เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงเป็นงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการเขียนลายเส้นที่อ่อนช้อนงดงาม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ดอกไม้ และสัตว์ในท้องถิ่น ซึ่งภูมิปัญญาในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง ถือเป็นองค์ความรู้ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ในเขตพื้นที่เมืองโบราณเวียงกาหลง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
แม้ว่าเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงจะเป็นที่ต้องการของตลาด และขายได้ราคาดี แต่กลับกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนผู้ผลิตที่มีฝีมือ เนื่องจากกระบวนการปั้นและการเขียนลายเวียงกาหลงมีความซับซ้อน ต้องอาศัยความชำนาญ ทั้งยังต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการผลิตเท่านั้น ซึ่งมีต้นทุนสูง ทำให้อำเภอเวียงป่าเป้าในปัจจุบันหลงเหลือผู้ที่ยังสืบสานภูมิปัญญานี้อยู่เพียงครอบครัวเดียวเท่านั้น
แต่ภายหลังการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบบเศรษฐกิจได้หยุดชะงักและอัตราการเลิกจ้างงานสูงขึ้น คนเวียงกาหลงจึงเริ่มหันกลับมามองคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ และต้องการที่จะรื้อฟื้นเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงกลับมาอีกครั้ง เพราะอย่างไรก็ตามเครื่องปั้นดินเผาประเภทนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ซึ่งมิได้มีความหมายแต่เพียงคุณค่าทางสุนทรียะเท่านั้น หากแต่ยังเป็นงานฝีมือที่แสดงถึงภูมิปัญญาและพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีของชุมชนที่สั่งสมมาด้วย
วิสาหกิจชุมชนงานเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย เห็นการกลับมาสนใจภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนต่อการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงเช่นนั้น จึงนำมาต่อยอดเป็นโครงการฟื้นฟูทักษะการปั้นและเขียนลายเวียงกาหลงสู่อาชีพที่ยั่งยืน ซึ่งอาศัยตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการดำรงเครื่องปั้นลือนาม งดงามเวียงกาหลง ของโรงเรียนวัดหนองบัวพิทยาและวัดแม่ห่าง ที่บุกเบิกการพัฒนากระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงในรูปแบบใหม่
ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ ได้แก่ คนในชุมชนบ้านแม่ห่างใต้ หมู่ที่ 6 และชุมชนบ้านแม่ห่างเหนือ หมู่ที่ 10 ในพื้นที่ตำบลเวียงกาหลง จำนวน 50 คน โดยวิสาหกิจชุมชนฯ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายผ่านการวิเคราะห์สวอต (SWOT analysis) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ จุดแข็ง (Strengths), จุดอ่อน (Weaknesses), โอกาส (Opportunities) และภัยคุกคาม (Threats)
โดยชุมชนกลุ่มเป้าหมายมีจุดแข็งอยู่ที่สถานที่ตั้งอยู่ในตำบลที่มีความสำคัญทางโบราณคดี และยังเป็นทางผ่านที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และลำปาง ทำให้มีนักท่องเที่ยวผ่านเข้ามาตลอด ในขณะที่จุดอ่อนคือการขาดแรงงานที่มีทักษะในการสืบสานภูมิปัญญาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง
ส่วนในปัจจัยเรื่องของโอกาสนั้น ชุมชนกลุ่มเป้าหมายกำลังเป็นพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐให้ความสนใจ และสนับสนุนให้มีกองทุนสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีภัยคุกคามที่สำคัญคือสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวลดลง
นอกจากจะช่วยวิเคราะห์สวอตให้แล้ว วิสาหกิจชุมชนงานเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ยังวางแผนสนับสนุนการสืบสานภูมิปัญญาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง และพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีภาคีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนคอยให้การสนับสนุนอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อโครงการสามารถผลักดันให้คนชุมชนมีทักษะด้านงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาเป็นผลสำเร็จแล้ว พวกเราคงมีโอกาสได้เห็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงในรูปแบบร่วมสมัยมากขึ้น เช่น ภาชนะดินเผาที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง รวมถึงได้เห็นนวัตกรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงในรูปแบบใหม่ อย่างเทคนิคการผสมสูตรน้ำเคลือบเขียนลาย เป็นต้น
นอกจากด้านการเสริมสร้างองค์ความรู้แล้ว โครงการนี้จะช่วยยกระดับของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้คนในชุมชนเวียงกาหลงเอง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพราภูมิปัญญหาที่เป็นต้นทุนของชุมชนนี้ คือสิ่งสำคัญที่กลับมาช่วยอุ้มชูชีวิตความเป็นอยู่และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงมิได้มีความหมายแต่เพียงคุณค่าทางสุนทรียะเท่านั้น แต่ยังเป็นงานฝีมือที่แสดงถึงภูมิปัญญาและพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีของชุมชนด้วย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
ฟื้นฟูทักษะการปั้นและเขียนลายเวียงกาหลงสู่อาชีพที่ยั่งยืน
วิสาหกิจชุมชนงานเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย
- โทร: 089-997-2792
- ผู้ประสานงาน: พระครูโฆษิตสมณคุณ (สมชาติ เครือน้อย)
เป้าประสงค์
ชุมชนมีรายได้จากอาชีพเสริมที่มาจากการปั้นและเขียนลายเวียงกาหลง
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส