ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวอินทรีย์เป็นลำดับแรกของประเทศด้วยต้นทุนทางความรู้ของชุมชนที่ถนัดปลูกข้าวด้วยวิถีของเกษตรอินทรีย์ โดยนิยมปลูกข้าวเหนียวมากที่สุด เกษตรกรมักจะปลูกข้าวเหนียวไว้เพื่อบริโภคในชุมชน เมื่อมีเหลือแล้วจึงจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้
แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ได้มีคำถามเกิดขึ้นนั่นคือ “ในเมื่อเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารโลกในปัจจุบัน กำลังหันหน้าไปทางอาหารปลอดภัย สินค้าปลอดสารกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก แล้วทำไม เกษตรกรยังขายข้าวอินทรีย์ได้ในราคาเดิม?” คำตอบของคำถามข้างต้นคือ เกษตรกรยังขาดความรู้และเครื่องมือในการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และไม่มีตลาดในการจัดจำหน่ายข้าวเหนียวอินทรีย์ จึงทำให้ต้องจำหน่ายข้าวเหนียวอินทรีย์ ในลักษณะของข้าวเปลือกและข้าวสารเสมอมา รวมไปถึงยังไม่มีการสร้างมาตรฐานสินค้าในระดับสากล จึงทำให้ยังไม่สามารถยกระดับข้าวเหนียวอินทรีย์ไปอีกขั้นจนจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้นได้
ทางคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาทักษะแรงงานสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรข้าวรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอล” ในปีที่ผ่านมา โดยจากโครงการครั้งที่แล้วสามารถทำให้เกษตรผู้ปลูกข้าวเหนียวอินทรีย์ มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการลดต้นทุนในการทำการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพของเกษตรกร แต่เนื่องด้วยปัจจัยที่หลากหลาย จากทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในภาพใหญ่หยุดชะงักซึ่งส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร และปัญหาในกระบวนการผลิตของเกษตรกร
ส่งผลให้โครงการฯ นี้กลับมาอีกครั้งในชื่อว่า “โครงการการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการที่ใฝ่เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรมชุมชน” สำหรับการจัดทำโครงการต่อยอดในครั้งนี้ ทางคณะผู้จัดทำจึงได้มีการวางแผนหลักสูตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร ด้วยการออกแบบหลักสูตรอบรมให้ครอบคลุม ทั้งการพัฒนาการทำการเกษตรอินทรีย์ องค์ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และเสริมทักษะการจำหน่ายสินค้าในออนไลน์อย่างเข้มแข็ง เพื่อผสมผสานเทคโนโลยีนวัตกรรมกับอัตลักษณ์ของชุมชนให้สอดคล้องกัน
ก่อนจะออกมาเป็นเนื้อหาการอบรมที่หลากหลายและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่สนใจโดยเฉพาะ ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเหนียวเพื่อเข้าสู่มาตรฐานการผลิตโดยการผสมผสานระหว่างการใช้นวัตกรรมและฐานทรัพยากรที่มีอยู่ การขออนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการอาหารที่มีมาตรฐาน และการพัฒนาทักษะการจัดจำหน่ายสินค้าด้วยแพลตฟอร์มดิจิตัล
และเมื่อโครงการสิ้นสุดลงทางโครงการฯ คาดหวัว่ากลุ่มเป้าหมายจะสามารถมีรายได้เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 สามารถยกระดับข้าวเหนียวให้เป็นที่ต้องการของตลาด มีการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น 2 ผลิตภัณฑ์ และมีการจัดจำหน่ายผ่านตลาดดิจิตัลผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่น่าสนใจตามขีดความสามารถของกลุ่มเป้าหมาย และหลายเป็นแหล่งเรียนรู้นวัตกรรมการผลิตที่เป็นมาตรฐาน นอกจากนี้ทางผู้จัดทำยังมีแผนในการจัดทำการประชาสัมพันธ์ให้กลายเป็นโครงการที่เป็นกรณีศึกษาในลำดับถัดไป เพื่อผลักดันให้ข้าวอินทรีย์ และเกษตรกรผู้ผลิตข้าวเหนียวอินทรีย์โด่งดังไปไกลทั่วโลก
โครงการต่อยอดในครั้งนี้ ทางคณะผู้จัดทำจึงได้มีการวางแผนหลักสูตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร ด้วยการออกแบบหลักสูตรอบรมให้ครอบคลุม ทั้งการพัฒนาการทำการเกษตรอินทรีย์ องค์ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และเสริมทักษะการจำหน่ายสินค้าในออนไลน์อย่างเข้มแข็ง
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการที่ใฝ่เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรมชุมชน
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
- โทร: 091-5166917
- ผู้ประสานงาน: นางสาวเปรมฤดี จิตรเกื้อกูล
เป้าประสงค์
1.ได้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเหนียวที่ได้มาตรฐาน 2 ผลิตภัณฑ์
2.ได้แหล่งเรียนรู้นวัตกรรมการผลิตที่เป็นมาตรฐาน 1 แหล่ง
3.ได้นวัตกรรมทางช่องทางการตลาดและพัฒนาทักษะการจัดการทางการตลาด เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้แก่ชุมชน
4.ยกระดับทักษะการบริหารจัดการชีวิตในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
5.กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นจากก่อนที่จะดำเนินโครงการ ร้อยละ 10
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส