ชุมชนหมู่ที่ 2 3 และ 4 ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล มีกลุ่มด้านอาชีพต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่จัดตั้งเพื่อสร้างอาชีพด้านเกษตรกรรม ทั้งการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ และเพื่อส่งเสริมอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เสริมในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูทำนาและหลังการเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มกองทุนเงินล้าน กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงแพะ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงผึ้งโพรง และ ฯลฯ ซึ่งทุกกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมีปัญหา เพราะเมื่อหมดงบประมาณสนับสนุน หน่วยงานที่เคยจุดประกายโครงการขึ้นก็หยุดการต่อยอด ทำให้กลุ่มต่างๆ ไม่สามารถดำเนินงานต่อได้
สืบเนื่องจากประเด็นการหยุดชะงักของโครงการต่างๆ กลายเป็นกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มของชุมขึ้นใหม่อีกครั้ง ในชื่อ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคนสร้างอาชีพ จังหวัดสตูล ซึ่งเมื่อชุมชนเป็นคนคิดเอง ริเริ่มเอง ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้าแล้ว ก็จะทำให้คนในชุมชนสามารถขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ได้ต่อไป แม้จะไม่มีทุนเข้ามาสนับสนุนแล้วก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคนสร้างอาชีพ จึงจัดทำ “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพวิถีชุมชน” ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาวิธีคิดและวิธีทำงาน เพื่ออุดช่องว่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มต่างๆ ในอดีต ผ่านการพัฒนาอาชีพให้คนในชุมชนเป็นหลัก และคัดสรรผู้มีความรู้ในชุมชน มาต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ
ทว่า การพัฒนาอาชีพซึ่งเป็นหัวใจหลักของโครงการดังกล่าว ไม่สามารถที่จะเลือกพัฒนาเฉพาะสมาชิกฐานรากจากกลุ่มที่เคยมีแต่เดิมเท่านั้น เนื่องจากคณะทำงานเชื่อมั่นว่ากลุ่มเพื่อการพัฒนาอาชีพ ต้องพัฒนาอาชีพให้กับทุกคนที่สนใจ ไม่ว่าใครก็ควรได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกระบวนการเพิ่มทักษะและพัฒนาอาชีพเช่นกัน จากเหตุผลดังกล่าว คณะทำงานจึงได้วางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 100 คน จากพื้นที่ทั้งสามชุมชน
วิธีการดำเนินงานของโครงการ จะใช้การอบรมเชิงปฏิบัติการและมุ่งเน้นที่กลุ่มอาชีพช่างเป็นหลัก ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ไม่ค่อยมีใครจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะการเชื้อเชิญคนแปลกหน้าเข้าบ้าน เป็นการเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 คณะทำงานจึงต้องคิดค้นหาวิธีพัฒนาอาชีพด้านนี้ ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเบื้องต้นนั้น การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งแรก จะเป็นการเสริมความรู้ด้านกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานช่างในแต่ละสาขา จากนั้นค่อยแยกเป็นการอบรมทักษะอาชีพในด้านต่างๆ ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การอบรมเกี่ยวกับการประกอบติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์และการสั่งการ และการควบคุมการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถทำงานด้วยระบบสมาร์ต ในสายงานช่างไฟฟ้า โดยกระบวนการทั้งหมดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย อาทิ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดสตูล กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร จังหวัดสตูล และสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ เป็นต้น
หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ทักษะอาชีพที่กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ จะช่วยให้พวกเขามีภูมิคุ้มกันที่ดี และสามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปประยุกต์เพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ต้องกังวลว่า เมื่องบประมาณหมดไป กระบวนการต่างๆ จะหยุดชะงักซ้ำรอยเดิม เนื่องจากพวกเขามีความพร้อม และความสามารถที่จะขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ต่อไปได้ด้วยตนเอง
การหยุดชะงักของโครงการต่างๆ เมื่อหมดงบประมาณสนับสนุน กระตุ้นให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มของชุมชน ในชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคนสร้างอาชีพ จังหวัดสตูล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาวิธีคิดและวิธีทำงาน เพื่ออุดช่องว่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มต่างๆ ในอดีต
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะอาชีพวิถีชุมชน
วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคนสร้างอาชีพ จังหวัดสตูล
- โทร: 084-6338442
- ผู้ประสานงาน: อากาฉ๊ะ กาเส็มสัน
เป้าประสงค์
- กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจในทักษะอาชีพ
- กลุ่มเป้าหมายมีทักษะแรงงานตามมาตรฐาน
- ทราบข้อมูลกลุ่มอาชีพของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย
- ทราบประเภทกลุ่มเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะอาชีพ
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส