ต้นทุนทางทรัพยากรของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชุมชนนั้นมีโอกาสในการพัฒนาด้านต่าง ๆ มากขึ้น กล่าวคือ ถ้าชุมชนมีต้นทุนทางความรู้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งช่วยให้ชุมชนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น แต่ปัญหาหลักของชุมชนหลาย ๆ ที่นั้น ได้แก่ การขาดองค์ความรู้ในการใช้ทรัพยากรที่ตนมีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ดังเช่นบ้านท่าก่อ ตำบลนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ค้าขาย รับจ้างและมีผู้ว่างงานเป็นจำนวนมาก แต่ความจริงแล้ว ชุมชนนั้นมีต้นทุนทางสังคมและทรัพยากรหลากหลายไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนด้านการถนอมอาหาร ที่ทำปลาส้มออกจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ต้นทุนด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งสามารถเป็นแหล่งศึกษาดูงานได้อีกด้วย ต้นทุนด้านทรัพยากร ที่ชุมชนมีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับภูเขาทำให้มีของป่า มีสมุนไพรให้ใช้ตลอดปี เป็นต้น ส่งผลให้มีการรวมกลุ่มอาชีพถึง 5 กลุ่ม แต่ท้ายสุดแล้ว หลาย ๆ กลุ่มยังคงขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาเพื่อให้กิจกรรมดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาส้ม ที่มีการนำภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารจากบรรพบุรุษมาใช้ แต่กลับประสบปัญหาการแปรรูปปลาส้มเลี้ยงชีพตนเองได้ไม่มากพอ และกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรเช่นเดิม โดยเห็นชัดจากที่ช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาส้มที่มีสมาชิกก่อตั้งมากถึง 50 คน แต่ปัจจุบันกลับลดลงจนเหลือเพียง 39 คน
จากปัญหาดังกล่าว กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปปลาส้มจึงร่วมกันวิเคราะห์จุดอ่อน–จุดแข็งของตนเอง จนพบจุดแข็งในการแปรรูปปลาส้ม ได้แก่ การที่สมาชิกกลุ่มนำปลาจากบ่อธรรมชาติมาผลิตทำให้มีรสชาติดี ไม่มีสารบอแรกซ์และยังเป็นที่ต้องการของตลาด อย่างไรก็ดี จุดอ่อนนั้น ก็น่าตระหนักเช่นกัน เพราะการแปรรูปส่วนใหญ่ที่ทำเป็นไปเพื่อขายในชุมชนเท่านั้น รวมถึงวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการแปรรูปในแต่ละวัน
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังมีความเข้าใจชาวบ้านและทรัพยากรในพื้นที่เป็นอย่างดี รวมถึงเคยร่วมงานกับชุมชนบ้านท่าก่อในฐานะผู้สนับสนุนด้านองค์คงามรู้มาแล้ว มี จึงจัดตั้ง ‘โครงการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อยกระดับสินค้าและบริการของชุมชนบ้านท่าก่อ’ ขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ได้แก่ การทำแพลตฟอร์มออนไลน์มายกระดับสินค้าและบริการของชุมชน และการจัดเก็บฐานข้อมูลชุมชนด้วยระบบสารสนเทศ
โดยโครงการฯ ได้ออกแบบกิจกรรมสร้างรายได้ให้ชุมชนหลากหลายเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีองค์ความรู้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ชุมชนมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นจากการขายสินค้าออนไลน์และเป็นผู้นำในการท่องเที่ยวในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมเสริมทักษะการเลี้ยงปลาตะเพียน กิจกรรมการแปรรูปปลาตะเพียนรูปแบบอื่นๆ และการทำปลาส้ม กิจกรรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ กิจกรรมสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวในชุมชน กิจกรรมสร้างเว็บแอปพลิเคชันและกิจกรรมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการขายสินค้า
อย่างไรก็ดี แม้การนำเทคโนโลยีเข้ามาในชุมชนจะถือเป็นเรื่องใหม่ของคนในพื้นที่ แต่ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถปรับตัว เข้าถึงรายได้ได้มากกว่า เมื่อคนในชุมชนเห็นว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ก็จะไม่ปิดกั้นตนเองในการเรียนรู้ ทั้งยังมีผลพลอยได้จากการที่เยาวชนในพื้นที่ให้ความสนใจจากการประยุกต์ใช้ครั้งนี้
จนสามารถกล่าวได้ว่า ปลายทางที่โครการฯ คาดหวัง ไม่เพียงจะเกิดขึ้นได้จริงแล้ว สิ่งที่ต่อยอดขึ้นมาอย่างการเกิดการมีส่วนร่วมระหว่างคนหลายวันในชุมชนยังเป็นอีกผลลัทธ์ที่สำคัญ เมื่อชุมชนเกิดจิตสำนึกในการช่วยเหลือแลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยมีปลายทางเป็นการพัฒนาชุมชนตนเองให้ยั่งยืนได้ในที่สุด
ถึงแม้ว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาในชุมชนจะถือเป็นเรื่องใหม่ของคนในพื้นที่ แต่ก็เป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ชุมชนสามารถปรับตัว เข้าถึงรายได้ได้มากกว่า เมื่อคนในชุมชนเห็นว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ก็จะไม่ปิดกั้นตนเองในการเรียนรู้
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อยกระดับสินค้าและบริการของชุมชนบ้านท่าก่อ
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
- โทร: 08 6460 9041
- ผู้ประสานงาน: รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล
เป้าประสงค์
1.สร้างเว็บแอปพลิเคชันสำหรับจำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ชุมชนบ้านท่าก่อจำนวน 1 ระบบ
2.สร้างรูปแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านท่าก่อ อย่างน้อย 1 โปรแกรม
3.ได้รูปแบบตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์
4.สร้างความเข้มแข็งให้แก่วิสาหกิจชุมชนบ้านท่าก่อ
5.ชุมชนสามารถจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์
6.เพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการสินค้าของคนในชุมชนอย่างน้อย 2 ช่องทาง
7.สร้างทัศนคติด้านการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพให้แก่คนในชุมชน
8.สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ได้
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส