‘ไผ่’ พืชที่ให้ผลผลิตรวดเร็วและสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ไผ่จึงเป็นพืชที่เหมาะแก่การต่อยอดและเปรียบเสมือนแหล่งความหวังใหม่ของเกษตรกรยุคนี้ ความหวังนั้นตรงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในบ้านแม่ยางส้าน หมู่ที่ 8 ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นชุมชนของชาวปกาเกอะญอดั้งเดิมที่มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ ชาวชุมชนเกือบทั้งหมดจึงประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร แต่เมื่อเวลาผ่านไปทำให้ชุมชนเริ่มมีการแลกเปลี่ยนและพึ่งพาภายนอกมากขึ้น รวมถึงเกษตรกรหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถหลุดพ้นวงจรหนี้สินและเพิ่มการทำลายพื้นที่ป่าที่เคยอนุรักษ์กันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ‘ไผ่’ จึงเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่จะเข้ามานำร่องเปลี่ยนแปลงชุมชนแห่งนี้
มูลนิธิไทยรักษ์ป่า มองเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาชุมชน จึงก่อตั้ง ‘โครงการการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพกลุ่มวิสาหกิจไผ่’ เพื่อส่งเสริมการปลูกไผ่และทำให้บ้านแม่ยางส้านเป็นพื้นที่นำร่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 50 คน โดยมาจากพื้นที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกัน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลท่าผา สำนักงานเกษตรอำเภอแม่แจ่ม และกลุ่มวิสาหกิจไผ่เงินล้าน บ้านแม่ยางส้าน
นอกจากนี้อีกหนึ่งเหตุผลที่มูลนิธิสนใจจะเข้ามาพัฒนาชุมชน เพราะเห็นว่าแม้ชุมชนจะต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ส่วนหนึ่งของพวกเขาก็ยังคงรักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมเดิมของตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะมีพวกเขารียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้น และมีความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้กลับไปอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล
โครงการฯ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับ ‘กลุ่มวิสาหกิจไผ่เงินล้าน บ้านแม่ยางส้าน’ ต้นทุนทางอาชีพเดิมที่ชุมชนมีอยู่ ให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น ที่เด่นชัดที่สุดคือการส่งเสริมให้พวกเขามีองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกไผ่มากกว่าเดิม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด ผ่านการจัดอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญและภาคีเครือข่ายที่โครงการมี โดยมุ่งหวังตั้งแต่ต้นทางอย่างกระบวนการปลูกไผ่ที่ไม่ก่อให้เกิดการรุกล้ำผืนป่า ผ่านการปลูกพืชที่หลากหลายและเกื้อกูลกัน การเพาะพันธุ์ การจัดการกับไผ่เช่น การตัด การแช่น้ำ และการเผาไม้ไผ่ ไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น การทำหลังคาจากไม้ไผ่ การทำเฟอร์นิเจอร์อย่างแคร่และเตียงไม้ไผ่ รวมถึงของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแก้วน้ำ ช้อน และหลอด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชนในอนาคต
‘เราเชื่อว่าหากชาวชุมชนพร้อมมากเท่าไรก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้มากเท่านั้น ทั้งยังเป็นการช่วยกันรักษาผืนป่า แหล่งสร้างรายได้ของพวกเราเอาไว้ ส่งต่อให้ลูกหลานทำกินต่อไป โดยยึดหลักแนวคิดที่ว่า คนอยู่ได้ ป่าก็อยู่ได้ พวกเราก็มีความมั่นคงในระยะยาว มีกระบวนการบริหารรายได้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้ด้วยตัวเอง” หนึ่งในสมาชิกโครงการฯ กล่าว
ในภายภาคหน้าแม้โครงการฯ จะสิ้นสุดการอบรมแล้ว แต่ถ้าชุมชนยังมีจุดหมายร่วมกันคือความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเกษตรกรรมแบบผสมผสาน มีภูมิปัญญาดั้งเดิมในการรักษาและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และที่สำคัญคือมีโอกาสเข้าถึงการพัฒนา สิ่งเหล่านี้จึงประกอบกันเป็นการต่อยอดที่สำคัญให้กับชุมชนต่อไป เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากคุณภาพชีวิตที่ดีและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการลงมือทำจริงของพื้นที่นำร่องนี้ สู่การสร้างแรงจูงใจในการขยายความต้องการเข้าร่วมโครงการฯ ของคนอื่น ๆ ในชุมชน และเป็นต้นแบบในการนำไปเป็นแนวทางให้กับชุมชนข้างเคียงที่ประสบปัญหาในบริบทที่คล้ายกันได้
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพกลุ่มวิสาหกิจไผ่
มูลนิธิไทยรักษ์ป่า
- โทร: 02-998-5138
เป้าประสงค์
1.ชาวบ้านมีความรู้ ทักษะ และความสามารถในการบริหารจัดการไม้ไผ่และแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการของตลาด มีรายได้จากการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต
2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีแผนงานและการบริหารจัดการในการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส