เมื่อการศึกษาเผชิญหน้า AI: แง่มุมไหนที่การศึกษาไทยต้องเตรียมตัว
โดย : กรกมล ศรีวัฒน์
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด

เมื่อการศึกษาเผชิญหน้า AI: แง่มุมไหนที่การศึกษาไทยต้องเตรียมตัว

จากอดีตถึงปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนโฉมการศึกษา ตั้งแต่เปลี่ยนรูปแบบห้องเรียนจากห้องเรียนพื้นที่จริงเป็นห้องเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้จากการจดในหนังสือหรือสมุดแยกตามรายวิชามาเป็นการจดในแท็บเล็ตหรือเครื่องมือดิจิทัลอื่นๆ หรือกระทั่งการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) ที่พัฒนาจนล้ำหน้าในปัจจุบันย่อมเข้ามาเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนในอนาคต ทั้งด้านดีที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเรียนรู้ พัฒนาทักษะเฉพาะด้านของนักเรียนแต่ละคน และเป็นเครื่องมือบริหารจัดการสถานศึกษาของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในอีกด้านการใช้ AI เพื่อการศึกษาก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาจริยธรรม และขยายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเศรษฐกิจสังคม เนื่องจากความไม่พร้อมทางด้านเทคโนโลยีและบุคลากร

101 เก็บความจากงานสัมมนาวิชาการ ‘AI… มิติใหม่แห่งการเรียนรู้: Empowering Teaching and Learning through AI’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อทำความเข้าใจฉากทัศน์ของการใช้ AI ในการเรียนรู้ เตรียมความพร้อมสมรรถนะทั้งผู้สอนและผู้เรียนท่ามกลางการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงเรียนรู้จากกรณีศึกษาในประเทศไทยที่มีการประยุกต์ใช้ AI

AI เครื่องมือทางการศึกษาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป

ศ.ดร.อานันธา ดูไรอัปพาห์ ผู้อำนวยการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development: MGIFP) ผู้เชื่อมั่นในการเรียนรู้ตามความถนัดของแต่ละบุคคลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่วนรวม รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มและดูแลการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ ชื่อ FramerSpace ได้ฉายภาพปัญหาของระบบการศึกษาผ่านสองรายงานระดับโลก ได้แก่ รายงานความยากจนโลก ธนาคารโลกที่ชี้ว่ามีราว 70% ของเด็กอายุ 10 ปีทั่วโลกที่สามารถอ่านหนังสือและเข้าใจประโยคง่ายๆ ได้ ขณะที่เด็กในโลกอีกกว่า 30% ยังมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ยอมรับไม่ได้ ขณะเดียวกันรายงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ของ UNICEF ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตในวัยเรียน โดยให้ข้อมูลว่าเด็กไทยอายุ 7-19 ปีประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนี้การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สามของวัยรุ่นไทย

จากสองสถิติน่าเศร้า ศ.ดร.อานันธาสะท้อนสาเหตุหลักของปัญหาว่าเป็นเพราะระบบการศึกษาส่วนใหญ่ยังเป็นแบบ one size fit all โรงเรียนออกแบบรูปแบบการเรียนรู้หลักแบบเดียวให้กับนักเรียนทุกคนจนทำให้เด็กที่มีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างมีประสบการณ์ไม่ดีกับการเรียนและอาจจะเสี่ยงต่อการหลุดออกจากการศึกษา อีกทั้งระบบการศึกษายังทำให้ผู้เรียนเป็นผู้ล่า เด็กๆ แข่งขันกันเองผ่านระบบการสอบ ทำให้เด็กเกิดภาวะกดดันตนเองสูงจนนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งการเรียนรู้ลักษณะนี้ไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์การศึกษาตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่ว่าการศึกษาจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่และการเสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน

ศ.ดร.อานันธาได้เพิ่มเติมว่าจากปัญหาทางด้านการศึกษายังคงมีช่องว่างสำคัญที่สามารถใช้เทคโนโลยีเอามาอุดรอยรั่วดังกล่าว เช่น AI ที่มีข้อดีในการสร้างการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน

“AI เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้เราไม่ต้องมาเถียงแล้วว่าจะใช้หรือไม่ใช้ AI เพราะยังไงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี จะมาแบน AI หรือสมาร์ตโฟนก็ไม่ได้แล้ว เรากำลังอยู่ในยุคที่เด็กๆ เกิดมาพร้อมกับโลกดิจิทัล พวกเขาเป็นพลเมืองดิจิทัล” ศ.ดร. อานันธากล่าวและเสริมว่า นักการศึกษาจำเป็นจะต้องระลึกถึงวัตถุประสงค์การใช้ AI ในการศึกษาไว้เสมอว่าใช้สำหรับเสริมศักยภาพผู้เรียนแบบองค์รวมตามแนวคิด CASE เพื่อให้คนได้เติบโตทั้งในด้านความคิด (cognitive) วิชาการ (academic) สังคม (social) และอารมณ์ (emotion) โดยการใช้ AI เพื่อการศึกษา มีขั้นตอนการเตรียมความพร้อม 3 ประการ ดังนี้

1) การเตรียมพร้อมระบบการศึกษา ได้แก่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจระบบอัลกอริทึมของเครื่องมือ AI ที่จะใช้ เรียนรู้วัตถุประสงค์ของการใช้ และผลลัพธ์ของการใช้เครื่องมือ AI รวมไปถึงจะต้องมีการตรวจสอบว่าเครื่องมือ AI ดังกล่าวถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือไม่ เฉกเช่นเดียวกับการตรวจสอบหนังสือเรียนจากผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะใช้ในการเรียนการสอน

2) การเตรียมสมรรถนะของครู ได้แก่ การเตรียมความพร้อมผู้สอนให้สามารถทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของ AI ติดอาวุธเรื่องจริยธรรมต่อการใช้เครื่องมือ AI และรู้วิธีคัดเลือกเครื่องมือ AI ที่จะใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดทั้งกระบวนการ อีกทั้งผู้สอนต้องเตรียมทักษะทางด้านข้อมูล (data literacy) และทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องสมรรถนะทางด้านสังคมและอารมณ์ เข้าใจอารมณ์ตัวเองและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์ให้แสดงออกได้อย่างเหมาะสม

3) การเตรียมสมรรถนะของผู้เรียน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมการเป็นผู้เรียนที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เข้าใจจริยธรรมและรู้เท่าทันการใช้ AI รวมไปถึงมีทักษะและความคล่องแคล่วในการใช้งานด้านคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้การใช้ AI เพื่อการศึกษายังจำเป็นต้องพิจารณากรอบการใช้ AI ทั้งในระยะสั้น ได้แก่ จริยธรรมและไกด์ไลน์ในการใช้ AI ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้เป็นแนวทางการใช้งานที่ตรงกัน และในระยะยาวยังจำเป็นที่จะต้องกลับมาพิจารณาว่าจริยธรรมและไกด์ไลน์ในการใช้ AI ดังกล่าวเพียงพอหรือเปล่า เนื่องจากจากประสบการณ์การทำงานของ UNESCO พบว่าผู้คนมักมีอคติที่เอนเอียงว่าการกระทำของตัวเองถูกจริยธรรม จึงอาจจะต้องติดอาวุธทางด้านหลักคิด (mindset) ทางด้านจริยธรรมเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.อานันธากล่าวถึงความท้าทายของการใช้ AI ว่า ด้วยข้อมูลจำนวนมากที่ถูกเก็บเพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ปัจจุบันผู้ควบคุมยังเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีเพียงไม่แห่ง เพราะฉะนั้นในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย ฯลฯ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้การใช้ข้อมูลดีต่อมวลมนุษยชาติ

AI ในรั้วอุดมศึกษา

ดร.ภัทร์พงศ์ พงศ์ภัทรกานต์ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เริ่มต้นแลกเปลี่ยนในหัวข้อการเปลี่ยนผ่านการศึกษาด้วยปัญญาประดิษฐ์ เรียนรู้อย่างฉลาดและสร้างสรรค์ ‘Transforming Education with AI: Smart and Creative learning’ โดยสะท้อนความเห็นจากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยว่า ปัจจุบันกลุ่มผลงานวิจัยด้าน AI ใน ค.ศ. 2023 มุ่งเน้นเรื่องการศึกษาเป็นอันดับหนึ่งถึง 28% รองลงมาเป็นด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ 20% และด้านวิศวกรรมศาสตร์ 11% ไล่ลงมาตามลำดับ เนื่องจากในมุมมองส่วนตัวการให้ความรู้ด้าน AI แก่นิสิตนักศึกษาจะเป็นการทำงานต้นน้ำที่สามารถเอาไปต่อยอดปลายน้ำในด้านการทำงานในอนาคตของนิสิตนักศึกษา ถือเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมต่อไปและยังเป็นความพร้อมที่เชื่อมโยงกับการทำงานบนโลกยุค BANI world ที่มีความเปราะบาง (brittle) สร้างความกังวล (anxious) สับสนต่อการคาดเดา (nonlinear) ยากเกินเข้าใจ (incomprehensible)

ปัจจุบันมีการพัฒนาหลักสูตรที่มีการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในระดับอุดมศึกษา 4 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ (1) กลุ่มคณิตศาสตร์และสถิติ หัวข้อที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถิติ แคลคูลัส เมทริกซ์ (matrices) เป็นต้น (2) กลุ่มวิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิศวกรรมศาสตร์หัวข้อที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบคอมพิวเตอร์ machine learning การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing) เป็นต้น (3) กลุ่มมนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์หัวข้อที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประมวลผลข้อมูลของมนุษย์ และปัญญาประดิษฐ์ (human information processing and artificial intelligence) จิตวิทยาการรู้คิด (cognitive psychology) การรับรู้ เป็นต้น (4) กลุ่ม AI cluster หัวข้อที่เกี่ยวข้อง อาทิ จริยธรรมและนโยบายการใช้เครื่องมือทางดิจิทัล (ethics and policy issues in computing) advanced machine learning และการตอบสนองระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ (human-AI interaction)

จากรายวิชาดังกล่าว ผู้เรียนสามารถนำความรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์ไปปรับใช้และพัฒนาให้เกิดงานที่มีความสร้างสรรค์ได้หลากหลายประเภท เช่น การสร้างภาพศิลปะผ่านการประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ การจัดการความรู้ การสร้างแชตบอต การสร้างคลิปวิดีโออัตโนมัติ หรือกระทั่งการเชื่อมโยงกับ IoT เพื่อพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะ ฯลฯ นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถนำความรู้ไปต่อยอดเส้นทางอาชีพที่มีการประยุกต์ใช้ AI ได้แก่ วิศวกรปัญญาประดิษฐ์, วิศวกรด้าน machine learning, วิศวกรหุ่นยนต์, วิศวกรคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision engineer), วิศวกรข้อมูล, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, ผู้จัดการด้านการวิเคราะห์ข้อมูล, หัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูล, นักออกแบบโครงสร้าง AI, นักพัฒนาธุรกิจอัจฉริยะ, นักวิจัย เป็นต้น

ไม่เพียงการเรียนรู้ AI จะส่งผลดีต่อผู้เรียน ดร.ภัทร์พงศ์ยังชี้ว่าครูผู้สอนที่ติดอาวุธความรู้เรื่อง AI ก็สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพได้เช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันมีโมเดลในการพัฒนาครูผ่านกระบวนการ e-CLIP (Content and Language Integrated Pedagogy via Electronic Communication System) ซึ่งมีที่มาจาก อ.มนตรี แย้มกสิกร และ อ.สุภาณี เส็งศรี โดยพูดถึงนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสื่อเพื่อการศึกษารูปแบบบูรณาการระหว่างการเรียนการสอนตามสาระผ่านระบบการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์

ฝึกฝนจากโจทย์จริง เตรียมเด็กไทยให้ใช้ AI แก้ปัญหา

“ผมเห็นด้วยว่า AI ไม่ใช่ปีศาจร้าย แต่จะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ทั้งครูและนักเรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจของเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบ” รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบสื่อดิจิทัล นวัตกรรมทางการศึกษาและการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาให้ความเห็น พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในบริบทประเทศไทย

ในช่วงต้น รศ.ดร.ธันยวิชเกริ่นว่า AI จะสามารถเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนของครูไทยได้หลากหลายรูปแบบ โดยยกตัวอย่างจากแอปพลิเคชันที่มีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน CoPilot ที่จะช่วยในการออกแบบหลักสูตร แผนการสอนและกิจกรรม แอปพลิเคชัน SlideAI ที่จะช่วยในการออกแบบและตกแต่งสไลด์การสอนให้น่าสนใจ หรือแอปพลิเคชัน ClassPoint AI ที่จะช่วยออกแบบบททดสอบ ทั้งในรูปแบบข้อสอบปรนัย อัตนัย จับคู่ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น AI ยังสามารถประยุกต์ใช้ในห้องเรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตัวเองให้กับนักเรียน โดยในประเทศไทยมีแอปพลิคชันที่ชื่อ Iphylum ซึ่งเป็นตารางไฟลัมที่นักเรียนจะสามารถเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการใส่ชื่อสิ่งมีชีวิตที่สนใจ และโปรแกรมจะประมวลผลข้อมูลไฟลัมของสิ่งมีชีวิตนั้นและข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงมีแอปพลิเคชันจากต่างประเทศที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ อย่างแอปพลิเคชัน Photomath ที่จะช่วยให้เด็กนักเรียนได้ฝึกการแก้ไขโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ โดยหากติดปัญหาในขั้นตอนใด เมื่อส่งคำตอบกลับมา แอปพลิเคชันจะวิเคราะห์และช่วยเด็กๆ แก้โจทย์ได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันสำหรับฝึกภาษาที่ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก อย่างแอปพลิเคชันอย่าง MEMRISE และ Duolingo

จากแอปพลิเคชันที่มีการประยุกต์ใช้ AI เพื่อการศึกษา รศ.ดร.ธันยวิชยังยกตัวอย่างสองกรณีศึกษาที่มีการปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียนไทยผ่านการเชื่อมโยงโจทย์ในชีวิตจริงที่จะทำให้นักเรียนมีความประทับใจในการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาระดับชุมชน และได้เรียนรู้ทักษะทางด้านการวิเคราะห์ด้วยตรรกะ พร้อมที่จะต่อยอดต่อไปในอนาคต โดยกรณีศึกษาแรกเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things (IoT) เพื่อให้เด็กนักเรียนเรียนรู้บนฐานปัญหาในชั้นเรียนประถมศึกษาคละชั้นเรียนในวิชาหน้าที่พลเมืองและวิชาการงานพื้นฐาน อาชีพ โดยกรณีศึกษานี้ชักชวนเด็กๆ เข้าไปค้นหาปัญหาในชุมชนและนำเทคโนโลยีเข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งเด็กนักเรียนกลุ่มดังกล่าวสนใจปัญหาการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานขนาดเล็ก ในระยะแรกของการทำการศึกษา เด็กๆ จะยังพยายามแก้ปัญหาโดยไม่ใช้เทคโนโลยี เช่น การจัดเวรยามเพื่อตรวจดูชายฝั่ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบปล่อยน้ำได้ จึงหันมาใช้เทคโนโลยีประยุกต์ใช้ AI จนออกมาเป็นต้นแบบเรือดำน้ำจิ๋วจากท่อ PVC ที่ติดเซ็นเซอร์และ GPS เพื่อหาพิกัดจุดที่ปล่อยน้ำเสีย ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ทำให้เด็กได้คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหา และมีแรงบันดาลใจในการใช้ AI ในอนาคต

“การที่จะให้เด็กเล็กๆ เรียน AI ได้ อันดับแรกก็คือต้องให้เขารู้จักทุกข์จากการไม่มี AI ก่อน มันจะทำให้เขาเริ่มตระหนักว่า AI เป็นตัวช่วยตัวหนึ่งที่จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและหลังจากนั้นครูค่อยผนวกเรื่อง AI เข้าไป แต่การที่จะผนวก AI ให้เด็กเห็นภาพก็คือต้องเชื่อมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์ชุมชน ธรรมชาติแวดล้อม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและที่ดีที่สุดก็คือเชื่อมกับการแก้ปัญหาก็จะยิ่งดี และที่สำคัญก็คือต้องเชื่อมกับของที่อยู่ข้างนอกที่เป็น IoT หรือเป็นหุ่นยนต์ที่เด็กจับต้องได้ แล้วเด็กก็จะอินกับมัน” รศ.ดร.ธันยวิชกล่าว

ขณะที่อีกหนึ่งกรณีศึกษาเป็นการใช้ Fabrication Studio AI และ IoT ในการเรียนรู้บนฐานปรากฏการณ์ของนักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมจึงทำให้ชั้นเรียนจะถูกส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการเรียนการสอน โดยเด็กนักเรียนสามารถพัฒนาไอเดียในการสร้างแขนกลที่เคลื่อนไหวได้ และสามารถปรับแรงแขนกลตามน้ำหนักของวัตถุ โดยประยุกต์ใช้เซนเซอร์ Gyroscope ในการสร้างแขนกล

ถกเรื่องความเหลื่อมล้ำ โจทย์สำคัญของการประยุกต์ใช้ AI เพื่อการศึกษา

แม้ว่าการใช้ AI เพื่อการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ความท้าทายเรื่องความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน อินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์ดิจิทัลยังคงมี โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดาร ศ.ดร.อานันธาให้ความเห็นว่า UNESCO เห็นปัญหาของงบสนับสนุนเรื่องนี้ที่ได้รับจากภาครัฐค่อนข้างน้อยจึงมีความพยายามที่จะทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นผ่านการกำหนดตัวชี้วัดความพร้อมทางด้านดิจิทัล เพื่อจะสะท้อนภาพจริงในแต่ละประเทศ และกำหนดเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณที่รัฐควรจะจัดสรรเพื่อเพิ่มสมรรถนะของครูและนักเรียน พร้อมกับชี้ว่าปัจจุบันบทบาทการสนับสนุนการใช้ AI เพื่อการศึกษาจะอยู่ที่ภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานระหว่างประเทศที่ช่วยกันส่งเสริมการศึกษาเพิ่มมากขึ้น สำหรับประเทศไทยที่มีรัฐบาลใหม่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนจะเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณและมีสัญญาประชาคมเพื่อการศึกษา เพื่อสร้างหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลัง

ขณะที่ รศ.ดร.ธันยวิช สะท้อนในอีกแง่มุมว่าในความคิดเห็นส่วนตัวมีความหวังน้อยมากที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และคงต้องพึ่งตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะเริ่มจากการที่ครูหรือนักการศึกษานำเสนอข้อดี ความคุ้มค่า และประโยชน์ของ AI ในการพัฒนาสมรรถนะนักเรียน เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายมองเห็นประโยชน์ในปลายทาง ทั้งยังเสนอว่าประเทศไทยมีกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งในการขอสนับสนุนงบประมาณสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งยังชี้ว่ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาก็เป็นอีกตัวละครสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กผ่านการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม

สำหรับประเด็นการใช้ AI ลดความเหลื่อมล้ำในชั้นเรียนระดับอุดมศึกษา ดร.ภัทร์พงศ์ สะท้อนบทบาทของ AI ในการลดความเหลื่อมล้ำในชั้นเรียนว่า สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเนื้อหา เมื่อผู้สอนเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช เพื่อแนะนำแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมที่ทันสมัยและหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ เมื่อนักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการสอน เพราะครูก็จะสามารถออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน โดยที่สามารถปรับตามจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละคนได้

ในช่วงสุดท้ายของการสนทนา ยังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านสมรรถนะครูที่ยังคงมีความสามารถในการสร้างสื่อการเรียนการสอนที่จำกัด รศ.ดร.ธันยวิชให้ความเห็นว่าจริงๆ แล้วจะโทษครูผู้สอนก็ไม่ได้ เนื่องจากหลักสูตรการใช้ AI เพื่อการศึกษาไม่ได้อยู่ในหลักสูตรของคณะคุรุศาสตร์ แต่มองว่าคุรุสภา หน่วยงานส่วนกลางที่เป็นเสมือนบ้านหลังใหญ่ของครูผู้สอนน่าจะมีส่วนในการชักชวนให้มีการออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสม โดยอาจจะขอความร่วมมือจากผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI ไทยที่จะมาช่วยพัฒนาหลักสูตรและโปรแกรมสื่อการเรียนการสอนดังกล่าว ถือว่าเป็นการใช้องคาพยพหรือนิเวศรอบนอกเอื้อหนุนให้ครูมีความรู้ในการใช้ AI ในการจัดการเรียนการสอน ในขณะที่อีกทาง บทบาทของกระทรวงศึกษาธิการก็สามารถบรรจุหลักสูตรให้กับศึกษานิเทศก์ (supervisor) เพื่อให้เป็นผู้ชี้แนะแนวทางและเชื่อมนโยบายไปสู่ครูผู้ปฏิบัติได้ในระยะยาว

“ผมอยากจะเน้นย้ำเรื่องที่สำคัญคือ อย่าเพิ่งกลัวคำว่า AI เราต้องระลึกไว้เสมอว่าเป้าหมายของการศึกษาคืออะไร เป้าหมายของการศึกษาคือการทำให้มนุษยชาติงอกงาม วันนี้เราคุยกันเยอะมากว่าเราหลีกเลี่ยง AI และแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ได้ เราจึงจะต้องออกแบบการใช้วิทยาศาสตร์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ AI เข้ามาช่วยให้เราไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางด้านการศึกษา คือการทำให้มนุษยชาติงอกงาม โดยที่ระหว่างทางนั้นต้องอาศัยความร่วมมือกันของสหวิชาชีพที่จะเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยมี AI เป็นตัวช่วย นอกจากนี้เราต้องสร้างหลักคิดด้านจริยธรรมในผู้เรียน แล้วเราจึงจะรู้ว่าจะสามารถใช้ AI ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างไร และมันจะทำให้เราใช้ AI ไปสู่จุดที่เราไม่เคยไปถึงมาก่อน” ศ.ดร.อานันธากล่าวปิดท้ายการเสวนาวิชาการ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world