ชุมชนบ้านช่องฟืน ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง บริเวณทะเลสาบสงขลา รายล้อมด้วยระบบนิเวศสามน้ำ ได้แก่ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก มีผลผลิตสัตว์น้ำที่แตกต่างกันในแต่ละฤดู โดยใช้อุปกรณ์จำพวกแห อวน และไซ (ลอบ) ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นบ้าน ทำมาหากิน
ผลผลิตที่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้ ถือว่าเป็นผลผลิตที่ปลอดภัย เพราะเป็นผลผลิตจากการประมงด้วยเครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังรู้แหล่งที่มาของสัตว์น้ำชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นการประมงที่มีความรับผิดชอบต่อท้องทะเล ยิ่งไปกว่านั้นชาวประมงพื้นบ้านยังใส่ใจด้านการอนุรักษ์และเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้วยการขยายพื้นที่อนุรักษ์ไปยังชุมชนใกล้เคียง และมีการรวมกลุ่มปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำมากกว่า 4 ครั้ง/ปี
เมื่อผลผลิตสัตว์น้ำมีจำนวนมาก ชาวประมงพื้นบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อหาวิธีจัดการผลผลิตด้วยตนเอง ผ่านการแปรรูปอาหารทะเลอย่างมีมาตรฐาน ภายใต้สถานะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาทะเลสาบ จังหวัดพัทลุง ซึ่งส่งเสริมให้ชาวประมงรู้จักจัดการผลผลิตของตน เพื่อป้อนสู่ ‘ตลาดทางเลือกใหม่’ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลผลิตสัตว์น้ำไร้สารเคมีตกค้าง โดยยึดหลัก ‘สด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารฟอร์มาลีน’ ในราคาที่เป็นธรรมทั้งต่อชาวประมงและผู้บริโภค โดยมีผลิตภัณฑ์แปรรูป 5 ชนิด ได้แก่ กุ้งแห้ง กุ้งหวาน ปลาบุตรี (ขี้เก๊ะ) เค็มแห้ง น้ำพริกกุ้งแห้ง และ กุ้งแห้งคั่วสมุนไพร ซึ่งส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพียงพอสำหรับดำรงชีวิต
ทว่า เมื่อประเทศไทยประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมก็เปลี่ยนไป กลุ่มวิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาทะเลสาบ จังหวัดพัทลุง ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับผลกระทบในมิติต่างๆ จากนโยบายต่างๆ ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนขาดรายได้กะทันหันโดยไม่มีแผนใดๆ มารับมือ
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงผลักดันเป็น “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการตลาดดิจิทัล สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาทะเลสาบสงขลา” เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ควบคู่กับการพัฒนาทักษะการแปรรูปอาหารทะเล ให้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 69 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาทะเลสาบ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตลาดในสถานการณ์ปัจจุบัน ให้เกิดรายได้ที่เพียงพอสำหรับพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
คณะทำงานเริ่มพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เริ่มจากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่มีอยู่แล้ว 5 ชนิด ให้มีภาพลักษณ์ใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากกุ้งหัวมัน ซึ่งเป็นกุ้งสามน้ำ (น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม) ได้แก่ คางกุ้งหัวมันอบกรอบ ผงปรุงรสกุ้งหัวมัน ข้าวเกรียบกุ้งหัวมัน และน้ำซอสปรุงรสจากกุ้งหัวมัน ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือรักษาคุณภาพอาหารทะเลแปรรูปที่ได้มาตรฐาน ซึ่งการเสริมสร้างทักษะดังกล่าว มาจากความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดพัทลุง และ สำนักงานประมงจังหวัดพัทลุง เป็นต้น
นอกจากทักษะข้างต้นแล้ว คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการตลาดออนไลน์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก และแอปพลิเคชั่นต่างๆ ผสานกับการประชาสัมพันธ์แบรนด์ ‘ร้านคนจับปลาทะเลสาบ จังหวัดพัทลุง’ ให้ผู้บริโภครู้จักและจดจำ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายบริหารธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ คณะทำงานหวังว่า ทักษะดังกล่าวข้างต้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของกลุ่มเป้าหมาย และยกระดับการประกอบอาชีพที่สอดรับกับต้นทุนในชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปชนิดใหม่ๆ ในอนาคต ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ (New Normal) ที่แตกต่างจากสถานการณ์ในอดีตได้
ผลผลิตที่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้ถือว่าเป็นผลผลิตที่ปลอดภัย เพราะเป็นผลผลิตจากการประมงด้วยเครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังรู้แหล่งที่มาของสัตว์น้ำชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นการประมงที่มีความรับผิดชอบต่อท้องทะเล
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการตลาดดิจิทัล สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาทะเลสาบสงขลา
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- โทร: 086-7467004
- ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิติยา ศรีพูล
เป้าประสงค์
- ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 69 คน ภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาทะเลสาบ จังหวัดพัทลุง มีทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่พร้อมและเหมาะสมต่อการจำหน่ายแบบออนไลน์
- ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 69 คน ภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาทะเลสาบ จังหวัดพัทลุง มีทักษะในการจัดการผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำตามแบบจำลองธุรกิจครบวงจร (Business Model Canvas)
- ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 69 คน ภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาทะเลสาบ จังหวัดพัทลุง มีอาชีพและรายได้จากการจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป โดยมีรายได้ไม่น้อยกว่า 12,000 บาท ต่อเดือน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส