ชาวปกาเกอะญอมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกันกับป่าอย่างยั่งยืนมาแต่ยาวนาน มีการจัดสรรพื้นที่จากภูมิปัญญาและความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เช่นเดียวกับชาวปกาเกอะญอในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่ยังยังคงสืบสานแนวคิดอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรในระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งอาหารปราศจาคสารเคมีของคนในพื้นที่ โดยการทำไร่หมุนเวียนทำให้คนในพื้นที่มีอาหารปริมาณมากพอสำหรับทานกันในครัวเรือน มีในพื้นที่มีภูมิปัญญาในการเก็บเมล็ดพันธุ์ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหารและสามารถพึ่งพาตนเองได้
แต่เมื่อเวลาและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ชุมชนไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ต้องมีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกและพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้นการพัฒนาความรู้และทักษะในการนำผลผลิตจากไร่หมุนเวียน ได้แก่ พืชผักอินทรีย์ให้เป็นสินค้าเพื่อออกขายและสร้างรายได้ให้ชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนักมากยิ่งขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของชุมชนคือ ชุมชนต้องรักษาการทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนให้ยังคงอยู่ เพื่อให้ธรรมชาติและระบบนิเวศยังอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม อีกทั้งยังต้องให้ความใส่ใจในเรื่องของความสมดุลระหว่างธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติและคน เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ร่วมกันได้
เครือข่ายเยาวชนเบ๊อะบละตู เป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยชาวชุมชนทั้งหมด 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน รวมตัวกันเพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องของการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแนวคิดของการจัดการระบบไร่หมุนเวียน เครือข่ายฯ จึงได้จัดตั้ง ‘โครงการการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างระบบการแลกเปลี่ยนและจำหน่ายผลผลิตจากไร่หมุนเวียนของเครือข่ายเยาวชนปกาเกอะญอเบ๊อะบละตู’ ขึ้นเพื่อฝึกฝนให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างระบบการเกษตรไร่หมุนเวียนเป็นพื้นฐาน ให้เยาวชนมีทักษะความรู้ด้านการจำหน่ายสินค้าชุมชนรวมถึงมีการจัดการเกษตรอย่างเป็นระบบ
โครงการฯ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มทักษะตนเองในการเป็นผู้นำเพื่อพัฒนาชุมชนให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพของการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการนำภูมิปัญญาไร่หมุนเวียนของบรรพบุรุษมาให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้และสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงาม ทั้งยังเป็นการนำไปสู่การมีชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้
โครงการฯ จึงได้ออกแบบหลักสูตรมารองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เรื่องระบบการแลกเปลี่ยนและจำหน่าย การกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนและจำหน่าย การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์และไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ไปจนถึงการจัดการระบบบัญชี
เพื่อให้เยาวชนทุกคนมีองค์ความรู้ครบถ้วนในการร่วมกันพัฒนาชุมชนต่อไป และที่สำคัญที่สุดคือเยาวชนจะได้ไม่ลืมรากเหง้าที่ดีของตนเองและพยายามสืบทอดให้คงอยู่นานเท่านาน
โครงการฯ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มเป้าหมายผ่านการนำภูมิปัญญาไร่หมุนเวียนของบรรพบุรุษมาให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้และสืบสานอนุรักษ์
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างระบบการแลกเปลี่ยนและจำหน่ายผลผลิตจากไร่หมุนเวียนของเครือข่ายเยาวชนปกาเกอะญอเบ๊อะบละตู
มูลนิธิช่วยเหลือเด็กชายแดน จังหวัดตาก
- โทร: 08-9564-7691
- ผู้ประสานงาน: นางปราณี อ่อนทุวงศ์
เป้าประสงค์
1.เยาวชนมีความรู้ระบบการแลกเปลี่ยนและการจำหน่ายผลผลิตจากไร่หมุนเวียน
2.เยาวชนมีข้อมูลจำนวนผลผลิต ชนิด ประเภท อัตราแลกเปลี่ยนผลผลิตจากไร่หมุนเวียน และมีศักยภาพในการแลกเปลี่ยนและจำหน่ายผลผลิตจากไร่หมุนเวียน
3.เยาวชนมีช่องทางในการแลกเปลี่ยนและจำหน่ายผลผลิตจากไร่หมุนเวียน
4.เยาวชนมีเครือข่ายภาคีทั้งภายในและภายนอกพื้นที่
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส