พืชผักปลอดสารพิษ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในทุกวันนี้ถามหา เพราะด้วยอิทธิพลจากกระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงอย่างฉุดไม่อยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดียังมีเกษตรกรจำนวนมากที่เลือกใช้สารเคมีในการบำรุงพืชผักของตนให้สวยงาม เนื่องจากยังคงยึดอยู่กับแนวคิดการขายในอดีต
พื้นที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีดินที่ดีและแหล่งน้ำที่เหมาะสม ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการปลูกพืชผักที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอ้อย มัน ข้าว สับปะรด และมีการเลี้ยงสัตว์ คิดเป็นร้อยละ 80% ของพื้นที่ แต่ปัญหาหนึ่งคือเกษตรกรยังติดกับดักการใช้สารเคมีอยู่
การที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ยอมเปลี่ยนความคิดในการเพาะปลูกหันมาปลูกใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนสารเคมี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่มีองค์ความรู้ที่มากพอในการจัดการกับปัญหา จึงต้องใช้วิธีเดิมๆ อย่างสารเคมีในการแก้ไข ส่งผลให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรนี้ได้ แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตว่า เกษตรกรหลายครัวเรือนส่วนใหญ่จะไม่ทานพืชผักที่ตัวเองปลูกไว้ขาย แต่จะทานพืชผักสวนครัวริมรั้วที่ปลูกไว้ใช้ในครัวเรือนแทน เนื่องจากไม่ใช้สารเคมีและมีการผลิตสารชีวภาพขึ้นมาใช้เอง
วิสาหกิจชุมชนพอใจในวิถีพอเพียง หรือหน่วยพัฒนาอาชีพสถานธรรมได้เล็งเห็นถึงวิธีการแก้ปัญหา จึงได้ก่อตั้งโครงการ ‘โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้ครบวงจร จังหวัดกาญจนบุรี’ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาเดิมที่เกษตรกรมีและขจัดปัญหาการทำเกษตรแบบพึ่งสารเคมี โดยการจัดอบรมตั้งแต่กระบวนการปลูกแบบพืชแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีต่อผู้บริโภค ลดการพึ่งสารเคมีช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ และการทำเกษตรอินทรีย์นี้ยังดีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นพื้นดินพื้นน้ำที่จะไม่ได้รับสารพิษ และเป็นพื้นที่ทำกินให้เกษตรกรได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังจัดอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาผลผลิตที่มีอยู่โดยการแปรรูปให้ได้มาตรฐาน พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้น่าซื้อพร้อมทั้งจัดหาช่องทางการขายออนไลน์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและเพิ่มการซื้อเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มมากขึ้น
โครงการฯ ได้ศึกษาแผนพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทางการเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชนในท้องถิ่น และประสานความร่วมมือกับศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงปลักไม้ลาย ที่ให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และการแปรรูป เกษตรตำบลพัฒนาชุมชน ที่ให้องค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มูลนิธิวัชระดวงแก้ว ให้ข้อมูลด้านสมุนไพรและความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ ไร่นายชิด (สิทธิโชคฟาร์ม) ให้ศึกษาดูงานและช่วยพัฒนาในเรื่องขงช่องทางการจำหน่ายและบริษัทดิจิทัล บิสิเนท คอนซันท์ จำกัด ที่เข้ามาดูในเรื่องของการตลาด
เป้าหมายที่ชัดเจนของโครงการฯ คือ เน้นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้กลุ่มเป้าหมายอยากพัฒนาสิ่งที่ตนเองมีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้มีรายได้ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการฯ จึงเน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นหลัก มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อให้พวกเขาแลกเปลี่ยนความถนัดในแต่ละด้าน เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในพื้นที่จะช่วยให้ชุมชนพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ไม่ทิ้งใครคนใดคนนึงไว้ข้างหลังและเกิดความเข้มแข็งเป็นกลุ่มวิสาหกิจสร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างอาชีพต่อไป
เกษตรกรหลายครัวเรือนส่วนใหญ่จะไม่ทานพืชผักที่ตัวเองปลูกไว้ขาย แต่จะทานพืชผักสวนครัวริมรั้วที่ปลูกไว้ใช้ในครัวเรือนแทน เนื่องจากไม่ใช้สารเคมี
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้ครบวงจร จังหวัดกาญจนบุรี
วิสาหกิจชุมชนพอใจในวิถีพอเพียง (ชื่อเดิมสถานธรรมไท่ซิวเอวี๋ยน) จังหวัด กาญจนบุรี
- โทร: 092-953-0195
- ผู้ประสานงาน: นางสาวสุภาพร สระทองขาว
เป้าประสงค์
มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปลอดภัย และเพิ่มศักยภาพของคนในชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้โดยยึดหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง และคนในชุมชน มีส่วนร่วมในการคิด ร่วมรับผิดชอบ ตัดสินใจวางแผนปรับปรุงและพัฒนาอาชีพ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส