ข้าวขุนยวม เป็นผลผลิตข้าวอินทรีย์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมทางเลือก อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประกอบไปด้วยเกษตรกรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ม้ง ไทใหญ่ และคนเมือง โดยเอกลักษณ์ของข้าวขุนยวมอยู่ที่การเป็นผลผลิตจากเกษตรกรรมทางเลือก โดยวิธีธรรมชาติและไม่ใช้สารเคมี
ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีพื้นที่ร้อยละ 90.5 เป็นภูเขาและป่าไม้ และพื้นที่ร้อยละ 9.5 เป็นพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำและที่ราบบนหุบเขา ทำให้เหมาะสำหรับการปลูกข้าวนาสวน ซึ่งเป็นข้าวที่ขึ้นได้ดีบริเวณนาที่มีน้ำขังและระดับน้ำลึกไม่เกิน 50 เซนติเมตร และการปลูกข้าวไร่ ซึ่งเป็นข้าวที่ขึ้นได้ดีบริเวณที่ดอนหรือที่ราบสูงตามไหล่เขา โดยอาศัยเพียงน้ำค้าง น้ำฝน และความชื้นในดินเพื่อเจริญเติบโต และกลายเป็นผลผลิตข้าวอินทรีย์ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของชุมชนที่เรียกกันว่า ข้าวขุนยวม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมทางเลือก จะมีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจและมีความเข้มแข็งมาเป็นระยะเวลานาน แต่สมาชิกในกลุ่มกลับยังไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะทักษะการพัฒนาเพื่อเป็นผู้ประกอบการข้าวขุนยวม ทั้งที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมอินทรีย์ และต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมเป็นฐานราก
ซึ่งทางศูนย์ศึกษานวัตกรรมสังคมและสันติภาพ ที่ดำเนินงานภายใต้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ มองว่า หากเพิ่มโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมทางเลือก ในฐานะทุนมนุษย์ในด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี ตลอดจนทักษะที่จำเป็นและทันสมัยตามโลกสมัยใหม่ได้ ก็จะช่วยยกระดับของกลุ่มวิสาหกิจฯ และเสริมสร้างเสถียรภาพในฐานะผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน
จึงเป็นสาเหตุที่ผลักดันให้เกิด โครงการ “พัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ ‘ข้าวขุนยวม’ เพื่อการสร้างมูลค่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน” ขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 55 คน ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมทางเลือก ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอขุนยวม ได้แก่ บ้านหัวแม่สุรินทร์ บ้านหัวปอน บ้านต่อแพ บ้านขุนยวม และบ้านหลวง
โครงการได้จัดทำหลักสูตรและรวบรวมมีเนื้อหาของการอบรมให้มุ่งเน้นไปที่การสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วอย่างข้าวขุนยวม ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้างมูลค่าก็คือการอบรมเรื่อง ‘การสร้างแบรนด์’ ให้มีอัตลักษณ์แตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในท้องตลาด รวมถึงโครงการจะทำการการอบรมการสร้างสรรค์ ‘ตราสินค้า’ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจวิธีคิดการสร้างโลโก้ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ทั้งยังมีการอบรมเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับการจัดจำหน่าย และการมองหาตลาดเพื่อเป็นแนวทางในการต่อยอดการแปรรูปข้าวสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษานวัตกรรมสังคมและสันติภาพ ยังจับมือกับเครือข่ายอีกหลายหน่วยงาน เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมทางเลือกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การสนับสนุนองค์ความรู้และวิทยากรด้านการประกอบการทางธุรกิจและการตลาด จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, การสนับสนุนการพัฒนาทักษะภาษาเพื่อการประกอบการ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, การสนับสนุนพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ จากตลาดเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ตลาดเจเจ มาร์เก็ต และธุรกิจโฮมเสตย์ในหมู่บ้านอำเภอขุนยวม เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกจากผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ในฐานะข้าวขุนยวมแล้ว หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ อาจนำไปสู่การพัฒนาและแปรรูปข้าวอินทรีย์ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น น้ำไซเดอร์ข้าว (การหมักข้าวให้เป็นยา), ขนมพื้นบ้าน, ข้าวปองต่อ, ข้าวแต๋น หรือแม้กระทั่ง สบู่หรือครีมทาผิวที่มีส่วนผสมจากข้าวอินทรีย์ก็เป็นได้
โครงการได้จัดทำหลักสูตรที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วอย่างข้าวขุนยวม โดยมุ่งไปในเรื่องของ ‘การสร้างแบรนด์’ ให้มีอัตลักษณ์แตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ ‘ข้าวขุนยวม’ เพื่อการสร้างมูลค่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษานวัตกรรมสังคมและสันติภาพ คณะศิลปศาสตร์) จังหวัดเชียงใหม่
- โทร: 084-0424076
- ผู้ประสานงาน: อาจารย์ ดร.จิรวัฒน์ รักชาติ
เป้าประสงค์
1.กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกร (วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนอำเภอขุนยวม และวิสาหกิจชุมชนการค้าชายแดนไทย-เมียนมา) และเกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมโครงการ ได้รับการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการประกอบการข้าวอินทรีย์-ข้าวขุนยวม
2.เกิดผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์-ข้าวขุนยวม ที่สามารถเป็นสินค้าชุมชนที่สำคัญของกลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมโครงการ และเกิดผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกิดจากข้าวอินทรีย์- ข้าวขุนยวม
3.มีการพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ และ/หรือ ช่องทางการตลาดที่ทันสมัยให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส