Banner
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรธรรมชาติ ตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน
ลำพูน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดลำพูน กับการยกระดับชุมชนตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน สู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์บนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

คนในชุมชนตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา และทำสวนลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด โดยพบว่าในส่วนของภาคการเกษตรนี้ มีการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีซึ่งเป็นอันตราย และมีการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หน้าดินเสื่อมโทรม และเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายของระบบนิเวศในท้องถิ่น

นอกจากอาชีพด้านเกษตรกรรมแล้ว คนในชุมชนตำบลยังมีทักษะด้านงานหัตถกรรมต่างๆ เช่น การทำเครื่องจักสาน การเย็บหมวก แต่ไม่สามารถจำหน่ายเองได้ เพราะขาดทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการ ต้องส่งให้พ่อค้าคนกลางเป็นฝ่ายจัดจำหน่าย ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างต่อรายได้ที่คนในชุมชนควรจะได้รับ 

จากการลงพื้นที่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรธรรมชาติตำบลป่าสั พบว่า คนในชุมชนตำบลป่าสัก แม้ว่าจะยังมีปัญหาด้านการทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว และปัญหาด้านทักษะการเป็นผู้ประกอบการ แต่พวกเขาก็มีศักยภาพที่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อต่อยอดในทักษะอาชีพต่างๆ ได้ อีกทั้งชุมชนยังตั้งอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมากที่สนใจบริโภคอาหารอินทรีย์ หรืออาหารเพื่อสุขภาพ 

ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงต้องการจัดทำ “โครงการยกระดับชุมชนเกษตรอินทรีย์บนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมตลอดห่วงโซ่ของชุมชน ตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน” ขึ้น เพื่อยกระดับให้ชุมชนเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน และเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานนอกระบบและผู้ด้อยโอกาสบนระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการจำนวน 70 คน

ทั้งนี้ จากกลุ่มเป้าหมายของโครงการจำนวน 70 คน คณะทำงานสามารถจำแนกให้ลึกลงไปอีกได้ถึง 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ซึ่งเป็นกลุ่มต้นน้ำ
  2. กลุ่มพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและงานหัตถกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มกลางน้ำ
  3. กลุ่มตลาด ซึ่งเป็นกลุ่มปลายน้ำ 

โดยทั้งสามกลุ่มนี้จะทำงานเชื่อมโยงและวางแผนการทำงานร่วมกัน บนฐานระบบข้อมูลออนไลน์ของกลุ่ม เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการพัฒนาอาชีพอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

กระบวนการดำเนินงานของโครงการจะเริ่มจากการจัดเวทีเพื่อระดมความคิดบนฐานภูมิปัญญาทรัพยากรและต้นทุนทางสังคมในชุมชนเสียก่อน ว่าควรเป็นไปในทิศทางใด จากนั้นจึงค่อยอบรมทักษะด้านต่างๆ ให้กลุ่มเป้าหมาย ตามกลุ่มหลักๆ ที่แบ่งไว้ทั้งหมดสามกลุ่มด้วยกัน 

โดยมีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรก ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกร, กลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่สองสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตที่ได้จากกรรมวิธีเกษตรอินทรีย์ ผ่านการอบรมด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีการผลิตชิ้นงานหัตถกรรมรูปแบบใหม่ๆ, ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มสุดท้าย สามารถบริหารจัดการด้านธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องค้าขายผ่านพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป

ซึ่งกระบวนการทั้งหมดข้างต้น ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นหลายหน่วยงาน อาทิ เทศบาลตำบลป่าสัก ที่สนับสนุนด้านข้อมูลและสถิติต่างๆ, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่สนับสนุนองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรม, โรงเรียนในเขตตำบลป่าสัก ที่ให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์, และศูนย์เกษตรพอเพียงของ ดร.เทียม โชควัฒนา ที่ช่วยเชื่อมโยงด้านการตลาด

หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จตามแผนที่คณะทำงานคาดการณ์ไว้ กลุ่มเป้าหมายจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน และสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรและงานหัตถกรรมได้ ตลอดไปจนถึงการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคทั้งในและนอกชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแน่นอน

 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงต้องการจัดทำ “โครงการยกระดับชุมชนเกษตรอินทรีย์บนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมตลอดห่วงโซ่ของชุมชน ตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน” ขึ้น เพื่อยกระดับให้ชุมชนเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การยกระดับชุมชนเกษตรอินทรีย์บนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมตลอดห่วงโซ่ของชุมชน ตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรธรรมชาติ ตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน

  • โทร: 089-2442282
  • ผู้ประสานงาน: นายอโนชา ปาระมีสัก

เป้าประสงค์

  1. เกิดกลุ่มพัฒนาอาชีพและเครือข่ายเกษตรกร 3 กลุ่ม
  2. เกิดการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และงานหัตถกรรม อย่างน้อย 20 ชนิด
  3. เกิดระบบการจัดการด้านการผลิตเกษตรอินทรีย์และงานหัตถกรรม โดยผ่านกระบวนการกลุ่มและเครือข่าย

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส