สถาบันครอบครัว มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนามนุษย์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งยังเป็นที่อบรม เลี้ยงดูและสนับสนุนให้มีคนที่ดีเข้าสู่สังคมได้ แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมและสภาพทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนผู้หญิงเลี้ยงดูบุตรตามลำพังหรือครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น
ในจังหวัดหนองบัวลำภูก็เช่นกัน จากข้อมูลการจดทะเบียนสมรสและหย่าร้างภายในจังหวัด ปี พ.ศ. 2562 พบว่ามีคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมากที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางสภาพจิตใจ มีภาวะความเครียดสูง ท้อแท้และมีความสัมพันธ์ลดลงระหว่างแม่กับลูก รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องของการจ้างงานและเรื่องรายได้โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สามีเคยเป็นผู้หารายได้หลัก และแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกยังเล็กไม่สามารถทํางานในระบบได้ รวมถึงปัญหาการขาดระบบช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น บริการดูแลเด็ก การส่งเสริมการจ้างงาน การให้คําปรึกษาและสนับสนุนทางใจ นอกจากนี้ยังพบปัญหาเกี่ยวกับอคติที่มีต่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เช่น การตีตราเรื่องการหย่าร้าง การเป็นหญิงหม้าย การไม่ยอมรับทางวัฒนธรรม นําไปสู่การลดความภาคภูมิใจในตนเองของแม่เลี้ยงเดี่ยว
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะทำอย่างไรเพื่อให้แม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้ มีเวลา และมีสุขภาพที่เข้มแข็งทั้งกายและใจ
บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีประสบการณ์และเคยทำงานร่วมกับแม่เลี้ยงเดี่ยวในจังหวัดหนองบัวลำภู จึงเข้ามาช่วยสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ไข ภายใต้ ‘โครงการเสริมสร้างทักษะอาชีพสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว จังหวัดหนองบัวลำภู’ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 6 อำเภอและ 29 ตำบลของจังหวัดหนองบัวลำภู
โดยเบื้องต้น หลังจากได้ทำการศึกษา วิเคราะห์และประเมินผลแล้ว ทางโครงการฯ พบว่ากลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวจำเป็นต้องมีทักษะในการประกอบอาชีพติดตัว ต้องเป็นอาชีพที่ใช้ต้นทุนต่ำ เรียนรู้ได้ทันที และสามารถต่อยอด สร้างงานสร้างอาชีพได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงต้องเหมาะสมกับพื้นเพของกลุ่มเป้าหมาย ประสบการณ์ และมีเวลามากพอที่จะอบรมเลี้ยงดูลูกซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของผู้เป็นแม่
จากทั้งหมดที่กล่าวมา ทางโครงการฯ พบว่ามีทั้งหมด 5 หลักสูตรอาชีพที่ตอบโจทย์ทั้งหมด ได้แก่ ช่างทอผ้า ช่างเย็บผ้า ทำอาหารและขนม งานฝีมือและนวดแผนไทย โดยในเริ่มต้นทางโครงการฯ ได้มีการจัดอบรมแบ่งเป็นตามกลุ่มตามที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี นอกจากทักษะด้านการประกอบอาชีพแล้ว ทางโครงการยังได้เสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการฟื้นฟูจิตใจและให้กำลังใจแม่เลี้ยงเดี่ยวกับเด็ก เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายพร้อมต่อการเรียนรู้มากที่สุด และมีความสุขทั้งกายและจิตใจอีกด้วย
แน่นอนว่าสำหรับดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการยังไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จภายในระยะไม่กี่เดือน นอกจากนั้นแล้ว โครงการฯ ยังไม่ได้มีตัวชี้วัดเป็นเพียงแค่กลุ่มเป้าหมาย แม่เลี้ยงเดี่ยว จะต้องมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ทางโครงการฯ ยังได้นำเครื่องมือวัดความสุขของคุณศิรินันท์ กิตติสุขสถิตและคณะ เพื่อตรวจสอบผลความสุขก่อน ระหว่าง และหลังจากการเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งนำเสนอผลการประเมินตนเองให้กับโครงการได้พิจารณาผลการวัดคุณค่าและความสุขของแม่เลี้ยงเดี่ยวมาใช้อีกด้วย
เพราะท้ายสุดแล้ว นอกจากเรื่องการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวจากนี้ไปในอนาคตจะต้องมีพลังใจในการดำเนินชีวิต เติมเต็มศักยภาพให้กบัตัวเองและลูกได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กได้รับความรัก ไม่มีปัญหาในสังคมและเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคม แม้คำว่าสถาบันครอบครัวจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแล้วก็ตาม
กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวจากนี้ไปในอนาคตจะต้องมีพลังใจในการดำเนินชีวิต เติมเต็มศักยภาพให้กบัตัวเองและลูกได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กได้รับความรัก ไม่มีปัญหาในสังคมและเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคม แม้คำว่าสถาบันครอบครัวจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแล้วก็ตาม
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การเสริมสร้างทักษะอาชีพสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว จังหวัดหนองบัวลำภู
บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด
- โทร: 09 8573 6867
- ผู้ประสานงาน: นายปิ่นมนัส โคตรชา
เป้าประสงค์
1.เชิงปริมาณ
1) แม่เลี้ยงเดี่ยวได้รับการยกระดับทักษะอาชีพและคุณภาพชีวิต จิตใจ ตามกลุ่มอาชีพ จำนวน 100 คน
2) ลูกของแม่เลี้ยงเดี่ยวได้รับการฟื้นฟูพัฒนาจิตใจ จำนวน 125 คน
3) ได้แนวทางในการพัฒนารูปแบบกระบวนการฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจแม่และลูกที่สามารถขยายผลและส่งต่อได้ จำนวน 4 รูปแบบประกอบด้วย
3.1) กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจคุณแม่ (REFRESH)
3.2) กระบวนการส่งเสริมพลังบวกเด็กอ่อน (0-6 ปี) (HUG D)
3.3) กระบวนการส่งเสริมพลังบวกเด็กเล็ก (7-12 ปี) (HUG HEIN)
3.4) กระบวนการส่งเสริมพลังบวกเด็กโต (13-15 ปี) (HUG PANG)
4) ได้หลักสูตรอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สถานประกอบการ และตรงตามศักยภาพของแม่เลี้ยงเดี่ยวในพื้นที่ จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่
4.1) ช่างทอผ้า
4.2) ช่างเย็บผ้า
4.3) ทำอาหาร/ขนม
4.4) งานฝีมือ
4.5) นวดแผนไทย
5) ได้แบรนด์สินค้าแม่เลี้ยงเดี่ยว 4 กลุ่ม ได้แก่ ผ้าทอมือ ผลิตภัณฑ์จากผ้า ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร และผลิตภัณฑ์งานฝีมือ
6) ได้รูปแบบบริการ 1 รูปแบบ ได้แก่ การนวดแผนไทย
7) เกิดช่องทางการสื่อสารและจำหน่ายสินค้าแม่เลี้ยงเดี่ยวออนไลน์ จำนวน 5 ช่องทาง ประกอบด้วย Facebook, IG, Line, Shoppee เป็นแพล็คฟอร์มนำเสนอแม่ข้อมูลโครงการ
2.เชิงคุณภาพ
1) กระบวนการสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาฟื้นฟูเยียวยาจิตใจแม่และเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของแม่เลี้ยงเดี่ยว
2) แม่เลี้ยงเดี่ยวเกิดทักษะอาชีพที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างรายได้ได้จริง
3) แม่เลี้ยงเดี่ยวมีพลังใจและมีกำลังใจในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ตามศักยภาพและสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีสติ และสามารถเติมเต็มพลังบวกและกำลังใจให้ลูก ๆ เห็นคุณค่าและกตัญญูต่อพ่อแม่ และสามารถส่งต่อความสู่สังคมได้
4) สร้างการรับรู้และเข้าใจถึงลักษณะความแตกต่างตลอดจนสามารถติดตามให้คำแนะนำช่วยเหลือ หรือกระบวนการส่งต่อเพื่อเข้ารับการเยียวยาเชิงลึกได้อย่างเหมาะสมและตรงกับสภาพกลุ่มเป้าหมาย
5) หลักสูตรมีคุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ตลาดแรงงาน และสอดคล้องกับศักยภาพของแม่เลี้ยงเดี่ยว
6) แบรนด์สามารถสร้างมาตรฐานและยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการของแม่เลี้ยงเดี่ยวให้มีศักยภาพและจำหน่ายได้จริง สร้างรายได้ในตลาดมูลค่าสูง
7) สามารถจำหน่ายสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ เป็นช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี สามารถเป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชนและนำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อสร้างผลกระทบและกระตุ้นสังคมได้จริง
8) สังคมได้เห็นถึงความสำคัญและรับรู้ถึงคุณค่าของ “ครอบครัว” จากการสะท้อนปัญหาของแม่เลี้ยงเดี่ยว มองเห็นถึงศักยภาพและความสามารถรวมถึงพลังในการส่งต่อกำลังใจของแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างเข้มแข็ง
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส