Banner
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส
นราธิวาส

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส ติดอาวุธเทคโนโลยี 4.0 ให้กับแรงงานในชุมชน ผ่านการเรียนรู้แบบ ‘STEM Education’

ไม่นานมานี้คำว่า ‘เทคโนโลยี 4.0’ คือคำที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากโลกของเราได้ก้าวสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีอย่างเต็มตัวไปแล้ว ประเทศไทยนำโดยรัฐบาลจึงได้มีแนวทางนโยบายต่างๆ ที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านการแพทย์ และ การศึกษา

หน่วยงานต่างๆ ที่ขึ้นกับภาครัฐ จึงได้รับแนวทางการทำงานโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับองค์กรให้ทันสมัย เช่นเดียวกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีบทบาทหน้าที่ในการให้บริการการเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้า วิจัยพัฒนา และจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม โดยเปิดบริการให้แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ แห่งนี้ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการจัดโครงการต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ เช่น โครงการ Sci-Film โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครู กศน. ระบบทางไกล และโครงการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งแต่ละโครงการได้มีการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหลายปีและมีผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ

ล่าสุดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาสกำลังจะจัดทำโครงการ STEM Education ประยุกต์ทักษะแรงงาน 4.0 ขึ้น เนื่องจากศูนย์ฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเอารูปแบบการเรียนรู้นี้มาประยุกต์ใช้ในงานพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0 โดยความหมายของ STEM นั้น แท้จริงมาจากคำย่อจากภาษาอังกฤษของศาสตร์ 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์=Science เทคโนโลยยี=Technology วิศวกรรมศาสตร์=Engineering และคณิตศาสตร์=Mathematics โดยศาสตร์ทั้งสี่นี้มีความเชื่อมโยงที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานได้เป็นอย่างดี

โครงการ STEM Education ประยุกต์ทักษะแรงงาน 4.0 นี้จะทำการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากพื้นที่ 2 หมู่บ้าน คือ ชุมชนโคกเคียน และชุมชนกะลุวอเหนือ เพื่อเข้ามาอบรมในโครงการโดยจะเน้นไปที่กลุ่มของคนด้อยโอกาสในชุมชน  เช่น  แรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน รวมทั้งสิ้นจำนวน 90 คน

พื้นที่ทั้ง 2 แห่งที่โครงการได้ลงไปดำเนินการ มีปัญหาในชุมชนที่แตกต่างกันไป เช่น ชุมชนโคกเคียน จะมีกลุ่มประชากรที่เป็นเจ้าของกิจกรรมต่างๆ ซึ่งขาดทักษะการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ และช่องทางการขาย ชุมชนกะลุวอเหนือ  มีประชากรส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพทำเกษตรกร  ซึ่งทำให้ชุมชนขาดการพัฒนาอาชีพรูปแบบอื่นๆด้วยปัญหาที่แตกต่างกันทำให้โครงการจะต้องออกแบบวิธีการเรียนรู้โดยใช้ต้นทุนและปัญหาของแต่ละชุมชนเป็นฐาน แต่จะยังคงใช้กระบวนการของ STEAM Education เข้ามาฝึกทักษะอาชีพและเพิ่มทักษะบริหารจัดการ จะเน้นพัฒนา Multi Skill ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส เช่น  ทักษะการใช้ภาษาไทยและการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้กับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยแต่ละขั้นตอนจะมีการเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยฝึกอบรม โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาสนำทักษะกระบวนการ Brain based Learning : BBL เป็นต้นแบบและวิธีการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่นำไปสู่การส่งเสริมการมีงานทำของกลุ่มเป้าหมายที่ยั่งยืน โดยหลังจากจบการฝึกฝนอบรมแล้ว โครงการจะทำการติดตามผลต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อคอยให้คำแนะนำและสรุปผลการอบรมด้วยโครงการ STEAM Education นี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญในการยกระดับแรงงานท้องถิ่นให้เท่าทันกับความเป็นไปของโลก 4.0 ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาชุมชนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเชื่อได้ว่ากลุ่มสมาชิกที่ได้ผ่านการฝึกอบรมจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาสไปแล้ว จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการติดอาวุธทางความคิดและทักษะในครั้งนี้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการ STEM Education ประยุกต์ทักษะแรงงาน 4.0

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส

  • โทร: 086-3164425
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวสุจารี เวียงสมุทร

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส