Banner
วิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่

เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์และแปรรูปไข่ออกจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้ชุมชนแม่ทา

ไข่ วัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารที่ไม่ว่าใครๆ ก็ชอบทาน สามารถประกอบอาหารได้หลายร้อยหลายพันเมนู ไม่ว่าจะเป็นเมนูผัด ทอด นึ่งไปจนถึงเมนูเพื่อสุขภาพ อีกทั้งเทรนด์อาหารออร์แกนิค รักสุขภาพ ในปัจจุบันยังส่งผลให้ผู้บริโภคในยุคนี้เลือกซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารกันมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับวัตถุดิบที่ปลอดภัยและมีคุณภาพมากที่สุด 

และถ้าวัตถุดิบของอาหารนั้นคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้นทาง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้บริโภคจะไม่เลือกซื้อสินค้าชนิดนั้น ด้วยเหตุนี้ ชุมชนแม่ทา ชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่มีประชากรประมาณ 4 พันกว่าคนจึงตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือแก้ไขปัญหาการขาดรายได้ ผ่านการคิดริเริ่มจากต้นทุนในพื้นที่ที่ตัวเองมีอยู่ได้แก่ ความรู้ทางด้านการเกษตร 

จากองค์ความรู้ดั้งเดิมที่ชาวชุมชนมีอยู่ร่วมกับการเข้ามาพัฒนาของวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค ก่อให้เกิด ‘โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์’ โดยมุ่งเน้นการผลิตและการตลาดแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อพัฒนาระบบห่วงโซ่อาหารการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมี 3 แนวคิดหลัก คือ

  1. อาหารของไก่ไข่อินทรีย์ ที่ใช้วัตถุดิบหลักอย่างเช่น ข้าวโพด ปลายข้าว และรำละเอียด ที่ได้จากกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์แม่ทาให้ผลิตอาหารสัตว์อินทรีย์ให้กับโครงการฯ และมีการรวมกลุ่มเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อใช้เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนกากถั่วเหลืองที่ผลิตในระบบเกษตรเคมี
  2. ระบบวิธีการเลี้ยงที่มีความเป็นธรรมชาติ โดยการปล่อยไก่ให้มีอิสระในการเดินออกกำลังกาย กินหญ้าธรรมชาติ ทำให้ไก่ไม่เกิดความเครียด
  3. การตลาดที่มีความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยการคำนวณต้นทุนในการผลิตที่แท้จริงที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ไข่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงในระบบอินทรีย์ต่อไป

จากแนวคิดดังกล่าว ส่งผลให้โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ สามารถผลิตไข่ไก่อินทรีย์ออกจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปได้รับประทาน ไข่ไก่คุณภาพดี ทั้งยังเพียงพอกับคนในชุมชน กล่าวคือ ทุกคนเข้าถึงและได้ทานวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย

นอกจากนั้นแล้ว โครงการฯ ยังได้ออกแบบหลักสูตรเพื่อให้ความรู้แก่ชุมชนอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ เช่น หลักสูตรการพัฒนาระบบห่วงโซ่อาหาร ที่เปลี่ยนวิธีคิดให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดอินทรีย์และใช้หนอนแมลงวันลายมาเป็นส่วนผสมของอาหารไก่ไข่ โดยจะมีการพากลุ่มเป้าหมายเข้าไปศึกษาดูงานในต่างพื้นที่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเรียนรู้ผ่านคนที่สำเร็จ ทั้งยังมีการอบรมการใช้ปุ๋ยคอกทดแทนปุ๋ยเคมีเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ ต่อยอดการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไข่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้หลักการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการสร้างโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่ ซึ่งจะมีการเชิญวิทยากรจากพื้นที่ที่มีประสบการณ์เข้ามาฝึกสอนให้ความรู้ด้วย โดยในช่วงท้ายของโครงการ จะมีการจัดกิจกรรมผู้ผลิตพบผู้บริโภคที่จะเชิญเอากลุ่มผู้บริโภคในเมืองเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มเพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องไข่อินทรีย์ให้แก่ผู้บริโภค และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคให้แน่นแฟ้น

จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าในการพัฒนาชุมชนของวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิคนั้น เริ่มจากการมองเห็นปัญหาของพื้นที่และหาทางออกร่วมกันผ่านการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมและต้นทุนที่ชุมชนมีมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง

การพัฒนาชุมชนของวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิคนั้น เริ่มจากการมองเห็นปัญหาของพื้นที่และหาทางออกร่วมกันผ่านการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมและต้นทุนที่ชุมชนมีมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์

วิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค จังหวัดเชียงใหม่

  • โทร: 065-4785492
  • ผู้ประสานงาน: นายยุทธศักดิ์ ยืนน้อย

เป้าประสงค์

กลุ่มเป้าหมายมีการรวมกลุ่มและมีการบริหารจัดการที่ดีตลอดห่วงโซ่การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการได้บริโภคไข่ไก่ที่มีความปลอดภัยต่อร่างกายและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานในแต่ละส่วนของห่วงโซ่

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส