Banner
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
ภูเก็ต

ตำบลกมาลา จังหวัดภูเก็ต ฟื้นฟูต้นทุนภูมิปัญญาเพื่อการท่องเที่ยว เตรียมรับมือการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่

ภูเก็ต จังหวัดยอดฮิตของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นจังหวัดที่มีความรุ่มรวยในด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับประเทศมหาศาล แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ตก็ยังมีพื้นที่ที่ยังขาดการเข้าถึงแหล่งทุนและการพัฒนาศักยภาพทั้งเชิงสังคมและเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ส่งผลให้ภูเก็ตในฐานะที่เป็นจังหวัดที่เน้นด้านการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

ตำบลกมลา จังหวัดภูเก็ต คือหนึ่งในตำบลที่มีประสบปัญหาดังกล่าว ด้วยชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม การประมงพื้นบ้าน และหารายได้จากแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่จากการได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะที่เป็นสถาบันทางวิชาการมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาด้านต่างๆ จึงจัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีใหม่ ตำบลกมลา จังหวัดภูเก็ต” โดยวิธีการทำงานจะเริ่มจากการหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างชุมชนตำบลกมลาและหน่วยพัฒนาอาชีพฯ ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า ชุมชนต้องการพัฒนาด้านการเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อมุ่งเสริมสร้างความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจฐานราก โดยจะต้องมีการฝึกฝนอบรมคนในชุมชนให้สามารถประกอบอาชีพและพัฒนาทักษะอาชีพของตนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมและแก้ปัญหาดังกล่าวแบบวิถีใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19

โครงการฯ จึงได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้ามาทั้งหมด 60 คน จาก 3 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านบางหวาน บ้านนอกเล และ บ้านนาคา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายนี้มีทักษะอาชีพทางการท่องเที่ยวและการเกษตรอยู่แล้วในระดับหนึ่ง และได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนากลุ่มเป้าหมายเอาไว้ว่าหลังจากที่จบหลักสูรไปแล้วจะต้องสามารถนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ และประกอบอาชีพที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมให้พื้นที่ของชุมชนกลายเป็นแหล่งการสร้างนวัตกรรมเรียนรู้แบบวิถีใหม่

ก้าวแรกที่ทางโครงการฯ เริ่มดำเนินการคือ สร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในชุมชน ซึ่งทางโครงการฯ ได้มีความร่วมมือกับภาคีภาคส่วนต่างๆ ทั้งเอกชนและรัฐ เช่น มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต กรมพัฒนาเกษตรจังหวัดภูเก็ต กรมการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต กรมประมงจังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนตำบลกมลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจโรงแรมและสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว และโรงเรียนประชานุเคราะห์นุสรณ์

หลังจากนั้นจึงมีการจัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะทางด้านการบริหารจัดการเชิงรายได้ ความรู้ในเรื่องช่องทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ชุมชนทั้งสามชุมชนสามารถแข่งขันกับชุมชนอื่นๆ ได้ และยกระดับสินค้าในชุมชนให้เป็นที่ต้องการและรู้จักในระดับจังหวัด ประเทศ และนานาชาติ รวมไปถึงการต่อยอดสินค้าเพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ ในอนาคต

นอกจากนั้นแล้ว โครงการฯ ยังได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประกอบใช้และผสานร่วมในหลักสูตรต่างๆ อีกด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว ความคาดหวังของโครงการฯ และกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เพียงแค่การเอาตัวรอดและอาศัยอยู่ร่วมกับโควิด-19 เท่านั้น แต่ต้องการดึงศักยภาพของชุมชนและต้นทุนทางวัฒนธรรมและเกษตรกรรมในพื้นที่ออกมาประยุกต์ใช้และก่อเกิดประโยชน์สูงสุด พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เพื่อรองรับการจัดการท่องเที่ยววิถีใหม่ที่เกิดขึ้นกับเราทุกคนแล้วอย่างไม่รู้ตัว 

 

ชุมชนต้องการพัฒนาด้านการเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อมุ่งเสริมสร้างความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจฐานราก

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีใหม่ ตำบลกมลา จังหวัดภูเก็ต

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

  • โทร: 0945959451
  • ผู้ประสานงาน: นายอภิรมย์ พรหมจรรยา

เป้าประสงค์

1.สร้างความเป็นอัตลักษณ์และลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับบรรยากาศ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ที่มีความเป็นอัตลักษณ์
2.สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมกับผู้ให้บริการและชาวบ้านในพื้นที่ ในการได้รับประสบการณ์หรือการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ การเรียนรู้โดยการทดลองหรือฝึกปฏิบัติกับชาวบ้านในพื้นที่ เช่น การทำอาหารหรือขนมพื้นถิ่น การทำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และศิลปะการแสดงต่างๆ เป็นต้น
3.เกิดกิจกรรม/การบริการที่มีความสร้างสรรค์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส