องรู้แล้วว่าตัวเองอยากทำหรืออยากเป็นอะไร
“เรียนสายกราฟิก เขาต้องแม่นเรื่องโปรแกรม แต่บางคนเข้ามาเรียนแล้วยังงงๆ อยู่เลยกระทั่งพื้นฐานง่ายๆ เราก็ต้องปูตั้งแต่ตรงนั้น จนถึงวันที่เขาไม่ใช่แค่ทำได้ทำเป็น แต่ต้องไปไกลถึงขนาดใช้เครื่องมือคล่องพอจะถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ข้างในออกมาได้
“หลักการของเราคือต้องหาสิ่งที่พิเศษในตัวเด็กให้เจอ แล้วผลักดันไปให้สุด คนเราเก่งไม่เหมือนกันแม้จะเรียนสาขาเดียวกัน ในสายกราฟิกเองก็มีงานหลายแขนง คุณจะเป็นนักวาดมือก็ได้ ใช้โปรแกรมดิจิทัลก็ได้ หรือจะทำงานตัดต่อ ทำโฟโต้ชอป เป็นช่างภาพ มันทำได้ทั้งหมด คือในสายกราฟิก มัลติมีเดีย มีงานหลายด้านมากที่รองรับ ฉะนั้นเราจะให้เด็กๆ ได้ลองทุกด้าน เพื่อให้รู้ว่าชอบหรือถนัดอะไร คือไม่ต้องเก่งทุกวิชา แต่พอเริ่มชำนาญวิชาใดแล้วก็ให้มุ่งไปทางนั้นจนสุด วิธีนี้จะช่วยขับศักยภาพในการเรียนและการใช้ชีวิตของเขามากกว่าการต้องฝืนในสิ่งที่ไม่ชอบ เพราะเขารู้เป้าหมายของตัวเองแล้วว่าจะไปทางไหน หรือถ้าเขาไม่ได้ลองทั้งหมด ก็อาจไม่รู้ได้เลยว่าสุดท้ายแล้วตัวเองต้องการอะไรจากการเข้ามาเรียน นี่คือสิ่งที่เราใช้พัฒนาเขา” ครูพลอยกล่าว
เจอความถนัดทางวิชาชีพแล้ว ทักษะชีวิตก็ต้องเติบโตตามกัน
“อย่างที่บอกว่าช่วงวัยของเขาคือหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ดังนั้นนอกจากวิชาการ วิชาชีพ เราต้องเสริมทักษะอื่นที่เขาต้องเอาไปใช้นำพาชีวิตด้วย” อาจารย์พลอยระบุ
“นับแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในวิทยาลัย ลูกศิษย์เราต้องเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิต ใช้เหตุผล รู้จักคิดว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ คือการเรียนกับการใช้ชีวิตมันต้องสัมพันธ์กัน เราจะไม่ผลักดันให้เขาไปทางวิชาการอย่างเดียว แต่เรื่องการใช้ชีวิตเขาต้องเก่งด้วย ต้องคิดเป็น รู้จักตัดสินใจ คือเด็กสมัยใหม่อายุ 15-16 สิ่งที่เขาเจอมันเร็วและหลากหลายกว่าคนรุ่นก่อน เราก็ต้องให้อิสระ แต่ดูแลด้วยความใกล้ชิด มีปัญหาอะไรต้องมาคุยมาบอกกัน แล้วเราจะช่วยแก้ปัญหาไปด้วยกัน”
เบื้องหลังความสำเร็จนักศึกษาทุนฯ ผู้ชนะเลิศงานแข่งขันทักษะระดับชาติถึง 2 คน
ในแนวทางการสนับสนุนลูกศิษย์ให้สุดทาง อาจารย์พลอยจึงพร้อมผลักดันน้องๆ หลายคนที่มีความสามารถโดดเด่น เพื่อขัดเกลาให้ส่องประกายยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมให้ออกไปพบกับสนามแข่งขันที่กว้างใหญ่กว่าแค่ในรั้ววิทยาลัย เช่นที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของน้องทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น 1 ซึ่งไปคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทองอันดับ 1 ในงานประกวดแข่งขันทักษะวิชาชีพ นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สถานศึกษาอาชีวเอกชนระดับชาติ ปี 2562 ในสาขาคอมพิวเตอร์กราฟิกได้ถึง 2 คน
“ความที่มีหน้าที่ทั้งสอนรายวิชาและเป็นครูที่ปรึกษานักศึกษาทุนฯ ด้วย ทำให้เราใกล้ชิดกับเขา เริ่มจากเห็นแววในตัวเขาก่อน พอรู้ว่าเขามีความสามารถก็ต้องดันให้สุด แล้วความเป็นเด็กทุนที่ก่อนหน้านี้เขาอาจจะยังไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง เรายิ่งอยากให้ได้ลอง
“เราใช้เวลาเตรียมตัวก่อนแข่งกันประมาณ 1 เดือน รายการที่เขาลงแข่งมันเป็นการออกแบบโปสเตอร์อินโฟกราฟิก เขาจะมีโจทย์มาให้เป็นข้อความ เราก็แนะนำเขาเรื่องการตีความออกมาเป็นรูปภาพและจัดองค์ประกอบให้สวยงาม คือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราจะบอกเขาว่าถ้าเราคิดวิเคราะห์ มองภาพกว้างได้ เราก็จะสามารถประยุกต์เอาความสามารถออกมาใช้ได้ เรื่องฝีมือเราไม่ห่วงเขา สำคัญคือการพลิกแพลงตีความให้ได้ รับความกดดันในช่วงเวลาจำกัดให้ได้ เรามองว่าความสำเร็จมันมาจากการที่เราให้ใจเขา แล้วเขาสะท้อนกลับด้วยความตั้งใจเช่นกัน สุดท้ายคนหนึ่งก็ทำได้คะแนน 100 เต็ม อีกคนได้ 90 คะแนน ก็ภูมิใจกับเขา”
สำคัญกว่าความสำเร็จคือประสบการณ์
อาจารย์พลอยกล่าวว่า สิ่งที่อยากให้น้องๆ ได้รับคือประสบการณ์ ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าชัยชนะ โดยเฉพาะการได้พบเจอคนที่มีความสามารถจากทั่วประเทศ ได้เห็นสังคมที่กว้างออกไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้น้องๆ ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
“เราไม่อยากให้เขาคิดว่าเป็นคนเก่งแล้ว จากความสามารถที่โดดเด่นแค่ในวิทยาลัย เพราะถ้าเราคิดแค่นั้น ก็จะไม่ได้ออกไปเห็นว่ามีคนเก่งอีกเยอะมาก มีงานสวยๆ ไอเดียดีๆ จากทั่วประเทศ สิ่งนี้เองที่จะทำให้เขารู้ว่าศักยภาพในตัวมีแค่ไหน แล้วต้องพัฒนาอีกเท่าไหร่ เขาต้องเก่งขึ้นด้วยประสบการณ์ของตัวเอง จากสิ่งที่เจอ สิ่งที่ทำ เจอภาวะกดดันจากการทำงานจริงๆ สิ่งนี้เราสร้างให้เขาไม่ได้ ดังนั้นเราจะสอนเขาว่าทุกครั้งที่มีโอกาสให้คว้าเอาไว้ เพราะนั่นคือสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ ส่วนความสำเร็จ ให้ถือว่าเป็นผลพลอยได้จากความตั้งใจฝึกฝนหมั่นเพียรเท่านั้น” อาจารย์พลอยกล่าวปิดท้าย
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค