จังหวัดชุมพรเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการปลูกกล้วยหอมทองเป็นจำนวนมาก โดยมีกลุ่มลูกค้าประจำเป็นสหกรณ์ผู้บริโภคจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้มีการทำสัญญาสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยต้องการผลผลิตสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 20 ตัน กลายเป็นหนึ่งในรายได้หลักของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ถึงอย่างนั้น ยังมีกลุ่มสตรีในอำเภอละแมที่มองเห็นว่า กล้วยหอมทองคือสินค้ามีศักยภาพสูง และนำไปต่อยอดได้มากกว่าส่งขายแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้กลุ่มสตรีนั้นคิดค้นการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาสูตรจนได้รับการยอมรับกลายเป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวชุมพร
ทุกอย่างเริ่มต้นในปี 2557 ในตำบลละแมแม่บ้าน 4 คนร่วมลงทุนคนละ 300 บาท รวมเป็นเงิน 1,200 บาท โดยตั้งใจที่จะเพิ่มมูลค่าของกล้วยหอมทองปลอดสารพิษในชุมชน ด้วยการแปรรูปเป็นกล้วยหอมทองฉาบ ในการดำเนินงาน ได้มีการคิดค้นและพัฒนาสูตรจนเป็นเอกลักษณ์ได้รสชาติที่ดีเป็นชอบของผู้บริโภค จนในปี 2559 จึงได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในชื่อ “กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยหอมทองทุ่งคาวัด”
อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยหอมทองทุ่งคาวัดไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ส่งผลให้รายได้ของสมาชิกลดลงอย่างมากและจำเป็นต้องลดจำนวนลูกจ้างลง เพื่อประคองสถานการณ์ของกลุ่มฯ ให้สามารถผ่านไปได้
มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร จึงได้จัดทำโครงการ การพัฒนาต้นแบบธุรกิจชุมชนด้อยโอกาสเพื่อความอยู่รอดในภาวะวิกฤติ : โดยใช้ฐานกลุ่มสตรีที่แปรรูปกล้วยหอมทองฉาบปลอดสารพิษ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำให้อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เป็นแหล่งรายได้ของชุมชนในระยะยาว และมีการสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มบ้านทรัพย์ทวีและกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยหอมทองทุ่งคาวัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยกันต่อยอดและถอดบทเรียนจากการทำโครงการเมื่อปี 2562 ที่ชื่อว่า “โครงการพัฒนาศักยภาพการทำสบู่สมุนไพรน้ำผึ้งเพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรในพื้นที่ทุรกันดาร ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร” ซึ่งในโครงการปีก่อนได้เกิดผลิตภัณฑ์สบู่น้ำผึ้งขึ้นเพื่อเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา ‘น้ำตกจำปูน’ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของชุมชน รวมถึงได้มีการสร้าง ‘Story’ ของผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชนด้วย
โครงการในปี 2563 นี้ หน่วยพัฒนาจะทำการยกระดับโครงการด้วยการส่งต่อองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากปี 2562 สู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ด้อยโอกาสกลุ่มใหม่ โดยมีพี่เลี้ยงเป็นกลุ่มเป้าหมายจากปีก่อน ซึ่งในปีนี้โครงการจะสอดแทรกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังได้วางเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการผลิตกล้วยหอมทองปลอดสารพิษฉาบและกล้วยหอมทองดิบ สู่การจำหน่ายหลักสูตรกล้วยหอมทองปลอดสารพิษแบบครบวงจร เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพของกลุ่มเป้าหมาย
โดยในโครงการได้มีการออกแบบหลักสูตรให้มีเนื้อหาในการ เสริมสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการผ่านทางหลายกิจกรรม ดังนี้
- การวิเคราะห์เชิงธุรกิจโดยการนำวิธีคิดแบบ SWOT Analysis มาใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่น จุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อการตัดสินในรูปแบบของธุรกิจ รวมไปถึงการนำแนวคิด Canvas มาใช้ในการวิเคราะห์ทางการตลาด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจในการผลิตสินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
- ทักษะทางการตลาด โดยจะได้เรียนรู้ ตั้งแต่การตั้งราคา การส่งเสริมการตลาด การเพิ่มช่องทางการตลาด ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการพัฒนายอดขาย
- การเพิ่มมูลค่าของสินค้าชุมชน โดยจะมีการให้ความรู้เรื่องการต่อยอดเพื่อมมูลค่าให้กับสินค้าเดิม ด้วยการสร้างอัตลักษณ์ การพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพระดับสากล รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าของของเสียในหลายรูปแบบเช่น เศษกล้วยหอมทองดิบที่เหลือจากการหั่น เป็นต้น
หากโครงการสำเร็จลุล่วงมีการประเมินว่า กลุ่มเป้าหมายจะมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากเดิม เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายขึ้นระหว่าง 2 ชุมชน มีวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น จำนวน 10 คน มีช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 2 ช่องทาง โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพรมีการวางแผนพัฒนาให้โครงการทั้ง 2 กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิตในอนาคตและมีการพัฒนาสินค้าไปสู่ระดับสากล
โครงการในปี 2563 นี้ หน่วยพัฒนาจะทำการยกระดับโครงการด้วยการส่งต่อองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากปี 2562 สู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ด้อยโอกาสกลุ่มใหม่ โดยมีพี่เลี้ยงเป็นกลุ่มเป้าหมายจากปีก่อน
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การพัฒนาต้นแบบธุรกิจชุมชนด้อยโอกาสเพื่อความอยู่รอดในภาวะวิกฤติ : โดยใช้ฐานกลุ่มสตรีที่แปรรูปกล้วยหอมทองฉาบปลอดสารพิษ
มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร จังหวัด ชุมพร
- โทร: 09-5024-6856
- ผู้ประสานงาน: นางสาวศุทธิกานต์ คงคล้าย
เป้าประสงค์
1. อำเภอละแม จังหวัดชุมพร มีแหล่งจ้างงาน และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
2. อำเภอละแม จังหวัดชุมพร มีเครือข่ายเพื่อใช้ในการสร้างรายได้เสริม และพัฒนาอาชีพแบบครบวงจรตามแนวทางบริหารจัดการอำเภอ “เล สวน เขา”
4. ประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงมีรายได้เพิ่มขึ้น
5. จังหวัดชุมพร มีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เกิดขึ้น
6. จังหวัดชุมพรมีสินค้าของฝากที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น
7. ประชาชนในตำบลทุ่งคาวัด และกลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส