Banner
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชผักผสมผสานผลิตอาหารปลอดภัยบ้านบ่อทอง จังหวัดมหาสารคาม
มหาสารคาม

กลุ่มวิสาหกิจกลุ่มปลูกพืชผักฯ บ้านบ่อทอง ร่วมมือร่วมใจพัฒนาเทคนิคการผลิตพันธุกรรมพืชผัก สู่การสร้างรายได้ สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยตนเอง

อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนไทยในหลาย ๆ ภูมิภาค โดยเฉพาะในบริเวณภาคอีสาน เช่นเดียวกับชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อทอง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักปลูกข้าว ไร่อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกเหนือจากนั้นแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอีกด้วย จากที่กล่าวมา ดูเหมือนว่าเกษตรกรในบ้านบ่อทองจะมีต้นทุนเดิมของชุมชนค่อยเกื้อหนุน แต่ในบริบทแห่งความเป็นจริง ชาวบ้านกลับขาดทักษะในการทำเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพ สืบเนื่องจากค่าใช้จ่ายสารเคมีทางเกษตร ส่งผลให้ขาวบ้านส่วนมากมีรายได้ไม่มั่นคง และหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นนอกพื้นที่

จากเหตุผลดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2557 ชุมชนจึงได้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มปลูกพืชผักผสมผสานผลิตอาหารปลอดภัยขึ้น โดยมีสมาชิกทั้งหมด 96 ครอบครัว มีกิจกรรมเน้นการรวมกลุ่มเพื่อลดรายจ่ายต้นทุนการผลิตและรวมกลุ่มขายผลผลิต จนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชุมชน คือเกิดการร่วมมือระหว่างชุมชนในการลดการใช้สารเคมี มีแนวทางเสริมสร้างฐานการผลิตอาหารในครัวเรือน (สวนหลังบ้าน) เกิดการจัดการพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นแหล่งอาหารชุมชน (แปลงรวม) และสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนอาหารปลอดภัยในชุมชน ทุกวันวันจันทร์ และศุกร์ 

อย่างไรก็ดี แม้ชุมชนจะมีศักยภาพและความสามัคคี แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับทุกคน กลุ่มวิสาหกิจฯ จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาเทคนิคการผลิตพันธุกรรมพืชผักเพื่อสร้างรายได้  กลุ่มวิสาหกิจปลูกพืชผักผสมผสานอาหารปลอดภัยบ้านบ่อทอง ตำบลเลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม” ขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยพัฒนาทักษะสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก โดยได้มีการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจซึ่งเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเข้ามาฝึกฝนอบรมจำนวน 57 คน ประกอบไปด้วยแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

หลักสูตรการอบรมของโครงการครอบคลุมเรื่องเทคนิคการเก็บพันธุ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ การขยายพันธ์พืชด้วยกิ่งพันธุ์ ติดตา เสียบยอด ตอนกิ่ง การทำสารทดแทนสารเคมี การทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ดินปลูก หรือ ปุ๋ยใบไม้ เป็นต้น ตลอดจนถึงกระบวนการผลิตในระบบอินทรีย์ การเพิ่มช่องทางการการขาย รูปแบบการขาย การพัฒนาผลผลิตที่หลากหลาย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตผลอย่างครบวงจร 

โครงการพัฒนาเทคนิคฯ ไม่เพียงแต่จะมอบความรู้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ ยังได้เชื่อมโยงเครือข่ายตลาดระหว่างผู้ผลิตและค้ากล้าไม้ในระดับอำเภอและจังหวัด ให้เกิดคู่ค้าและคำสั่งซื้อ พร้อมทั้งส่งเสริมทำแผนการตลาดร่วมกัน เพื่อกระตุ้นการผลิตและจัดการตลาดสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนไปถึงการจัดทำมหกรรมเปิดตลาดชุมชนในระดับตำบล อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืชผักท้องถิ่นในงานบุญประเพณีของชุมชนด้วย

โครงการนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของชุมชนในการสร้างและขยายพื้นที่เครือข่ายการผลิตอาหารปลอดภัยทั้งในระดับตำบล และอำเภอ และผู้สนใจทั่วไปและยกระดับพื้นที่แหล่งเรียนรู้ และหากโครงการฯ ดำเนินการจนสำเร็จลุล่วงตามเป้าประสงค์ได้อย่างแท้จริง กล่าวคือชาวบ้านมีความรู้ในการเก็บพันธุ์และสามารถต่อยอดเพิ่มมูลล่าของผลผลิตทางการเกษตรได้ด้วยตนเอง สู่การสร้างงานสร้างอาชีพได้อย่างถาวร กลุ่มเป้าหมายก็จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนอื่น และนำไปสู่การลดรายจ่าย สร้างรายได้ได้อย่างเสมอภาคและยั่งยืนต่อไป

 

แม้ชุมชนจะมีศักยภาพและความสามัคคี แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับทุกคน กลุ่มวิสาหกิจฯ จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาเทคนิคการผลิตพันธุกรรมพืชผักเพื่อสร้างรายได้ ขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยพัฒนาทักษะสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาเทคนิคการผลิตพันธุกรรมพืชผักเพื่อสร้างรายได้ กลุ่มวิสาหกิจปลูกพืชผักผสมผสานอาหารปลอดภัยบ้านบ่อทอง ตำบลเลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชผักผสมผสานผลิตอาหารปลอดภัยบ้านบ่อทอง จังหวัดมหาสารคาม

  • โทร: 0862254737
  • ผู้ประสานงาน: นายทองพูล บุญแสน

เป้าประสงค์

1.เกิดการสร้างและขยายโอกาสเกิดความเสมอภาคในการเรียนรู้ของเกษตรกรและผู้ด้อยโอกาสมีทักษะการผลิตพันธุกรรมพืชผักคุณภาพ
2. เกิดการรวมกลุ่มหน่วยผลิต  รวบรวบ  ปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านที่หลากหลายลดรายจ่ายและต้นทุนการผลิตของเกษตรกรตำบลเลิงแฝก  อำเภอกุดรัง  จังหวัดมหาสารคาม
3. เกิดช่องทางการสร้างงาน  สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ด้อยโอกาสจากพันธุกรรมพืชผัก ตำบลเลิงแฝก  อำเภอกุดรัง  จังหวัดมหาสารคาม

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส