Banner
มูลนิธิกองทุนไทย
กรุงเทพมหานคร

มูลนิธิกองทุนไทย บ้านห้วยแดง จับมือร่วมพลัง ผสานนวัตกรรมชุมชนกับเทคโนโลยี สร้างรายได้เข้าชุมชน เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

กลุ่มสนับสนุนอาชีพ ในหลายพื้นที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหาของคนในพื้นที่ที่ขาดรายได้และไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมองหาต้นทุนที่สังคมมี เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือการบริการเพื่อหารายได้เข้าแต่ละครัวเรือน ก่อนจะเกิดเป็นการรวมกลุ่มกัน ในการแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในพื้นที่นั้น ๆ 

บ้านห้วยแดง ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการสนับสนุนกลุ่มอาชีพให้กับชาวชุมชน โดยหมู่บ้านห้วยแดงนั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งเสบียงอาหารหล่อเลี้ยงคนในชุมชนได้อย่างพอเพียง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร แต่กลับมีรายได้ไม่แน่นอน รวมถึงไม่สามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจาก การทำเกษตรนั้นต้องพึ่งพากระแสฟ้าฝน สภาพอากาศในแต่ละวันเป็นหลัก 

ดังนั้น การมีกลุ่มอาชีพจึงเป็นเหมือนการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้กับคนในพื้นที่ ชาวบ้านห้วยแดงจึงได้ก่อตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นมา โดยมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายที่ร้านค้าสกหรณ์ของเขื่อนสิรินธร รวมถึงมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อสินค้าเพื่อไปขายต่อในช่องทางต่าง ๆ 

แต่ช่วงที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านก็ขายได้ลดน้อยลงจนกระทั่งเริ่มขายไม่ได้เลย ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงขาดทั้งรายได้เสริมและรายได้หลัก ก่อให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลของชาวบ้าน 

ถึงอย่างนั้น ชาวบ้านห้วยแดงหลายคนยังคงใช้ชีวิตตามวิถีพอเพียง ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามัคคี กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นมายังคงรวมกลุ่มกันอยู่ครบ และทุกคนต่างยังคงมีความหวังว่า ถ้าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติธุรกิจของชุมชนก็จะกลับมาฟื้นตัว เพราะชุมชนเชื่อว่าการนำต้นทุนทางสังคมและทรัพยากรในพื้นที่มาใช้จะเป็นการสานต่อภูมิปัญญาของผู้รู้ต่าง ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่จึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะดำเนินต่อไป

มูลนิธิกองทุนไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับบุคคลและองค์กรในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เข้มแข็งจากรากฐาน มีสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตเท่าเทียมกัน จึงได้จัดทำ ‘โครงการพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อการพึ่งตนเอง’ ขึ้นมา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์และสร้างช่องทางการขายออนไลน์ โดยคาดหวังว่าจะเป็นการนำรายได้กลับเข้าสู่ชุมชนได้อีกครั้ง

โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือสมาชิกกลุ่มอาชีพ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจักสาน ที่มีกระติบข้าวที่มีจุดเด่นคือมีลวดลายสวยงาม ทำจากต้นไหลเก็บความร้อนได้ดี ข้าวเหนียวไม่แข็งไม่บูดง่าย กลุ่มทอผ้า เป็นการนำผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ประดู่ซึ่งหาได้ในชุมชน ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง กลุ่มไข่เค็ม ทำจากไข่เป็ดที่เลี้ยงตามธรรมชาติ มีจุนเด่นที่ไข่เค็มเป็นไข่แดงมันมีรสชาติอร่อยและสามารถต่อยอดไปทำผลิตภัณฑ์แปรรูปได้ กลุ่มไม้ตีพริก มีจุดเด่นตรงที่ทำจากไม้เนื้อแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำเหนือเขื่อนสิรินธร จึงได้ไม้ที่ลวดลายสวยงาม มีเนื้อแน่นไม่ขึ้นรา และกลุ่มแปรรูปอาหาร ที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาแปรรูป มีหมูแดดเดียวสูตรเกลือดั้งเดิมเป็นสินค้าขายดี

ซึ่งหากโครงการฯ ดำเนินการสำเร็จไปได้ด้วยดี กล่าวคือ กลุ่มเป้าหมายในโครงการฯ สามารถยกระดับกลุ่มอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อความไม่แน่นอนทั้งหมดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผ่านการพึ่งพานวัตกรรมจากชุมชน ผสมผสานกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน และเท่าทันความเปลี่ยนแปลงได้

พวกเขาก็จะไม่หวาดกลัวและสามารถลดแรงเสียดทานจากการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและเศรษฐกิจ ภายใต้บริบทโลกาภิวัฒน์ที่หมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ด้วยตนเอง 

 

ทุกคนต่างยังคงมีความหวังว่า ถ้าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติธุรกิจของชุมชนก็จะกลับมาฟื้นตัว เพราะชุมชนเชื่อว่าการนำต้นทุนทางสังคมและทรัพยากรในพื้นที่มาใช้จะเป็นการสานต่อภูมิปัญญาของผู้รู้ต่าง ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่จึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะดำเนินต่อไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อการพึ่งตนเอง

มูลนิธิกองทุนไทย

  • โทร: 08 1302 0172
  • ผู้ประสานงาน: นายกรรชิต สุขใจมิตร

เป้าประสงค์

1.กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ทักษะ ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ การตลาด และเป็นผู้ประกอบการกลุ่มอาชีพของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้ ตระหนักต่อปัญหาสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสามารถตั้งรับปรับตัวได้อย่างเท่าทัน
3.กลุ่มเป้าหมายมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส