Banner
ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า
เชียงใหม่

ศูนย์เรียนรู้โจ๊ะมาโลลือหล่าเปิดห้องเรียนการทำร้านค้าออนไลน์ เติมทักษะให้นักเรียนสามารถหารายได้เข้าสู่ชุมชน

โลกหมุนเร็ว ยุคสมัยเปลี่ยน ทำให้องค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพก็เปลี่ยนตามไปด้วย จากตัวเลขของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าทุกวันนี้คนไทยใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตเกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะใช้ไปกับการทำงาน โซเชียลมีเดียหรือหาความบันเทิงผ่านสื่อสตรีมมิ่ง

ปริมาณการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ที่กินเวลาเกือบครึ่งหนึ่งของวัน ทำให้พฤติกรรมหลายๆ อย่างในอดีตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป เช่น เราไม่ต้องนัดเจอเพื่อนเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันตัวเป็นๆ อีกแล้ว เราแทบไม่ต้องเดินทางไปร้านค้าเพื่อซื้อของ เพราะในอินเทอร์เน็ตมีแทบทุกอย่างที่เราต้องการ ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องดูดฝุ่น ไปยันอาหารสด

พฤติกรรมของคนเปลี่ยน ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตาม ทุกวันนี้เราเห็นร้านค้าออนไลน์เกิดใหม่ขึ้นมากมาย ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสในพื้นที่ออนไลน์และโซเชียลมีเดียนั้นยังมีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่อยู่ห่างไกลและไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเองทำให้ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ได้ ซึ่งนี่คืออุปสรรคที่ ‘ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า’ กำลังเผชิญอยู่

ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่าคือแหล่งเรียนรู้แห่งเดียวของชุมชนบ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาและความขาดแคลนในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านของเงินทุนในการดำเนินงาน ศูนย์การเรียนรู้จึงต้องพึ่งพาตัวเองในการจัดหางบประมาณมาเพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลเยาวชนในศูนย์ เช่น การจัดกิจกรรมผ่านโครงการสหกรณ์โรงเรียน โครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และโครงการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น ซึ่งทุกโครงการที่กล่าวมาจะมีนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ

อุปสรรคที่เกิดขึ้นคือโครงการเพื่อหารายได้เหล่านี้ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ไม่สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ ขาดช่องทางการขายในตลาดที่มีกำลังซื้อ การขาดชุดความรู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ การขาดชุดความรู้ในด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่าจึงได้ริเริ่มโครงการ ‘สร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ของศูนย์การเรียนชนเผ่า’ ที่เป็นการไปจับมือกับภาคีที่มีองค์ความรู้ต่างๆ เช่น กลุ่มข. ขวด  กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสื่อและการตลาดให้ Joa idee ให้มาถ่ายทอดประสบการณ์และทักษะเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้

กลุ่มเป้าหมายที่ศูนย์กำหนดไว้จึงเป็นกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมจำนวน 15 คน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาในโรงเรียนของรัฐ โดยดึงมาจากชุมชน 3 แห่ง คือศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ศูนย์การเรียนม่อนแสงดาว และศูนย์การเรียน มอวาคี นอกจากนี้โครงการยังเปิดรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 25 คน และผู้ว่างงานในชุมชนอีก 20 คน ให้สามารถสมัครเข้ามาอบรมได้ด้วย

หลักสูตรของโครงการจะเริ่มเรียนกันตั้งแต่การวิคราะห์กลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของชุมชน แนวทางการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ การสร้างแบรนด์และโลโก้ของธุรกิจ ไปจนการร่วมกันพัฒนาระบบร้านค้าออนไลน์ของชุมชนให้มีความแข็งแรงและประกอบการได้จริง

การเรียนรู้ผ่านโครงการสร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ของศูนย์การเรียนชนเผ่า จะช่วยให้นักเรียนเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการนำเสนอขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อนำรายได้กลับมาพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ และกระตุ้นให้เกิดอาชีพและการซื้อขายในชุมชนมากขึ้น

นอกจากนี้นักเรียนที่ผ่านหลักสูตรไปแล้ว ก็มีทักษะติดตัวที่สามารถนำไปต่อยอดองค์ความรู้นี้กับเรื่องอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับตัวเองในอนาคตได้ เรียกได้ว่าเป็นวิธีการพึ่งพาตัวเองที่เกิดประโยชน์ทั้งในระดับปัจเจกคือตัวนักเรียนเอง และระดับสังคมที่เป็นชุมชนด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

สร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ของศูนย์การเรียนชนเผ่า

ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า

  • โทร: 081-6483264
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวอรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์

เป้าประสงค์

  1. สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
  2. สร้างโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาอาชีพให้กับเยาวชนในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส