ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและทำนาเป็นหลัก แต่ก็ทำไร่มันสำปะหลังและไร่อ้อยควบคู่ไปด้วย และยังมีกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน คือการปลูกเพื่ออยู่ เพื่อกิน และเพื่อใช้ในครัวเรือน ดังนั้น ชุมชนจึงมีความรู้เรื่องการเกษตรเป็นทุนเดิมกันอยู่แล้ว
แม้ว่าครอบครัวส่วนใหญ่ในชุมชนจะมีฐานะพอมี พอกิน และพอใช้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่ต้องการรายได้เป็นตัวเงิน เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว เป็นเหตุให้หลายครอบครัวต้องส่งลูกหลานวัยแรงงานไปทำงานต่างถิ่น หรือกระทั่งต่างประเทศ อาทิ ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และนิวซีแลนด์ เพื่อหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว แต่หลังจากที่สถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น เงินที่ผู้ปกครองเคยหวังจากลูกหลานก็กลับขาดหาย เนื่องจากบางคนถูกเลิกจ้าง บางคนถูกให้หยุดงานชั่วคราว และถูกส่งตัวกลับประเทศไทย
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่ส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนและการเกษตรแบบผสมผสาน จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยอาศัยกรอบการดำเนินงานจาก โครงการธนาคารพันธุ์พืช ซึ่งเคยจัดทำขึ้นในชุมชนเมื่อไม่กี่ปีก่อน และประสบความสำเร็จในการน้อมนำแนวทางการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนเข้ามาปรับใช้ได้ โดยช่วยปลูกฝังให้กลุ่มเป้าหมายรู้คุณค่าของป่าชุมชน และร่วมกันบริจาคกล้าไม้ เพื่อนำไปปลูกในป่าชุมชน
แม้ว่าผลของการดำเนินโครงการที่ผ่านมาจะเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังพบปัญหาและข้อจำกัดของกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเป้าหมายมีความหลากหลาย และเป็นกลุ่มพิเศษที่มีความบกพร่องทั้งร่ายกายและสติปัญญา ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อยจึงนำข้อด้อยจากโครงการเดิมมาปรับใหม่เป็น “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสีเขียว” ขึ้น แต่ปรับปรุงให้เนื้องานมีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมุ่งหวังให้โครงการนี้ช่วยยกระดับของกลุ่มเป้าหมายที่มีอาชีพเพาะพันธุ์กล้าไม้ และเสริมสร้างโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายสามารถจำหน่ายกล้าไม้ กล้าผักสวนครัว และกล้าสมุนไพรต่างๆ อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังต้องการช่วยลดรายจ่ายจากการซื้อต้นกล้าพันธุ์ไม้ต่างๆ และก่อให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้อีกด้วย
ซึ่งโครงการนี้วางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่จำนวน 50 คน จากพื้นที่ในชุมชนตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศ 7 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านสระคูณ หมู่บ้านผักกาดหญ้า หมู่บ้านหนองโดนน้อย หมู่บ้านปิดทอง หมู่บ้านใหม่สามัคคี หมู่บ้านหนองเติ่นวัว และหมู่บ้านสนวน และจากพื้นที่ในชุมชนตำบลผไทรินทร์ 1 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านหนองพะอง
การดำเนินงานของโครงการพัฒนาผู้ประกอบการสีเขียว จะเริ่มต้นจากการเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ และเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งถือเป็นการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกลุ่มเป้าหมายจากโครงการเดิมที่ผ่านหลักสูตรของศูนย์การเรียนรู้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งได้มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการและการประชาสัมพันธ์โครงการ ตามลำดับ
เมื่อกลุ่มเป้าหมายในโครงการใหม่มีความรู้และทักษะที่เชี่ยวชาญ ก็จะส่งผลให้เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น จากเดิมที่เคยเพาะพันธุ์กล้าไม้เพื่อใช้กิน แจก แลก ใช้ ภายในชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่ใจคุณภาพ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขัน เพื่อให้สามารถต่อสู้กับตลาดภายนอกได้อย่างเต็มที่ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบล ในการจัดซื้อกล้าไม้เพื่อนำไปปลูกบริเวณพื้นที่สาธารณะในท้องถิ่น ร่วมถึงการสนับสนุนจากร้านสานรุ้งพันธุ์ไม้ พ่ออ่าง ในการช่วยจัดจำหน่ายสินค้าอีกแรง
นอกจากนี้ คณะทำงานยังต้องการพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ให้กลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถบริหารธุรกิจของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในโลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยการเพิ่มช่องทางการตลาดด้วยระบบการค้าขายออนไลน์
ทั้งนี้ หากโครงการนี้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น จะส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายมีความพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 และผู้ประกอบการสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการพัฒนากลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำได้อย่างยั่งยืน
เมื่อกลุ่มเป้าหมายในโครงการใหม่มีความรู้และทักษะที่เชี่ยวชาญ ก็จะส่งผลให้เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น จากเดิมที่เคยเพาะพันธุ์กล้าไม้เพื่อใช้กิน แจก แลก ใช้ ภายในชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่ใจคุณภาพ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขัน เพื่อให้สามารถต่อสู้กับตลาดภายนอกได้อย่างเต็มที่
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาผู้ประกอบการสีเขียว
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย จังหวัดบุรีรัมย์
- โทร: 080-1495708
- ผู้ประสานงาน: นายวีระ สิทธิสาร
เป้าประสงค์
1.กลุ่มเป้าหมายเกิดทักษะเกี่ยวกับสุขภาพเกี่ยวกับการป้องกันและการปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของไวรัสโควิด-19
2.กลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้และได้รับการพัฒนาทักษะสู่การเป็นผู้ประกอบการสีเขียว
3.กลุ่มเป้าหมายเกิดการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จากการผลิตกล้าไม้ของครอบครัว
4.กลุ่มเป้าหมายเกิดเครือข่ายความร่วมมือหนุนเสริมการผลิตและการตลาด
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส