ดินแดนแถบตะวันออกเชียงเหนือเต็มไปด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณมากมาย ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ออกแบบมาอย่างชาญฉลาดสำหรับการดำรงชีพในพื้นที่ราบสูง
ภูมิปัญญาที่โด่งดังที่สุดอย่างหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ ‘เครื่องปั้นดินเผา’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของใช้ภายในบ้านชิ้นสำคัญ หากใครเคยได้ไปเยือนบ้านเรือนแถบอีสาน เชื่อแน่ว่าคุณจะได้พบเครื่องปั้นดินเผาอย่างน้อยหนึ่งชิ้นในทุกๆ บ้านที่คุณแวะหา
ด้วยความที่ภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาเป็นภูมิปัญญาร่วมของดินแดนอีสาน มันจึงเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในชุมชนและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป ทำให้แต่ละหมู่บ้าน แต่ละจังหวัดก็มีอัตลักษณ์และรูปแบบการสร้างเครื่องปั้นดินเผาไม่เหมือนกัน
วันนี้เราอยากชวนผู้อ่านไปรู้จักกับเครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้าน ‘เชียงเครือ’ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่พิเศษและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง จนได้ขึ้นชื่อว่ามีความแข็งแกร่งและทนทานกว่าที่อื่นๆ เพราะรูปแบบของเครื่องปั้นฯ ที่ชาวบ้านเชียงเครือทำกันจะเป็น ‘งานทำมือ’ ในทุกขั้นตอน โดยสืบสานเทคนิคการผลิตเต่อๆ กันมาตั้งแต่อดีตกาล
สิ่งที่ทำให้เครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือมีความพิเศษและแตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาในพื้นที่อื่นๆ ก็คือทรัพยากรอันล้ำค่าที่หาไม่ได้จากดินแดนไหนๆ อย่าง ‘ดินเหนียว’ ที่อยู่ตามไร่นาของชาวบ้านในชุมชน ดินเหนียวของชาวบ้านเชียงเครือเป็นดินชั้นดี มีความละเอียดและเหนียวเป็นพิเศษ เหนียวขนาดที่สามารถปั้นขึ้นรูปโอ่งดินได้โดยไม่ต้องใช้กรรมวิธีใดๆ เข้าช่วยแม้แต่น้อย ในขณะที่หากเป็นดินเหนียวทั่วไป การปั้นโอ่งดินจะต้องใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยมิฉะนั้นจะไม่สามารถขึ้นรูปได้
ในปัจจุบันพื้นที่ในตำบลเชียงเครือ มีกลุ่มชาวบ้านที่สืบสานภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้น้อยลงไปทุกที เทศบาลตำบลเชียงเครือ จังหวัดสกลนคร จึงได้เห็นความสำคัญที่จะต้องฟื้นฟูทักษะเหล่านี้ด้วยประโยชน์ทั้งด้านการสืบสานภูมิปัญญา และด้านการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ผ่าน ‘โครงการส่งเสริมอาชีพเครื่องปั้นดินเผาตำบลเชียงเครือ’
เป้าหมายของโครงการนี้ไม่ใช่แค่การฟื้นฟูศิลปะและภูมิปัญญาท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างอาชีพให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการด้วย โดยโครงการได้วางเป้าหมายสมาชิกในรุ่นแรกไว้ที่จำนวน 60 คน ซึ่งในจำนวนนี้จะคัดสรรมาจาก 17 หมู่บ้านใกล้เคียง และตลอดหลักสูตรของโครงการจะมีการฝึกอบรมทั้งการบรรยายและลงมือปฏิบัติจริง
การหันกลับมามองทรัพยากรใกล้ตัวจนเห็นความพิเศษที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ทำให้ชุมชนเชียงเครือได้พบลู่ทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพราะความเป็นเอกลักษณ์ที่มาควบคู่กับคุณภาพเป็นของที่ขายได้เสมอ โครงการส่งเสริมอาชีพเครื่องปั้นดินเผาตำบลเชียงเครือจึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้เราได้เห็นว่าภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตนั้น ยังสามารถนำมาใช้เพื่อดำรงชีพในยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างไม่เสื่อมคลาย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการส่งเสริมอาชีพเครื่องปั้นดินเผาตำบลเชียงเครือ
เทศบาลตำบลเชียงเครือ
- โทร: 064-4568434
- ผู้ประสานงาน: นางวีนัส ประสุนิงค์
เป้าประสงค์
- แรงงานและผู้ด้อยโอกาสทางทุนทรัพย์มีความรู้และทักษะที่สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ ร้อยละ 80
- สร้างอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่สนใจในการประกอบอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาโดยใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
- เกิดเครือข่ายที่ประกอบอาชีพการปั้นเครื่องปั้นดินเผาขึ้นในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส