การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมทางอาหารที่คนส่วนใหญ่ให้ความนิยมมาแต่ช้านาน ส่งผลให้ตลาดชาขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้บริโภคเติบโตขึ้นทุกปี เช่นเดียวกัน ผู้บริโภคก็เริ่มถามหาความสะอาดและปลอดภัยจากที่มาของชาเหล่านั้น เมื่อกระแสออร์แกนิคกำลังมาแรง
ด้วยความต้องการของตลาด ผนึกรวมกับกับความเข้มแข็งของหมู่บ้านนาไผ่ จังหวัดแพร่ ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกข้าว มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำนาเป็นอย่างดี รวมถึงยังสามารถเข้าสู่มาตรฐานข้าวปลอดภัยและวิถีเกษตรอินทรีย์ได้แล้ว โดยในปีพ.ศ. 2554 ชาวบ้านนาไผ่สามารถจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องอินทรีย์บ้านนาไผ่ได้สำเร็จ โดยมุ่งเน้นไปที่การแปรรูปข้าวกล้องอินทรีย์ และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของชุมชนที่ชื่อว่า “บ้านไร่ต้นฝัน”
แต่การขายข้าวอินทรีย์แต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และความพยายามในการเสาะหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ วิสาหกิจชุมชนจึงได้มองเห็น ‘โอกาส’ จากใบของต้นข้าว ที่สามารถนำมาแปรรูปและชงเป็นน้ำชาที่รสชาติดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย
“โครงการชาใบข้าว สร้างอาชีพชุมชนอย่างยั่งยืน” ภายใต้วิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องอินทรีย์บ้านนาไผ่จึงถือเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ชาวบ้านนาไผ่สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการทำนา และมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่คนในพื้นที่รู้สึกภาคภูมิใจ โดยวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องอินทรีย์บ้านนาไผ่ได้มีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้ามาร่วมโครงการทั้งหมด 54 คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ด้อยโอกาสอย่างแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผู้ว่างงาน ผู้พิการ และผู้สูงอายุในพื้นที่
หลักสูตรที่โครงการได้วางไว้มีความครอบคลุมกระบวนการผลิตชาใบข้าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กล่าวคือ มีการอบรมและถ่ายทอดทักษะการปลูกข้าวออร์แกนิค เพื่อให้ได้ใบข้าวออร์แกนิคมาแปรรูปเป็นชา มีการสอนวิธีการแปรรูปชาใบข้าวและสุดท้ายคือ สอนวิธีการจัดจำหน่ายชาใบข้าวออร์แกนิคให้ได้มาตรฐานและส่งเสริมการตลาดผ่านทางโซเชียลมีเดีย และในอนาคตทางโครงการคาดหวังว่าสมาชิกที่ผ่านการอบรมไปแล้วจะมีโอกาสในการไปจับคู่กับธุรกิจต่างๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ รวมถึงสร้างมาตรฐานของสินค้าจนสามารถไปประชาสัมพันธ์แบรนด์ของตัวเองในงานแสดงสินค้าในประเทศได้
นอกจากนี้ ตลอดระยะทางที่ดำเนินการทั้งหมดนั้น โครงการได้มีการร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ที่เข้ามาช่วยเหลือในด้านการวิจัยชาใบข้าว สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ที่สนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป การทำบรรจุภัณฑ์ และการจัดจำหน่าย ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ที่เข้ามาช่วยดูแลและเอื้อเฟื้อองค์ความรู้ในโครงการปลูกข้าวอินทรีย์
ในเบื้องต้นโครงการจะต้องพบกับความท้าทายและสิ่งที่ต้องดำเนินงานอีกมาก แต่โครงการเองก็หวังและเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าในท้ายที่หน่วยพัฒนาจะสามารถอบรมกลุ่มเป้าหมายจะเกิดทักษะและนำองค์ความรู้นั้นไปสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครัวเรือนของตนได้ นอกจากนี้โครงการยังมองไปไกลถึงการต่อยอดให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการถ่ายทอดทักษะอาชีพการปลูกใบข้าวเพื่อผู้ที่สนใจในอนาคตต่อไป
โครงการชาใบข้าว สร้างอาชีพชุมชนอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายให้ชาวบ้านนาไผ่สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการทำนา และมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่คนในพื้นที่รู้สึกภาคภูมิใจ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
ชาใบข้าว สร้างอาชีพชุมชนอย่างยั่งยืน
วิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องอินทรีย์บ้านนาไผ่ จังหวัดแพร่
- โทร: 080-061-3332
- ผู้ประสานงาน: วัลย์ พิพัฒธาดา
เป้าประสงค์
1. ความรู้ ทักษะปลูกข้าวออร์แกนิคและปลูกชาใบข้าวติดตัวกลุ่มเป้าหมายไปตลอดชีวิต
2. กลุ่มเป้าหมายได้อาชีพจริง มีรายได้จริง อย่างมั่นคง
3. สร้างความภูมิใจในตัวเองให้เกิดแก่กลุ่มเป้าหมายทุกคน (จากการมีอาชีพ พึ่งตัวเองได้)
4. มีผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่น เป็นความภูมิใจของคนในท้องถิ่น
5. กลุ่มเป้าหมายมีสุขภาพดี จากการ ลด ละ เลิกสารเคมี
6. กลุ่มเป้าหมายมีความสุข ลดปัญหาชีวิตให้น้อยลง ชีวิตมั่นคงขึ้น สุขภาพกายและใจที่ดีอยู่เสมอ ลดโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้า
7. มีปฏิสัมพันธ์กันเพิ่มขึ้น เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนมากขึ้น
8. เมื่ออาชีพ และมีรายได้ จะลดโอกาสการเกิดปัญหาอาชญากรรมในชุมชน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส