สิ่งที่ทำให้ผ้าไหมมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย คงเป็นความพิเศษของผ้าไหมที่ผ้าชนิดอื่นๆ ไม่มี เช่น คุณภาพของเนื้อผ้าที่มีความทนทาน ใส่สบาย และมีความเงางามเป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงผ้าไหมบางรูปแบบก็สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ ‘ผู้ผลิต’ ผ่านเทคนิคการทอและลวดลายอันหลากหลาย ซึ่งเมื่อพูดถึงผ้าไหมที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นผ้าไหมจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัดสุรินทร์คือหนึ่งในจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหม มีรายได้จากการซื้อขายผ้าไหมปีละไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท และมีกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ผลิตผ้าไหมอยู่ราว 60,000 ชีวิต ‘มูลนิธิขวัญชุมชน’ หน่วยงานพัฒนาอาชีพในจังหวัดสุรินทร์ ได้บอกเล่าเรื่องราวของผ้าไหมในแง่มุมของผู้ผลิตว่าอุตสาหกรรมผ้าไหมสร้างรายได้ให้กับแรงงานระดับชาวบ้านมากมาย ตั้งแต่กลุ่มคนเลี้ยงไหม ไปจนถึงการทอผ้าไหม ซึ่งอาชีพเหล่านี้เป็นดั่งอาชีพเสริมที่ช่วย ‘ประกันรายได้’ ให้กับชาวบ้านยามที่พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ ผ้าไหมจึงเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญที่ช่วยแบ่งเบาภาระในครัวเรือนของชาวบ้าน
แต่ถึงแม้รายได้จากผ้าไหมจะเข้ามาจุนเจือและสร้างอาชีพให้กับคนจำนวนหนึ่ง เหล่าแรงงานที่เกี่ยวข้องหรือตัวผู้ผลิตเองกลับยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอยู่อีกมาก สาเหตุก็มาจากการที่พวกขายจำต้องขายผลผลิตในราคาต่ำกว่าต้นทุน ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจของพวกเขาเอง รวมไปถึงการไม่มีอำนาจต่อรองราคา นอกจากนี้แรงงานบางส่วนที่อยู่ในกระบวนการผลิตก็ยังขาดทักษะฝีมืออีกมากซึ่งเป็นอุปสรรคในการก้าวไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพสูงขึ้น
มูลนิธิขวัญชุมชน จึงได้เลือกพื้นที่ชุมชนในตำบลจารพัต อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นชุมชนในการดำเนินโครงการ ‘เตรียมความพร้อมกลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสสู่ตลาดงานสร้างสรรค์’ ที่พวกเขาหวังว่าจะเป็น ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ ในการพัฒนาแรงงานนอกระบบที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการฝึกทักษะฝีมือ เช่น เด็กและเยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับฝีมือของแรงงานกลุ่มนี้ให้มีศักยภาพมากขึ้น
นอกจากการพัฒนาแรงงานแล้ว มูลนิธิขวัญชุมชน ยังมองไปถึงการเชื่อมโยงทุนชุมชน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดผ้าไหมให้ไปสู่ตลาดใหม่ๆ ตามยุคสมัยด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงการของมูลนิธิขวัญชุมชนได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าสู่ ‘โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส’ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสนับสนุนด้านแหล่งทุนให้พวกเขาสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น โดยจะมีการติดตามความคืบหน้ของโครงการจากกสศ. อยู่เสมอ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดงานสร้างสรรค์กลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสในชุมชน
มูลนิธิขวัญชุมชน
- โทร: 081-7905876 , มือถือสำนักงาน 081-9764700
- ผู้ประสานงาน: นางสุภาพร ทองสุข
เป้าประสงค์
- เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาตนเอง พร้อมกับความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการ ของแรงงานนอกระบบขาดโอกาสโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
- เชื่อมโยงและสนับสนุนให้กลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสเข้าถึงตลาดหรือกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพ
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้านในชุมชน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส