Banner
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน
นครศรีธรรมราช

จาก ‘ต้นคลุ้มพืช’ ที่ขึ้นตามผืนน้ำสู่ผลิตภัณฑ์จากคลุ้มสร้างอาชีพให้คนพื้นถิ่น

เมื่อพูดถึง ‘เครื่องจักสาน’ หลายคนคงคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์อย่าง ตะกร้า กระเป๋า ฝาชี กระบุง งอบ หรือข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ที่ทำมาจากไม้ยอดฮิตอย่าง หวาย หรือ ไผ่ แต่น้อยคนจะรู้ว่ามีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีความแข็งแรง ทนทาน และนิยมนำมาใช้ในการผลิตเครื่องจักสานกันตั้งแต่โบราณ อย่าง ‘ต้นคลุ้ม’

ต้นคลุ้ม คือพืชท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างพื้นที่ใกล้ลำธาร ริมคลอง หรือ ท้องนา ซึ่งเป็นพืชที่คนไทยเราใช้ประโยชน์ในการสร้างเครื่องจักสานรูปแบบต่างๆ มาช้านาน ทว่าทุกวันนี้ปริมาณของผู้ผลิตคลุ้มลดลง เนื่องจากการจักสานคลุ้มเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและความพิถีพิถันอย่างมาก ตั้งแต่กระบวนการเก็บคลุ้ม การตากแห้ง การนำมาทำให้เป็นเส้น จนกระทั่งนำมาสานให้เป็นทรง ทำให้ในหลายๆ ชุมชนที่เคยมีการผลิตคลุ้มเพื่อใช้งานและจัดจำหน่าย เริ่มไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญาชนิดนี้ต่อ

ทว่าในขณะที่หลายๆ ชุมชนเริ่มมีแรงงานผู้ผลิตงานหัตถกรรมจากคลุ้มน้อยลง พื้นที่บ้านทุ่งใน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำซึ่งเป็นรอยต่อกับของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง กลับมองเห็นโอกาสของตลาด และเกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อสืบสานภูมิปัญญาชนิดนี้ในชื่อ ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน’ โดยเกิดจากการเริ่มต้นด้วยคนไม่กี่คน แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือหารายได้จากการจักสานคลุ้ม พืชท้องถิ่นที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตมากแต่ได้ผลตอบแทนสูง หลังจากผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายและคนในพื้นที่ได้เห็นผลว่าขายได้จริงทำให้ในปีถัดมาสมาชิกในกลุ่มจึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว 

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน จึงเล็งเห็นว่านี่คือโอกาสสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักเป็นเกษตรกร ทั้งสวนยางพาราและสวนผลไม้ แต่กลับไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ไม่มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต วิสาหกิจฯ จึงได้ก่อตั้ง ‘โครงการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพจักสานคลุ้มของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน’ เพื่อพัฒนาและยกระดับงานจักสานจากคลุ้มที่ใช้เวลาปลูกเพียง 2-3 ปี ก็สามารถนำมาจักสานได้และที่สำคัญสามารถปลูกในสวนยางพาราหรือสวนผลไม้โดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านได้อีกด้วย

โดยโครงการฯ จัดทำมาเพื่อผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด ซึ่งโครงการฯ ได้วิเคราะห์ปัญหาหลักที่พบในพื้นที่ได้ดังนี้ การที่กลุ่มวิสาหกิจฯ ไม่สามารถจักสานคลุ้มได้ทันความต้องการของตลาด ทำให้รายได้ของกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบเส้นคลุ้ม การจักตอกเส้นที่ต้องใช้ภูมิปัญญาจากตัวคนซึ่งมีผู้ชำนาญการเพียงแค่ไม่กี่คนรวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ไม่สามารถนำคลุ้มมาตากแดดให้แห้งได้ นอกจากนี้ชาวชุมชนยังขาดองค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และพัฒนาลวดลายใหม่ๆ ออกมาขาย ดังนั้นโครงการฯ จึงเข้ามาช่วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโดยออกแบบหลักสูตรสำหรับแก้ปัญหาและตรงความต้องการกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านการจักสานคลุ้ม หลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะด้านการตลาด หลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะด้านการจัดทำบัญชีและการเงิน หลักสูตรเพื่อพัฒนาเครื่องมือสำหรับเหลาคลุ้มแบบกึ่งอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ และหลักสูตรเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชสมรม ลดพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว

โครงการฯ จึงมุ่งหวังว่าหลังจากชุมชนได้เรียนครบทุกหลักสูตรและกิจกรรมที่ดำเนินมาเสร็จสิ้น สมาชิกในโครงการฯ และกลุ่มวิสาหกิจฯ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 เมื่อเทียบจากรายได้เดิม มีการเกิดขึ้นของนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้การผลิตจักสานคลุ้มมีคุณภาพและได้ปริมาณมากขึ้น และที่สำคัญเกิดพื้นที่เรียนรู้การปลูกพืชหลากหลาย โดยนำต้นคลุ้มไปปลูกคู่กับสวนเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้คนในพื้นที่กระจายความเสี่ยงจากการหารายได้ได้หลายทางขึ้น

 

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน มีจุดประสงค์เพื่อหารายได้จากการจักสานคลุ้ม พืชท้องถิ่นที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตมากแต่ได้ผลตอบแทนสูง หลังจากผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายและคนในพื้นที่ได้เห็นผลว่าขายได้จริงทำให้ในปีถัดมาสมาชิกในกลุ่มจึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพจักสานคลุ้ม ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน

  • โทร: 09 3601 3194
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวพรศรี คงศิริ

เป้าประสงค์

  1. สมาชิกกลุ่มจักสานมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 เปรียบเทียบจากรายได้เดิมก่อนดำเนินโครงการ
  2. เกิดนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพและปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้ม
  3. เกิดพื้นที่เรียนรู้การปลูกพืชสม โดยการปลูกต้นคลุ้มในสวนยางพารา

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส