Banner
ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์ฝึกเยาวชนเขต 7 หยิบดนตรีสากลและศิลปะเข้ามาในหลักสูตร เพื่อฝึกทักษะอาชีพให้เยาวชนที่มีความสนใจเฉพาะ

ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 เชียงใหม่ ประสบความสำเร็จในการสร้างเยาวชนคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มผู้ประกอบการอย่างไม่มีอคติ และเยาวชนสามารถนำความรู้ความสามารถไปสู่การประกอบการได้จริง จากความสำเร็จดังกล่าว นำสู่การคิดค้นเพื่อขยายฐานวิชาชีพให้แก่เยาวชน โดยศึกษาบริบทของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีสถานประกอบการที่รองรับธุรกิจท่องเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยจุดเด่นในเรื่องนี้น่าจะสร้างฐานอาชีพได้อีกหลากหลาย อีกทั้ง ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต7 เชียงใหม่เอง ได้ทำสำรวจและพบว่า เยาวชนมีความสนใจในด้านศิลปะ ดนตรี และงานหัตถศิลป์ จึงเป็นที่มาของการสร้างทักษะในด้านนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามความต้องการของทั้งผู้เรียน สอดคล้องกับบริบทพื้นที่แล้ว ยังเป็นการใช้ศิลปบำบัดที่ช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์พร้อมในด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจให้กับเยาวขนคืนสู่สังคมได้

จากผลสรุปของบทสำรวจนี้ ทำให้ศูนย์ฝึกฯ มีความตั้งใจที่จะนำแผนการพัฒนาด้านดนตรีและศิลปะมาบรรจุอยู่ในหลักสูตรให้กับเยาวชนในศูนย์ ทว่าด้วยข้อจำกัดด้านบุคคลากรและองค์ความรู้ ทำให้ศูนย์ฝึกฯ ต้องหาแนวร่วมเป็นภาคีเครือข่ายที่สามารถช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่ริม และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ริม ภายใต้ชื่อโครงการ ‘สานเสียงผสานสานศิลป์สู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน’

ศูนย์ฝึกฯ ได้ทำการออกแบบแผนการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายทั้งหมด และได้วางกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนในศูนย์ที่มีความสนใจในศาสตร์ของดนตรีสากลและศิลปหัตถกรรม จำนวน 60 คน โดยแนวทางของโครงการจะทำการแบ่งรูปแบบของแผนการพัฒนาเป็น 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรดนตรีสากล และหลักสูตรศิลปหัตถกรรมสร้างรายได้

เยาวชนทั้ง 60 คนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกสอนจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด โดยฝั่งของดนตรีก็จะมีการเรียนการสอนจนเยาวชนสามารถตั้งวงดนตรีขึ้นมาเพื่อแสดงให้แก่เพื่อนๆ ในศูนย์ และเมื่อมีทักษะเก่งกล้ามากขึ้น ทางศูนย์ก็จะเปิดโอกาสให้วงสามารถออกไปทำการแสดงให้กับสาธารณะชนได้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์ฝึกฯ นอกจากนี้โครงการจะช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำ สำหรับเยาวชนที่สนใจเอาทักษะด้านดนตรีไปประกอบอาชีพภายหลังการปล่อยตัว

ในส่วนของกลุ่มศิลปหัตกรรมก็จะมีการฝึกสอนจนเยาวชนสามารถประดิษฐ์ชิ้นงานของตัวเองขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็น ผลงานศิลปะ ของที่ระลึก หรือของตกแต่งบ้าน โดยจะมีการส่งเอาชิ้นงานเหล่านี้ไปจัดแสดงและจัดจำหน่ายในร้านค้าสวัสดิการของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนต่อไป

ในช่วงสุดท้ายของโครงการจะมีการร่วมมือกับผู้ประกอบการและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดงาน ‘มหกรรมผลงานเด็กและเยาวชน’ ขึ้น โดยงานนี้จะเป็นเหมือนการแสดงฝีมือและผลงานของเด็กๆ ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการฝึกฝนอบรม ซึ่งในแง่หนึ่งมหกรรมนี้เป็นเหมือนการลงสนามจริงที่พวกเขาจะได้แสดงผลงานของตัวเองอย่างจริงจัง

การ ‘ออกนอกกรอบ’ ของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดรับฟังเสียงของเด็กๆ ในศูนย์อย่างแท้จริง ซึ่งผลลัพธ์ที่ผ่านมาก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากเยาวชนที่ผ่านการอบรมจากศูนย์ฯ ไปแล้ว มีทักษะความสามารถที่นำไปประกอบอาชีพได้จริง โดยได้รับการยอมรับจากเครือข่ายผู้ประกอบการเป็นอย่างดี นอกจากนี้การนำดนตรีและศิลปะเข้ามาฝึกฝนอบรมเด็กในศูนย์ ก็ย่อมจะช่วยเสริมแรงในการกล่อมเกลาเยาวชนให้มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี มีสมาธิ และมีสติมากขึ้นด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

สานเสียงผสานสานศิลป์สู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน

ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่

  • โทร: 085-8780099
  • ผู้ประสานงาน: นายอัครชัย อรุณเหลือง

เป้าประสงค์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส