ผึ้งโพรงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการที่พื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับประเทศไทยแล้ว ในฐานะที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์เป็นจำนวนมากแล้ว จึงเห็นได้ว่าในภูมิภาคต่าง ๆ ล้วนมีการทำเกษตรกรรมเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวันรวมถึงส่งออกขายเพื่อสร้างรายได้ แต่การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรหลายคนนั้นยังต้องพึ่งสารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เนื่องจากติดกับดักเกษตรเคมี และอาจรวมถึงการมีรายได้ทางเดียวด้วย
คงจะดีกว่าหากมีตัวช่วยที่เร่งผลผลิตโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ด้วยเหตุนี้ผึ้งโพรงจึงถูกนำมาเป็นทางออกที่สำคัญ ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ผึ้งโพรงยังสามารถสร้างอาชีพที่สองให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย ดังเช่นกลุ่มเครือข่ายเลี้ยงผึ้ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 โดยการรวมตัวของตัวแทนกลุ่มคนเลี้ยงผึ้งจาก 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลปากฉลุย อำเภอท่าฉาง, ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดีและตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม และคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรทำสวนยางพารา สวนผลไม้และสวนปาล์มน้ำมัน กลุ่มเครือข่ายเลี้ยงผึ้งจึงมองว่าพื้นที่เหมาะที่จะทำการเลี้ยงผึ้งโพรงควบคู่ไปกับทำเกษตรกรรม เพราะคนในพื้นที่ไม่ต้องหาแหล่งทำกินใหม่ สามารถสร้างรายได้อีกช่องทางที่ทำควบคู่ไปกับรายได้หลักได้และที่สำคัญยังเป็นการลดใช้สารเคมีในพื้นที่
จากการดำเนินไปของกิจกรรมในกลุ่มเครือข่ายเลี้ยงผึ้งโพรง ทางกลุ่มได้มีการกำหนดแผนงานของเครือข่ายคนเลี้ยงผึ้งโดยเน้น 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพึ่งตนเองและแก้ปัญหาความยากจน 2.การจัดการทุนและหนี้สิน รวมถึงการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 3.การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และ 4.การบริหารจัดการต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี แม้จะวางแผนกลยุทธ์กันเอาไว้แล้ว แต่เมื่อประเมินผลกลับพบว่า ยังพบปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เครือข่ายฯ ยังไม่สามารถแก้ได้ เช่น ปัญหาหนี้สิน ที่เกษตรกรไปกู้หนี้ยืมสินและด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ยังไม่สามารถปลดหนี้ได้ ปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากราคาสินค้าและผลผลิตที่ต่ำลง ทำให้เกษตรกรหลายคนยังไม่สามารถเก็บออมเงินเพื่อลงทุนต่อไปได้ ปัญหาระบบน้ำเพื่อทำการเกษตรไม่เพียงพอ เนื่องจากคนในชุมชนยังไม่มีวิธีการกักเก็บนำไว้ใช้ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ และปัญหาการผลิตภายใต้การตลาด ซึ่งเกิดจากการขาดตลาดกลางในการรับซื้อทำให้เกษตรกรไม่แน่ใจว่าจะนำสินค้าไปออกขายยังที่ใด ปัญหาเหล่านี้จึงทำให้แผนที่เครือข่ายฯ วางไว้ไม่บรรลุผล
ด้วยเหตุดังกล่าว เครือข่ายคนเลี้ยงผึ้ง จึงได้จัดตั้ง ‘โครงการส่งเสริมทักษะอาชีพการเลี้ยงผึ้งโพรงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฏร์ธานี’ ขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ในการเลี้ยงผึ้งโพรงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความรู้ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้ง รวมถึงการดูแลรักษาระบบนิเวศน์ชุมชนให้เอื้อในการเลี้ยงผึ้งโพรง เพื่อพัฒนาไปเป็นแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกรต่อไป โดยได้รับความร่วมมือในการพัฒนาจากหลายฝ่ายที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานพัฒนาชุมชนที่เข้ามาให้ความรู้เรื่องการจดทะเบียนสินค้า OTOP เกษตรอำเภอที่สนับสนุนและเพิ่มพูนความรู้ให้กับชุมชนในการเลี้ยงผึ้งโพรง สภาเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เข้ามาช่วยในด้านช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ โครงการฯ ได้ออกแบบหลักสูตรตั้งแต่การเลี้ยงผึ้งโพรงไปจนถึงการจัดทำบัญชีครัวเรือนให้กับชุมชน
โดยมุ่งหวังว่าในปลายทาง เมื่อโครงการฯ สิ้นสุดไปแล้ว ชุมชนจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้และมีรายได้เสริมเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาหนี้สิน สามารถสร้างเนื้อสร้างตัว มีอาชีพ มีงานทำประจำแน่นอน อยู่บนทุนเดิมของชุมชน อย่างมีความสุข
คงจะดีกว่าหากมีตัวช่วยที่เร่งผลผลิตโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ด้วยเหตุนี้ผึ้งโพรงจึงถูกนำมาเป็นฮีโร่สำคัญ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ผึ้งโพรงยังสามารถสร้างอาชีพที่สองให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการส่งเสริมทักษะอาชีพการเลี้ยงผึ้งโพรงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กลุ่มเครือข่ายเลี้ยงผึ้ง
- โทร: 09 3164 5965
- ผู้ประสานงาน: นางสาวไอรดา ม่วงพานิช
เป้าประสงค์
- กลุ่มเครือข่ายเลี้ยงผึ้งมีทักษะความรู้ในการเลี้ยงผึ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถนำไปใช้พัฒนาการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ได้
- กลุ่มเครือข่ายสามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดการผลิตสินค้าพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งได้
- คนในชุมชนลดใช้สารเคมีร้อยละ20ต่อปี
- มีช่องทางการตลาดในการกระจายสินค้าผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งได้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น
- เกิดการขยายฐานการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งในชุมชนสามารถนำไปสร้างการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้สนใจต่อไปได้
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส