ชาติพันธุ์อ่าข่าคือชาติพันธุ์ที่อยู่กันเป็นชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตทวีปเอเชีย 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน เมียนมา ลาว เวียดนาม และไทย ซึ่งสำหรับในประเทศไทยนั้น ถิ่นฐานหลักของชาวอ่าข่าจะกระจายตัวอยู่ในแถบพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เช่น จังหวัดเชียงราย สืบเนื่องจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่นิยมตั้งถิ่นฐานบนภูเขาสูงที่ห่างไกล ทำให้ชาติพันธุ์อ่าข่าประสบปัญหาเรื่อง ‘การเข้าถึง’ องค์ความรู้ใหม่ ๆ และ ‘โอกาส’ ในการประกอบอาชีพอื่นๆ นอกเหนือไปจากงานด้านเกษตรกรรม
ด้วยสาเหตุนี้ เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย จึงเข้ามาสนับสนุนเพื่อช่วยให้ชาติพันธุ์อ่าข่าในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย รู้จักการพึ่งพาตัวเอง สามารถวิเคราะห์ วางแผน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับระบบตลาด ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาพื้นบ้านวิถีชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย
อีกทั้งยังสนับสนุนด้านการศึกษา โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยชนชาติฮาหนี่/อ่าข่า จากมหาวิทยาลัยหงเหอและวิทยาลัยสุขภาพหงเหอ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เพื่อมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนชาติพันธุ์อ่าข่าไทย ด้านสาธารณสุขสุขภาพ ระดับปริญญาตรีที่ประเทศจีนอีกด้วย
โครงการดังกล่าวภายใต้การดูแลของเครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า จัดว่าประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เครือข่ายฯ จึงนำมาต่อยอดเป็นโครงการใหม่ นั่นคือโครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดในระบบเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนชาติพันธุ์เชียงราย” โดยมีเป้าหมายเพื่อเยียวยาชุมชนชาติพันธุ์ที่ประสบปัญหาความยากจนและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ไม่ใช่แค่ชาติพันธุ์อ่าข่าเพียงกลุ่มเดียวเหมือนโครงการเมื่อปี 2562 แต่ขยับขยายไปถึงชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ในจังหวัดเชียงรายอีกด้วย เช่น ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ม้ง และไตยวน เพื่อกระจายองค์ความรู้ให้กับชุมชนชาติพันธุ์ในจังหวัดอย่างเสมอภาค โดยสามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จาก 4 พื้นที่ ได้แก่
- ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่บ้านยางคำนุ ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย
- ชาติพันธุ์ไตยวน ที่บ้านวัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน
- ชาติพันธุ์อ่าข่าและลาหู่ ที่บ้านห้วยนากาด ต.วาวี อ.แม่สรวย
- ชาติพันธุ์อ่าข่าและไตลื้อ ที่บ้านดอยสะโง้ อ.เชียงแสน
รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 90 คน โดยโครงการได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากการพิจารณา 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้ หนึ่งคือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำในสถานการณ์โควิด-19 เช่น ตกงานในเมืองจนต้องกลับมาภูมิลำเนา และสองคือบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,500 บาท/เดือน
การดำเนินโครงการประจำปี 2563 นี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการในปี 2562 ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานให้กับกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของห่วงโซอุปทาน แนวทางการผลิตเพื่อตอบความต้องการใหม่ๆ ของตลาด และทักษะการผลิตเบื้องต้น ในปีนี้หน่วยพัฒนาฯ จึงได้ขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น โดยตั้งเป้าให้ชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ เรียนรู้ระบบตลาดและสามารถสร้างรายได้จากการแปรรูปสินค้าในชุมชนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างชาติพันธุ์อ่าข่า ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในโครงการเดิม และยังมุ่งหวังให้ชุมชนชาติพันธุ์ที่หลากหลายเหล่านี้สร้างเครือข่ายเพื่อใช้สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายด้วย
นอกจากนี้โครงการก็ยังจะมีการฝึกฝนอบรมทักษะอาชีพเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น ภูมิปัญญาการทำน้ำมันนวด การทำขนมพื้นบ้านชาติพันธุ์ และงานหัตถกรรมปักผ้าและจักสานของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะอาชีพที่มีต้นทุนจากชุมชนทั้งสิ้น
มากไปกว่านั้น โครงการจะจัดการฝึกอบรมวิธีการคิดเชิงระบบและการทำงานเป็นภาคี ด้วยการนำวัด โรงเรียน ชุมชน และครอบครัว มาร่วมวางแผน และสร้างมิติการพัฒนาชุมชนที่ตอบสนองต่อปัญหาในท้องถิ่น ประกอบกับการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ชุมชนชาติพันธุ์รู้เท่าทันเทคโนโลยี และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดในระบบเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนได้
ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ชุมชนชาติพันธุ์กลุ่มอื่นจะสามารถเข้ามาเรียนรู้และใช้โมเดลที่เกิดขึ้นนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบตลาดและสามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์ผ่านการตั้งเพจ ตลาดอ่าข่า Akha Market ซึ่งมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายหลากหลาย อาทิ ข้าวซ้อมมือ ผ้าทอ ยาสระผมจากสมุนไพร ฯลฯ ได้ ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากโครงการเดิม
ชุมชนชาติพันธุ์กลุ่มอื่นจะสามารถเข้ามาเรียนรู้และใช้โมเดลที่เกิดขึ้นนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบตลาดและสามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์ผ่านการตั้งเพจ ตลาดอ่าข่า Akha Market
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดในระบบเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนชาติพันธุ์เชียงราย
เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย
- โทร: 091-941-6924
- ผู้ประสานงาน: นายเจนณรงค์ ศรีสองสม
เป้าประสงค์
1.เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ด้านอาชีพการตลาดและสร้างรายได้ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปจากสินค้าชุมชน
2.เกิดตลาดเครือข่ายชาติพันธุ์เชียงราย
3.เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชาติพันธุ์จังหวัดเชียงราย
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส