Banner
ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่

ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดเชียงใหม่ จับมือกับรัฐและเอกชน สนับสนุนให้การผลิตผ้าฝ้ายมัดย้อมเป็นอาชีพทางเลือกสำหรับผู้ป่วยออทิสติก

กลุ่มอาการออทิสติก (Autism Spectrum Disorder: ASD) คือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการสื่อสารกับสังคม ด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมในสถานการณ์ที่หลากหลาย และด้านการมีข้อจำกัดด้านพฤติกรรม ทำให้สามารถเรียนในโรงเรียนปกติได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่สามารถเรียนต่อไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรืออุดมศึกษาได้ 

ทั้งนี้ ตามสถิติของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า ในประเทศไทยมีตัวเลขของผู้ป่วยออทิสติกไม่มากนัก คิดเป็นร้อยละ 0.72 (อ้างอิงจากสถิติ ณ เดือนธันวาคม ปี 2562) เนื่องจากผู้ปกครองไม่นิยมพาบุตรหลานไปจดทะเบียนผู้พิการ นอกจากกลุ่มที่มีอาการรุนแรงมาก ทำให้ผู้ป่วยออทิสติกยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ขาดโอกาสและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่รู้ถึงสมรรถภาพของผู้ป่วยออทิสติก 

ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีภารกิจคือการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพของผู้ป่วยออทิสติกและผู้พิการ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2553 จากการรวมตัวของผู้ปกครอง ผู้ดูแลคนพิการ อาสาสมัคร ผู้ป่วยออทิสติก และผู้พิการประเภทอื่นๆ มองว่า เมื่อผู้ป่วยออทิสติกได้รับการสนุนในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ จะส่งผลให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพบางอย่าง และสามารถพึ่งพาตัวเองได้

ด้วยสาเหตุนี้ ชมรมผู้ปกครองออทิสติก จังหวัดเชียงใหม่ จึงผลักดันโครงการ “พัฒนาทักษะอาชีพการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายมัดย้อม สำหรับสมาชิกชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดเชียงใหม่” ขึ้น เพื่อฝึกอบรมพัฒนาอาชีพด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายมัดย้อม เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพสำหรับผู้ป่วยออทิสติก

นอกจากจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มพูนโอกาสด้านการประกอบอาชีพให้กับผู้ป่วยออทิสติกแล้ว โครงการนี้ยังขยายขอบเขตการพัฒนาให้กว้างขึ้น ด้วยการปรับกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยออทิสติก ผู้พิการประเภทอื่นๆ และสมาชิกในครอบครัวที่ต้องออกจากงานเพื่อประกบดูแลผู้ป่วยและผู้พิการอย่างใกล้ชิด โดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจาก 2 พื้นที่ ได้แก่ สมาชิกจากชมรมผู้ปกครองออทิสติก จังหวัดเชียงใหม่ และสมาชิกจากศูนย์การเรียนรู้การทอผ้า บ้านไร่ใจสุข จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น 50 คน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยออทิสติก และผู้พิการประเภทอื่นๆ ที่ถูกคัดเลือกเป็นกลุ่มเป้าหมาย จะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ว่ามีความพร้อมทางด้านอารมณ์ สติปัญญา และความสามารถทางด้านร่างกาย ทั้งในเรื่องของกล้ามเนื้อและสายตา ซึ่งเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพด้านหัตถกรรมเท่านั้น

โดยชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดเชียงใหม่ วางแผนฝึกอบรมด้านทักษะอาชีพและการประกอบการ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ การฝึกอบรมภาคปฏิบัติด้านการผลิตผ้าฝ้ายมัดย้อม จากศูนย์การเรียนรู้การทอผ้า บ้านไร่ใจสุข ซึ่งมีประสบการณ์ด้านนี้ครบครัน และการฝึกอบรมการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงระบบตลาดและการสร้างแบรนด์ จากบริษัท ซีบีทีเอสซี โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาด ด้วยการจับมือกับเครือข่ายตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น จริงใจมาร์เก็ต มีโชคพลาซ่า โหลงฮิมดาว และ MeeD เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายมัดย้อม ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการสู่โลกภายนอกอีกด้วย

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะทำให้เกิดการยอมรับตัวตนของผู้ป่วยออทิสติก และผู้พิการประเภทอื่นๆ มากขึ้น เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า เมื่อพวกเขาได้รับการพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพ ด้วยความเข้าใจในธรรมชาติและข้อจำกัดด้านความพร้อมทางร่างกายแล้ว กลุ่มเป้าหมายก็สามารถดูแลและประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง และช่วยเหลือภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวได้เช่นกัน  

หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะทำให้เกิดการยอมรับตัวตนของผู้ป่วยออทิสติก และผู้พิการประเภทอื่นๆ มากขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะอาชีพการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายมัดย้อม สำหรับสมาชิกชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดเชียงใหม่

ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดเชียงใหม่

  • โทร: 089-7004396
  • ผู้ประสานงาน: นางดวงพร อ่อนหวาน

เป้าประสงค์

1.ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายมัดย้อมที่ได้คุณภาพมาตรฐาน สามารถจำหน่ายและต่อยอดพัฒนาได้ต่อไป
2.สร้างการรับรู้ การยอมรับ และเกิดเครือข่ายส่งเสริมด้านการตลาดผ้าฝ้ายมัดย้อม
3.สมาชิกชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดเชียงใหม่ มีอาชีพอิสระ สามารถพึ่งพาตนเองได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส