จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดทางภาคตะวันออกของไทยที่มีชายฝั่งทอดยาวถึง 160 กิโลเมตร ความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้ง ณ ชายฝั่งส่งผลให้ชลบุรีได้รับการวางแผนให้เป็นเมืองท่าค้าขายของภาคตะวันออก โดยมีท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือพาณิชย์สำคัญของประเทศ นอกจากเป็นเมืองท่า ชลบุรียังเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมที่มีโรงงานมากมาย ทั้ง โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานน้ำตาลทราย โรงงานมันสำปะหลัง ควบคู่ไปกับการเติบโตทางภาคการท่องเที่ยวจากชายฝั่งทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีกิจกรรมผจญภัยทางน้ำหลากหลายรูปแบบ ทั้งการดำน้ำ แล่นเรือใบ นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตชุมชนให้เรียนรู้ เที่ยวชมวัดวาอารามเก่าแก่ และงานหัตถกรรมอันประณีตจากชุมชน ซึ่งต่างก็ช่วยส่งเสริมให้เมืองชลมีความน่าดึงดูดในทุกมิติ
แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ผู้จำหน่ายสินค้าชุมชนไม่สามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวจึงทำให้ขาดรายได้ ผู้ประกอบการบางเจ้าต้องเลิกกิจการไปหรือบางรายมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในจังหวัดชลบุรีพากันปิดตัวลง เลิกจ้าง หรือ ปลดพนักงานเพราะพิษเศรษฐกิจ จึงทำให้มีผู้ตกงานในจังหวัดชลบุรีเป็นจำนวนมาก
โครงการ “สร้างนักขาย ขยายโอกาส เพิ่มรายได้ ด้วยสังคมออนไลน์ จากสินค้าชุมชน ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี” จัดทำขึ้นโดย วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยโครงการนี้ จะรวบรวมกลุ่มผู้ว่างงาน แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน สินค้า OTOP สินค้าวิสาหกิจชุมชน และสินค้าของฝากจังหวัดชลบุรีจำนวน 100 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 โครงการนี้พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างนักขายที่สามารถขายสินค้าทางออนไลน์ได้จริง นำไปสู่การเกิดเครือข่ายสังคมออนไลน์ระหว่างผู้ประกอบการสินค้าชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การหาสินค้ามาขาย การคำนวนรายได้ การขายสินค้า การโพสขาย ช่องทางการขาย ระบบขนส่งต่าง ๆ รวมถึงการทำบัญชีอีกด้วย ภายในหลักสูตรการอบรมของโครงการ ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ทักษะที่มีความจำสำหรับการประกอบการค้าออนไลน์ดังนี้
ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งการวางแผนงบประมาณการเงิน ที่จำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจ การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ซึ่งเป็นหลักในการวิเคราะห์ธุรกิจแบบสากล SWOT ความสามารถในการคัดเลือกสินค้า ที่เหมาะสมเพื่อการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด
ทักษะการใช้เทคโนโลยีในการค้าขายออนไลน์ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Big data เพื่อจะได้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง การใช้ chatbot และ AI ปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าบนแอปพลิเคชัน ไลน์และเฟซบุ๊ก เพื่อให้การขายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทักษะการโฆษณาออนไลน์ ที่มีความจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งการวางกลยุทธ์ Content Marketing ของแบรนด์อย่างเป็นระบบเพื่อให้การโฆษณาได้ผลมากที่สุด การประเมินผลโฆษณาออนไลน์ เพื่อการพัฒนาการโฆษณาในคั้งต่อไป การออกแบบโฆษณาออนไลน์ ให้โดดเด่นเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสนใจสินค้าและไม่ผิดกฎการโฆษณาของแอปพลิเคชัน
วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ประเมินไว้ว่า กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการจะประกอบอาชีพค้าขายออนไลน์ถึงร้อยละ 80 และกลุ่มเป้าหมายจะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าชุมชน ผ่านช่องทางออนไลน์ นำไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ ระหว่างผู้ประกอบการและผู้ขายสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้จังหวัดชลบุรีมีอัตราการว่างงานที่ลดลง และในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของผู้ประกอบการ นักขายออนไลน์และผู้ผลิตสินค้าชุมชน ไปยังสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานแรงงานจังหวัด เทศบาล และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการพัฒนาการค้าขายออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
โครงการนี้พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างนักขายที่สามารถขายสินค้าทางออนไลน์ได้จริง นำไปสู่การเกิดเครือข่ายสังคมออนไลน์ระหว่างผู้ประกอบการสินค้าชุมชน อย่างยั่งยืน
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
สร้างนักขาย ขยายโอกาส เพิ่มรายได้ ด้วยสังคมออนไลน์ จากสินค้าชุมชน ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี
- โทร: 062-156-2415
- ผู้ประสานงาน: ดร.ศิริญญา วิรุณราช
เป้าประสงค์
1.มีผู้ว่างงานและแรงงานนอกระบบเข้าร่วมโครงการ “สร้างนักขาย ขยายโอกาส เพิ่มรายได้ให้สินค้าชุมชน ด้วยสังคมออนไลน์” จำนวน 100 คน ในจำนวนนี้ มีผู้มีบุตรหรือธิดากำลังศึกษาอยู่ไม่เกินการศึกษาภาคบังคับหรือ ม.3 จำนวน 50 คน
2.กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการได้ประกอบอาชีพค้าขายออนไลน์สินค้าชุมชนจริง ร้อยละ 80 และมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 20 ต่อเดือน
3.เกิดช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านทางสื่อโซเชียล โดยให้กลุ่มเป้าหมายเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าชุมชน
4.เกิดเครือข่ายสังคมออนไลน์ระหว่างผู้ประกอบการสินค้าชุมชน สินค้าOTOP สินค้าวิสาหกิจชุมชน และสินค้าขายของฝาก กับผู้ขายสินค้าชุมชนออนไลน์
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส