ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแม่น้ำน่าน พื้นที่ราบใช้เป็นที่ตั้งของชุมชนและทำเกษตรกรรม ส่วนพื้นที่ภูเขา บางส่วนเป็นพื้นที่ป่า บางส่วนเป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ โดยมีพืช ผลไม้ และต้นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าว ลิ้นจี่ มะม่วง ลำไย ไม้สัก และยางพารา
ทว่า การประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมกลับเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าในตำบลดู่พงษ์ เพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตรสำหรับปลูกพันธุ์ไม้เศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดและยางพารา ส่งผลให้พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย จนเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการลดทอนความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมี ส่งผลให้คนในชุมชนมีสารพิษตกค้างในร่างกาย ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้เกิดภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประการ
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการจากหลากหลายภาคส่วนต้องปิดกิจการ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อแรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้าง จนขาดรายได้สำหรับเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ต้องกลับภูมิลำเนาโดยที่ไม่มีงานรองรับ ซึ่งบ่มเพาะให้เกิดปัญหากับเยาวชนและวัยแรงงานที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและโอกาสทางสังคม เนื่องจากช่วยเพิ่มพูนความเสี่ยงให้พวกเขาหลงผิด ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคต
มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ ต้องการป้องกันปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้นทาง จึงริเริ่ม “โครงการพัฒนาทักษะเกษตรปราณีตให้กับเกษตรกรผู้ด้อยโอกาส ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน” ขึ้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้และทักษะด้านการเกษตรปราณีต เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพและเกิดกระบวนการสร้างเครือข่ายระดับตำบล
ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 80 คน จากพื้นที่ในตำบลดู่พงษ์ 8 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านน้ำโซ้ง หมู่บ้านดู่พงษ์ หมู่บ้านภูแยง หมู่บ้านดอนดู่พงษ์ หมู่บ้านโป่งคำ หมู่บ้านกิ่วม่วง หมู่บ้านต้นผึ้ง และหมู่บ้านพวงพยอม
โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ทักษะการทำเกษตรแบบปราณีตผสมผสานกับแนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพียงน้อยนิด ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ผ่านการวางแผนพัฒนาและจัดการแปลงเกษตรที่สามารถก่อให้เกิดผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมีได้อย่างต่อเนื่อง
กล่าวคือ ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักวางแผนและคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแนะนำให้กลุ่มเป้าหมายปลูกผักในระบบโรงเรือนกางมุ้ง เนื่องจากโรงเรือนปลูกผักแบบกางมุ้งสามารถสร้างเองได้จากไม้ไผ่ ซึ่งมีต้นทุนต่ำ สามารถสร้างโรงเรือนขนาดความกว้าง 6 เมตร, ความยาว 30 เมตร, และความสูง 3 เมตร (ในพื้นที่ 180 ตารางเมตร) ได้ พร้อมกับระบบน้ำครบครัน ภายใต้งบประมาณไม่เกิน 20,000 บาท
การส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ทักษะการทำเกษตรแบบปราณีตผสมผสานกับแนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพียงน้อยนิด ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ผ่านการวางแผนพัฒนาและจัดการแปลงเกษตรที่สามารถก่อให้เกิดผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมีได้อย่างต่อเนื่อง
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะเกษตรปราณีตให้กับเกษตรกรผู้ด้อยโอกาส ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน จังหวัดน่าน
- โทร: 089-5225285
- ผู้ประสานงาน: นายวรการณ์ จันอ้น
เป้าประสงค์
1.เสริมสร้างทักษะด้านการเกษตรปราณีตให้กับเกษตรกรผู้ด้อยโอกาส เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพและเกิดกระบวนการจัดการกลุ่มสร้างเครือข่ายระดับตำบล
2.เก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายตำบลดู่พงษ์ จำนวน 80 คน
3.พัฒนาศักยภาพทักษะเกษตรปราณีตให้กับกลุ่มเป้าหมายตำบลดู่พงษ์ จำนวน 80 คน
4.สร้างเครือข่ายแกนนำเกษตรปราณีตระดับตำบล
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส