Banner
มหาวิทยาลัยนครพนม (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม)
นครพนม

ม.นครพนมพัฒนาอาชีพผู้ว่างงานให้มีทักษะสามารถดูแลกลุ่มที่ต้องการได้รับการพึ่งพิง ช่วยหมุนเวียนรายได้ในพื้นที่

จังหวัดนครพนม คือหนึ่งในจังหวัดที่มีผู้ที่ต้องการได้รับการพึ่งพิงเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กอ่อน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ทำให้ ‘อาชีพผู้ดูแล’ เป็นที่ต้องการอย่างมากในจังหวัด ทำให้ปริมาณของผู้ที่มีทักษะนี้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น 

มหาวิทยาลัยนครพนม (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม) สถาบันฯ ที่มีความใกล้ชิดกับพื้นที่และดูแลประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด พบว่าในตำบลนาราชควาย ตำบลหนองญาติ และตำบลอาจสามารถ มีจำนวนผู้ที่ต้องการได้รับการพึ่งพิงเป็นจำนวนมาก สถาบันฯ จึงได้จัดตั้ง  ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพด้านการดูแลสุขภาพกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในเขตจังหวัดนครพนม’ เพื่อต่อยอดแนวคิดในการสร้างทักษะอาชีพนี้ให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรายได้และการว่างงานในชุมชน รวมถึงตอบความต้องการของตลาดแรงงานประเภทนี้ด้วย

หลังจากที่โครงการฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ก็ได้พบว่า ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพทำการเกษตร รองลงมาคืออยู่ระหว่างการศึกษา และอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยทั้งสามกลุ่มนี้ล้วนเป็นแรงงานนอกระบบที่มีรายได้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดไว้ ทำให้พวกเขาขาดแคลนโอกาสในพัฒนาตัวเอง และต้องประสบกับอุปสรรคหลายๆ ด้านในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน

หน่วยพัฒนาฯ จึงได้เชื่อมผู้ด้อยโอกาสกลุ่มนี้เข้ามาฝึกฝนในโครงการ เพื่อที่จะแก้ปัญหาเรื่องรายได้ พร้อมๆ ไปกับการเพิ่มปริมาณของอาชีพผู้ดูแลให้มากขึ้นด้วย

โครงการฯ จึงได้ออกแบบหลักสูตรขึ้น ประกอบไปด้วย

1.การอบรมภาคทฤษฎี เป็นการปูความรู้ให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจความต้องการของกลุ่มพึ่งพิงอย่างละเอียด จำนวน 140 ชั่วโมงที่วิทยาลัยพยาบาล 

2.การอบรมภาคทดลอง เป็นการให้ผู้อบรมได้ทดลองดูแลกลุ่มพึ่งพิงในเบื้องต้น เช่น การตรวจร่างกาย การอาบน้ำ การจัดท่า และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

3.การอบรมภาคปฏิบัติ เป็นการให้ผู้เข้าอบรมได้ทำงานจริงภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญในสถาบันฯ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยจะได้ลงมือปฏิบัติจริงกับกลุ่มผู้ที่ต้องการได้รับการพึ่งพึงอย่างเด็กอ่อน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง 

เมื่อกลุ่มเป้าหมายเรียนรู้จนครบทุกหลักสูตร และสามารถลงพื้นที่ไปดูแลกลุ่มที่ต้องการได้รับการพึ่งพิงเองได้ จะส่งผลให้พวกเขามีรายได้จากการจ้างงาน เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน มีการไปมาหาสู่กันไปจนกระทั่งเกิดภาพที่ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้

ในการจัดทำโครงการฯ ครั้งนี้ทำให้เห็นภาพความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับชุมชน โดยมีสถานพยาบาลถึง 15 แห่ง ที่เปิดรับผู้อบรมให้เข้าไปฝึกฝน ซึ่งในอนาคตสถานพยาบาลเหล่านี้ก็จะสามารถจ้างงานกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมได้ต่อไป รวมถึงโครงการยังได้ประสานกับหน่วยงานเอกชนเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับแรงงานผู้ดูแลที่จบหลักสูตรไปแล้วด้วย ทำให้โครงการพัฒนาทักษะฯ ของม.นครพนมนี้ มีความครบวงจรในแง่ของการสร้างทักษะที่ตอบความต้องการของชุมชน ไปจนถึงการสร้างงานเพื่อแก้ปัญหาแรงงานในพื้นที่อีกด้วย

 

หากกลุ่มเป้าหมายเรียนรู้จนครบทุกหลักสูตร  สามารถลงพื้นที่ไปดูแลกลุ่มที่ต้องการได้รับการพึ่งพิงเองได้ จะส่งผลให้พวกเขามีรายได้จากการจ้างงาน เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน มีการไปมาหาสู่กันไปจนกระทั่งเกิดภาพที่ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพด้านการดูแลสุขภาพกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในเขตจังหวัดนครพนม

มหาวิทยาลัยนครพนม (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม)

  • โทร: 08 9713 2185
  • ผู้ประสานงาน: นายเอื้อ มูลสิงห์

เป้าประสงค์

  1. ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวในอนาคตได้
  2. พื้นที่นครพนมมีประชาชนที่มีความพร้อมในด้านความรู้ เจตคติและทักษะในการดูแลเด็กอ่อน การดูแลผู้สูงอายุ และการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ที่สามารถจ้างงานเพื่อให้การดูแลคนกลุ่มพึ่งพิงในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ ไม่ต้องไปหาจ้างงานจากจังหวัดอื่นหรือจากประเทศลาว เวียดนาม 
  3. กลุ่มผู้พึ่งพิงได้รับการดูแลจากผู้ดูแลที่ผ่านการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจ เจตคติและทักษะการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ
  4. เป็นการสร้างคนให้มีความภูมิใจในตนเอง ให้รักบ้านเกิด ทำงานที่บ้านเกิด ไม่เกิดสมองไหลไปทำงานที่เมืองใหญ่จนเกิดความหนาแน่นจนเกินไป
  5. ลดการกระจาย การเดินทางของประชาชนในพื้นที่ เป็นกระบวนการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ได้อีกทางหนึ่ง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส