กะปิ เป็นเครื่องปรุงรสอย่างหนึ่งที่แพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศไทยเองก็เช่นกัน กะปิกลายเป็นเครื่องปรุงรสที่มีทุกภูมิภาค แตกต่างกันเพียงแค่กระบวนการผลิต รสชาติ สีสัน และกลิ่น
กะปิท่าเคยมีชื่อเสียงในฐานะกะปิระดับพรีเมียม เกิดขึ้นจากกลุ่มสตรีผลิตกะปิตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกระบวนการผลิตที่อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการหมักเคยเป็นเวลา 6 เดือน-2 ปี ทำให้กะปิมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ ผิวสัมผัสนุ่มละเอียด สีอมชมพู และมีรสชาติเข้มข้น อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตกะปิยังประสบปัญหา โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่สามารถจับเคยได้มาก แต่ไม่มีแดดให้ตาก ทำให้กะปิไม่ได้มาตรฐานที่ตั้งเอาไว้
ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาวประมง เมื่อพวกเขาต้องประสบกับมาตรการเคอร์ฟิวจำกัด ไม่สามารถนำเรือออกจากฝั่งได้ รายได้ก็ลดเหลือ 2,000-3,000 บาทต่อครัวเรือน ก่อเกิดปัญหาเรื้อรังที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาค หากไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล็งเห็นความสำคัญของผลกระทบจากปัญหาข้างต้น ต่อภาคเกษตรกรรมและอาหารของประเทศไทย จึงริเริ่ม “โครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้สู่การส่งเสริมอาชีพโดยชุมชนเป็นฐาน ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี” เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้และโอกาสด้านอาชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดรับกับความต้องการของแรงงานต่างถิ่นที่ย้ายกลับบ้านอีกด้วย โดยพยายามลดปัจจัยการผลิตจากภายนอก เน้นตลาดในชุมชนและตลาดในประเทศเป็นหลัก
โดยทางโครงการฯ ได้มีการสำรวจร่วมกับภาคีเครือข่ายถึงสภาพปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน จนพบว่า กลุ่มเป้าหมายต้องการพัฒนาและยกระดับกะปิให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงปรับปรุงบรรจุภัณฑ์และฉลากต่าง ๆ ให้ถูกตาต้องใจผู้บริโภค นอกจากนี้ คณะทำงานวางแผนที่จะควบคุมมาตรฐานการผลิตของกลุ่มเป้าหมายให้มีมาตรฐานเดียวกัน ควบคู่กับการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ่านการแปรรูปวัตถุดิบจากการประมงพื้นบ้านในรูปแบบใหม่ อาทิ กะปิผง กะปิอัดก้อน หรือกุ้งแห้ง ปลาแห้ง ไปจนถึงการผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง
ทั้งนี้ กระบวนการในการเสริมสร้างองค์ความรู้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเช่นนี้ จะอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีศักยภาพที่พร้อมผลักดันการพัฒนา ผ่านกระบวนการวิจัยและงานวิชาการ ที่สนับสนุนโดยอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาที่มีองค์ความรู้พรั่งพร้อม อีกทั้งยังมีเครื่องมือ อุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการครบครัน ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกมากมาย อาทิ สภาเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมพลังงาน วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นต้น
จากการร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่มีศักยภาพครบองค์ประกอบ จะช่วยผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายพัฒนาอาชีพ และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการตลาด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักสูตรที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจในชุมชนแล้ว สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็จะเกิดการ ส่งเสริมกระจายอาหารโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง สู่การที่ชุมชนมีภูมิต้านทานที่เข้มแข็ง สามารถเผชิญหน้ากับวิกฤติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงโควิด-19 เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปในอนาคต
กะปิท่าเคยมีชื่อเสียงในฐานะกะปิระดับพรีเมียม เกิดขึ้นจากกลุ่มสตรีผลิตกะปิตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกระบวนการผลิตที่อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการหมักเคยเป็นเวลา 6 เดือน-2 ปี ทำให้กะปิมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และมีรสชาติเข้มข้น
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนากระบวนการเรียนรู้สู่การส่งเสริมอาชีพโดยชุมชนเป็นฐาน ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- โทร: 081-1877339
- ผู้ประสานงาน: ดร.นรา พงษ์พานิช
เป้าประสงค์
- ได้ฐานข้อมูลชุมชน ในด้านสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ
- กลุ่มชุมชนที่ได้การส่งเสริมทักษะอาชีพ สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่า และขยายช่องทางการตลาด และการบริหารจัดการเศรษฐกิจชุมชน
- ผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีอายุการเก็บรักษาและคุณภาพเพิ่มขึ้น มีอย่างน้อย 3 ผลิตภัณฑ์
- กลุ่มชุมชนมีการจัดการความปลอดภัยอาหาร ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
- ช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ช่องทาง
- กลุ่มชุมชนมีแนวทางในการจัดการเศรษฐกิจครัวเรือนและการจัดการหนี้สิน เช่น บัญชีครัวเรือน การวางแผนการเงิน การออม การวางเป้าหมายทางการเงิน การจัดการรายรับ-รายจ่าย การจัดการหนี้สิน เป็นต้น
- มีหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณค่ามาตรฐานการผลิต และสุขลักษณะที่ดีในการผลิต การส่งเสริมช่องทางการขายโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเศรษฐกิจชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน รวมทั้งแนวทางการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนท่าเคย
- รายได้ของชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ภายหลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส