ชุมชนตำบลบางหลวง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นชุมชนชนบทที่ห่างไกลจากเขตเมือง และด้วยสาเหตุนี้ ทำให้อิทธิพลจากโลกภายนอกแทบจะไม่มีผลกระทบใดๆ และส่งผลให้ชุมชนยังรักษาทุนดั้งเดิมไว้ได้ โดยเฉพาะทรัพยากรดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และทุนทางด้านการบริหารจัดการชุมชน สามารถจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชื่อ ‘สวนบวรรังษี’ เป็นที่น่าภาคภูมิใจของชุมชน
อย่างไรก็ดี ด้วยสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นหลัก แม้จะมีรูปแบบการผลิตที่แตกต่างกัน โดยสามารถจำแนกรูปแบบการผลิตในชุมชนได้เป็น 2 ระบบหลักๆ ได้แก่ ระบบผลิตภาคการเกษตรแบบกึ่งยังชีพกึ่งการค้า ที่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคและขายเป็นรายได้เพื่อใช้จ่ายรายวัน และระบบผลิตแบบเกษตรเชิงพาณิชย์ ที่เน้นการผลิตเพื่อขายเป็นรายได้หลัก เช่น การทำนาปรัง ซึ่งระบบการผลิตในภาคการเกษตรอย่างหลัง ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เนื่องจากต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอกชุมชน ส่งผลให้สูญเสียต้นทุนการผลิตมากขึ้น ทั้งด้านการจ้างแรงงาน การใช้เครื่องจักรกล การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช จนเป็นสาเหตุให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืช และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ชุมชนชาวสวนบางหลวง จึงจัดตั้ง “โครงการส่งเสริมการผลิตสารชีวภาพ และแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนสวนบางหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย และการนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเป็นกล้วยตาก มะม่วงกวน และน้ำสมุนไพรดอกอัญชัน เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 50 คน จากพื้นที่ในชุมชนตำบลบางหลวง
โดยโครงการจะเริ่มต้นจากการพัฒนาความรู้ในด้านการทำเกษตรปลอดภัย ด้วยการปรับลดต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้นไปที่การลดหรือเลิกใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี เพื่อป้องกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในกระบวนการผลิต และหันมาใช้สารชีวภาพที่ผลิตได้ด้วยตัวเองจากอาหารเหลือใช้หรือสารอินทรีย์ต่างๆ และผลิตพืชผักตามระบบเกษตรปลอดภัยแทน โดยตลอดโครงการฯ นั้นได้รับความร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้จากสำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสำนักงานเกษตรอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นอกจากนี้ คณะทำงานยังใส่ใจไปถึงการพัฒนาทักษะอาชีพด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาชุมชนให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
อย่างไรก็ดี หากโครงการฯ ดังกล่าวสามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนตำบลบางหลวงจะมีเกษตรกรผู้ใช้สารชีวภาพทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ก่อเกิดเป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างให้คนในชุมชนและผู้ที่สนใจเห็นเป็นตัวอย่างว่า
การทำเกษตรปลอดภัยสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต และลดภาระหนี้สินในครัวเรือนได้อย่างมั่นคง ทั้งยังช่วยให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคมีร่างกายแข็งแรง เพราะทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการผลิตปราศจากสารเคมีตกค้างสู่ร่างกาย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
ส่งเสริมการผลิตสารชีวภาพ และแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนสวนบางหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ชุมชนชาวสวนบางหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- โทร: 080-630-8987
- ผู้ประสานงาน: นายยศสรัล ศรีสุข
เป้าประสงค์
มีกลุ่มอาชีพเกษตรปลอดภัยและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ สามารถเพิ่มรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส