Banner
กลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่

กลุ่มฅนวัยใส เชียงใหม่ จัดอบรมพัฒนาทักษะอาชีพพ่อแม่วัยรุ่นที่นำไปสู่การยืนด้วยตัวเองและสามารถเดินตามความฝันได้อีกครั้ง

จากรายงานของยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุว่าสถานการณ์เด็กและสตรี พ.ศ. 2558-2559 พบว่า สองในสามของเด็กหญิงที่ลาออกหลังจากชั้นมัธยมสามเป็นเพราะตั้งครรภ์หรือมีลูก ส่วนวัยรุ่นชายอีกจำนวนหนึ่งลาออกด้วยเหตุผลในการเลี้ยงดูครอบครัว กลายเป็นช่องโหว่กลางสังคม ที่จำเป็นต้องแก้ไขและส่งเสริมให้พ่อแม่วัยรุ่นมีอาชีพที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิต และเงื่อนไขของชีวิตของพวกเขา

ในปี 2562 หน่วยพัฒนาอาชีพอย่าง กลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินงานส่งเสริมอาชีพกลุ่มพ่อแม่วัยนรุ่นที่อยู่ในพื้นที่ อ.สารภี อ.เมือง อ.หางดง และอ.สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และมีประสบการณ์ทำงานกับพ่อแม่วัยใสมาไม่น้อยกว่า 4- 5 ปี  ได้จัดทำ ‘โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส’ เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยมีการฝึกฝนทักษะอาชีพที่หลากหลายตามความชอบและความสนใจของกลุ่มพ่อแม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนกลุ่มนี้หลุดพ้นจากสถานะสุ่มเสี่ยง และสามารถเลี้ยงดูตนเองและลูกได้อย่างมีความสุข ซึ่งโครงการในปี 2562 นับว่าเป็นโครงการนำร่องที่ช่วยสะท้อนให้เห็นศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้

สำหรับปี 2563 หน่วยพัฒนาฯ จึงได้จัดทำโครงการต่อยอดขึ้น เพื่อสานต่อเจตนารมย์ในการส่งเสริมอาชีพให้กับพ่อแม่วัยรุ่น ในชื่อ ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพขนาดย่อมในกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น’ โดยโครงการได้ทำการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพ่อแม่วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี มาเข้าร่วมจำนวน 50 คน จากนั้นจึงแบ่งสมาชิกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นเดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการและสนใจพัฒนาความรู้ด้านบัญชีและการตลาด
  2. กลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นที่สนใจเข้าร่วมแต่ยังไม่พร้อมรับทุนของปี พ.ศ. 2562
  3. กลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยเข้าร่วมและสนใจเพิ่มพูนทักษะประกอบอาชีพขนาดย่อม

จากองค์ความรู้ที่ถอดบทเรียนในโครงการปี 2562 พบว่าอาชีพส่วนใหญ่ที่กลุ่มเป้าหมายเลือกเรียนรู้และสามารถนำไปใช้สร้างรายได้ได้จริงคืออาชีพผู้ประกอบการอาหาร เช่น การขายหมูปิ้ง ไก่ย่าง ไก่ทอด ขนมวาฟเฟิล ขนมปังปิ้ง วุ้นกะทิ แมลงทอด บัวลอย ลูกชิ้นทอด เป็นต้น โครงการต่อยอดในปี 2563 จึงมุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนทักษะการประกอบอาหารและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตัวเอง โดยมี 2 ทักษะสำคัญที่จะมีการฝึกฝนอบรมคือ

  1. ทักษะอาชีพการประกอบอาหาร ในส่วนนี้โครงการได้เปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายเลือกทักษะการประกอบอาหารในรูปแบบที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นขายอาหารคาว ขายขนมหวาน หรือขายน้ำ โดยโครงการจะจัดหาวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการผลิต และการขายให้กับผู้ที่สนใจ
  2. ทักษะการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ทักษะนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรบผู้ที่ต้องการทำธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยโครงการจะมีการอบรมด้านการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทักษะการค้าขาย การสร้างแบรนด์ การถ่ายภาพสินค้า และการวางแผนธุรกิจและการตลาดบนช่องทางออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพ่อแม่วัยรุ่น ประกอบกับกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การตลาดออนไลน์ส่งตรงถึงหน้าบ้านมีการเติบโตสูง ซึ่งพ่อแม่วัยรุ่นในกลุ่มที่มีสินค้าแล้วจะสามารถเพิ่มช่องทางการขายได้ให้ดียิ่งขึ้น

ในอนาคต โครงการได้วางแผนไปถึงการสร้างความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานในการสนับสนุนช่วยเหลือให้พ่อแม่วัยรุ่นสามารถประกอบอาชีพได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสารภี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ และองค์การเฟรนอินเตอร์เนชั่นแนล โดยรวมกันเชื่อมประสานให้แม่และพ่อวัยรุ่นเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพตามสิทธิ เข้าถึงสวัสดิการทางสังคม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายพ่อแม่วัยรุ่นมีโอกาสและกลับเข้าสู่การเป็นที่ยอมรับของสังคม เดินตามอาชีพในฝันที่ตัวเองต้องการได้เช่นเคย

จากองค์ความรู้ที่ถอดบทเรียนในโครงการปี 2562 พบว่าอาชีพส่วนใหญ่ที่กลุ่มเป้าหมายสนใจและนำไปใช้สร้างรายได้ได้จริงคืออาชีพผู้ประกอบการอาหาร ทำให้โครงการในปี 2563 หน่วยพัฒนาได้นำเอาทักษะการประกอบอาหารมาเป็นหลักสูตรหลักในการฝึกฝนอบรมตามบทเรียนที่ได้เรียนรู้มามาจากปีก่อน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพขนาดย่อมในกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น

กลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่

  • โทร: 089-7007528
  • ผู้ประสานงาน: น.ส.ศรินยา สิงห์ทองวรรณ

เป้าประสงค์

พ่อแม่วัยรุ่น มีเป้าหมายชีวิต สามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม ที่มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข มีความภาคภูมิใจ และมีศักดิ์ศรี

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส