งานหัตกรรมและงานประดิษฐ์ของกลุ่มสตรีไทย นับว่าเป็นงานฝีมือที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มสตรีในหลายพื้นที่จึงได้รวมตัวกันนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่ตนมีมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายเช่นเดียวกับจังหวัดปทุมธานี ที่มีงานหัตถกรรมปักสไบมอญที่เป็นความหวังในการสร้างอาชีพของคนในชุมชน
งานหัตถกรรมปักสไบมอญ ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในจังหวัดปทุมธานี เพราะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการอพยพย้ายถิ่นของชาวมอญมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ทำให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะถิ่นอันหลากหลาย โดยมีสไบมอญ เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สำคัญ มีเรื่องเล่าสู่กันฟังว่า สมัยก่อนคนมอญจะออกไปทำบุญหรือไปร่วมเทศกาลต่างๆ จะต้องห่มสไบทุกครั้งเพื่อแสดงถึงความเคารพสถานที่ และด้วยเอกลักษณ์ของลายผ้า ที่ประกอบลวดลายอ่อนช้อย เช่น ลายดอกไม้ ใบไม้ขอบสไบเป็นลายคลื่น ผสมกับสีสันของด้ายที่หลากหลายและการปักมือที่ไม่เหมือนใคร ทำให้สไบมอญเป็นตัวแทนของอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่คู่ควรต่อการสานต่อและรักษา
เมื่อมีคนมองเห็นคุณค่า จึงเกิดการสานต่อ บริษัท มี เทรดดิ้ง คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด องค์กรผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการฝึกอาชีพและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ได้สนับสนุนให้เกิด ‘โครงการการยกระดับกลุ่มสตรีสร้างโอกาสผ่านการพัฒนาสไบมอญสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดปทุมธานี’ ที่ช่วยผลักดันกลุ่มเป้าหมายสำคัญอย่างแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงานในชุมชนและผู้ด้อยโอกาส ตำบลบ้านกลาง จังหวัดปทุมธานี สร้างอาชีพให้เกิดรายได้จากอัตลักษณ์ในชุมชนของตัวเองต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีเรื่องราว (Storytelling) นอกจากนี้โครงการยังได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ วัดโบสถ์ ชมรมเรารักษ์วัฒนธรรมวัดโบสถ์ และตลาดริมน้ำ วัดโบสถ์ ที่เข้ามาช่วยให้การทำกิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
โครงการฯ มีหลักสูตรที่ได้รับการออกแบบอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การสอนให้ชาวชุมชนรู้จักการทำสไบมอญ เรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมเพื่อสร้างความหมายให้งานหัตถกรรมได้ และที่สำคัญเมื่อมีผลิตภัณฑ์แล้วก็ต้องมีที่ขาย โครงการฯ ได้สอนถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสร้างพื้นที่การขายออนไลน์ขึ้นมาเพื่อเพิ่มโอกาสทางรายได้ ทันสมัยและใช้งานได้จริง โครงการนี้จึงไม่ได้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาเพื่อจะฝึกอาชีพ แต่เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างชีวิต สร้างทุนมนุษย์ให้กับชุมชน ผ่านการอบรมที่เข้มข้นในหลายหัวข้อโดยวิทยากรที่มีคุณภาพ ทั้งจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ จากสถาบันส่งเสริมศิลปะระดับชาติ พร้อมทั้งนำเอาเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไปเพิ่มมูลค่าทางการค้าและสร้างพื้นที่การค้าทั้งในตลาดทางการค้า และตลาดทางโลกออนไลน์
“โครงการฯ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อฝึกอาชีพอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต สร้างความเท่าเทียมให้กับคนในชุมชน ทำให้เราเข้าถึงโอกาส เห็นทางในการพัฒนาสิ่งที่เรามีอยู่ ทำให้ต้นทุนของพวกเราไม่สูญเปล่า” คำกล่าวหนึ่งจากผู้เข้าร่วมโครงการฯ
สำหรับอนาคต หน่วยงานพัฒนาอาชีพมุ่งหวังที่จะเห็นการรวมกลุ่มชุมชนสร้างอาชีพสร้างสรรค์ การที่ชุมชนเพิ่มมูลค่าให้กับต้นทุนที่มีอยู่ได้ และชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะทั้งสามสิ่งนี้เป็นเครื่องการันตีได้ว่าพวกเขาได้เข้าถึงโอกาสและมีชุมชนเป็นฐานที่แข็งแรงที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปได้อย่างยั่งยืน
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การยกระดับกลุ่มสตรีสร้างโอกาสผ่านการพัฒนาสไบมอญ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดปทุมธานี
บริษัท มี เทรดดิ้ง คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด
- โทร: 089-065-2112
- ผู้ประสานงาน: นายวรรธนสกล รักปทุม
เป้าประสงค์
การจัดกิจกรรมให้กับผู้ด้อยโอกาสให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างองค์ความรู้ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความร่วมมือ และทำให้เกิดการลดอคติที่สังคมมีต่อผู้ด้อยโอกาส กิจกรรมที่จัดขึ้นมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างเข้าใจ เข้าถึง และการพัฒนาสู่ความมั่นคงของทุนมนุษย์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน และใช้นวัตกรรมมาประสานให้มีประสิทธิภาพ
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส